svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

คลังกับภารกิจตลาดทุน เส้นทางสู่ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่

เศรษฐกิจยุคใหม่ ในวันที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว การลงทุนมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ได้มีแค่เงินฝากประจำ หุ้นกู้ หุ้นสามัญและพันธบัตร เท่านั้น แต่ยังมีสกุลดิจิทัล (Central Bank Digital Currency) ซึ่งมีมากกว่า 20,000 สกุลทั้งโลก หมุนเวียนกันไป 

ถือเป็นภารกิจที่ท้าทายของคลัง ที่ต้องดูความต้องการความสนใจที่ต่างกันของผู้ลงทุนในแต่ละเจน ซึ่งผู้ลงทุนในแต่ละช่วงวัยมีความสนใจ ความต้องการ และการแบกรับความเสี่ยงได้สูง ต่ำ ต่างกัน ซ้ำสังคมไทยยังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นี่ถือเป็นความท้าทายของคลังอย่างมากในการจูงใจผู้ลงทุน

 

ตลาดทุน คืออะไร

ตลาดทุน คือ แหล่งระดมเงินออมระยะยาวและให้สินเชื่อระยะยาวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ได้แก่ เงินฝากประจำ หุ้นกู้ หุ้นสามัญและพันธบัตรทั้งของรัฐบาลและเอกชน แบ่งเป็นตลาดสินเชื่อทั่วไปและตลาดหลักทรัพย์ ตลาดสินเชื่อทั่วไปประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุน ส่วนตลาดหลักทรัพย์แบ่งเป็นตลาดแรกและตลาดรอง 

 

ตลาดแรก คือ ตลาดที่ซื้อขายหลักทรัพย์ออกใหม่ เป็นการซื้อขายหลักทรัพย์ที่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ได้รับเงินทุนจากผู้ซื้อหลักทรัพย์ใหม่ในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดแรกเป็นการลงทุนที่แท้จริง 

 

ส่วนตลาดรอง คือ ตลาดที่ซื้อขายหลักทรัพย์เก่า การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดรองมิใช่การลงทุนแท้จริง เพราะบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ไม่ได้รับเงินทุนจากการซื้อขายหลักทรัพย์นั้น การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดรองเป็นเพียงการเปลี่ยนมือระหว่างผู้ถือหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ตลาดรองก็มีบทบาทเกื้อกูลต่อตลาดแรก เพราะจะทำให้ผู้ซื้อหลักทรัพย์ในตลาดแรกมีความมั่นใจว่าจะสามารถแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์เป็นเงินสดได้เมื่อต้องการ

ทำไม “เศรษฐกิจสมัยใหม่” ต้องพึ่งพาตลาดทุนมากขึ้น

อันที่จริงตลาดทุนมีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  การเงิน เป็นกำลังสำคัญของภาคธุรกิจและภาครัฐ ที่จำเป็นต้องหาแหล่งระดมทุนในระยะยาวเพื่อขับเคลื่อนยกระดับมาตรฐานทางธุรกิจ 

ตลาดทุนต้องจัดสรรทุนอย่างมีประสิทธิภาพ นักลงทุนสามารถนำเงินออมไปลงทุนในโครงการที่มีผลตอบแทนสูง ซึ่งช่วยให้ธุรกิจสามารถระดมทุนเพื่อโครงการใหม่ การวิจัย และการขยายธุรกิจ ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยการนำทรัพยากรไปสู่กิจการที่มีผลตอบแทนสูงที่สุด


ตลาดทุนยังช่วยเพิ่มสภาพคล่องและความมีประสิทธิภาพของตลาดการเงินโดยรวม ทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการออมและการวางแผนทางการเงินระยะยาว โดยจะระดมทุนผ่านตลาดกลาง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2517 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะจัดให้มีแหล่งกลางสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์และการระดมเงินทุน ในประเทศ 

  • ภาคธุรกิจ จะพึ่งผิงตลาดทุน ในระยะยาว ลักษณะหุ้นในตลาดหลักทรัพย์  เช่น หุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวม ตราสารอนุพันธ์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (“PVD”) เป็นต้น 
  • ภาครัฐบาล สามารถระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (State-Owned Enterprise Bonds) เป็นต้น 

ก.ล.ต. วางยุทธศาสตร์  ปี 2568 – 2570 โดยมีเป้าหมาย 5 ด้าน ได้แก่ 

  1. ตลาดทุนได้รับความเชื่อมั่น (Trust & Confidence)
  2. ตลาดทุนเป็นแรงขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Technology)
  3. ตลาดทุนเป็นกลไกสู่ความยั่งยืน (Sustainable Capital Market)
  4. ผู้ลงทุนมีสุขภาพทางการเงินที่ดี (Long-term Investment)
  5. ศักยภาพในการดำเนินการตามพันธกิจ (SEC Excellence)

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความสำคัญของตลาดทุนไว้ โดยระบุว่า … “ตลาดทุนจะต้องเป็นกลไกสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน เศรษฐกิจและตลาดทุนจะทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาครัฐจะต้องเป็นผู้นำทางในการเสริมสร้างศักยภาพและโอกาสการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ โดยในส่วนของตลาดทุน สิ่งที่ภาครัฐเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญคือ Trust & Confidence โดยต้องมีกระบวนการการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น ลงโทษผู้กระทำผิดได้รวดเร็ว และจะเร่งขั้นตอนการเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มอํานาจการสอบสวนของ ก.ล.ต. 

 

โดยเฉพาะกรณีที่มีผลกระทบสูง (High impact) รวมถึงการยกระดับในเรื่องต่างๆ ทั้งการเปิดเผยข้อมูลและการกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน นอกจากนี้ ในด้านสินทรัพย์ดิจิทัล อยากจะเห็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมไปพร้อมกับการคุ้มครองผู้ลงทุน และเห็นว่าการส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญ โดยทางภาครัฐและภาคตลาดทุนจะร่วมมือกันพัฒนาตลาดทุน เพื่อนำไปสู่ตลาดทุนที่เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน” 

 

 

เมื่อยังไม่มีเงินออม แล้วจะเอาเงินจากที่ไหนไปลงทุน

 

เมื่อไลฟ์สไตล์ของคน Gen Y สิ่งถือเป็นวัยที่ขับเคลื่อนประเทศไทยในปัจจุบันเปลี่ยนไป ไม่ให้ความสำคัญกับการเก็บเงินหรือลงทุนให้ผลงอกเงยโดยต้องรอคอยนานๆ และที่สำคัญคือการไม่เหลือเงินเก็บ มีเงินใช้เพียงเดือนชนเดือน ค่าของชีพสูงรายรับไม่เพียงพอรายจ่าย แล้วจะเอาเงินจากที่ไหนไปลงทุน ซึ่งต่างจาก Gen Baby Boom และ Gen X 

Gen Y เน้นการใช้ชีวิตแบบยืดหยุ่น เน้นความสุขระหว่างทางมากกว่าคนสุขในบั้นปลายชีวิต เน้นใช้ชีวิตใช้เงินเพื่อซื้อความสุข สิ่งของ กิน เที่ยวตามไลฟ์สไตล์มากกว่าการออม 

 

ข้อมูลจาก Krungsri Research ระบุว่า คนไทยเลือกที่จะใช้หนี้ก่อน ลงทุนทีหลัง คนไทยเผชิญปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง แต่ผลสำรวจพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามทุกกลุ่ม (อายุ เพศ การศึกษา รายได้) ให้ความสำคัญกับการใช้หนี้มากที่สุด โดยหลังจากได้รับรายได้ ร้อยละ 38 เลือกใช้หนี้เป็นลำดับแรก ขณะที่ร้อยละ 24 เลือกเก็บออมเป็นลำดับแรก โดยมีเพียงร้อยละ 9 ที่มักกันเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนก่อนเป็นลำดับแรก

 

ด้านพฤติกรรมการเก็บเงินและลงทุน พบว่า ผู้ตอบฯ ร้อยละ 60 มีวินัยทางการเงิน กล่าวคือ เก็บเงิน-ลงทุนเป็นประจำทุกเดือน ในขณะที่ร้อยละ 31 ทำเป็นครั้งคราวหรือเมื่อได้รับเงินก้อน และร้อยละ 9 ไม่ได้เก็บเงิน ซึ่งวินัยทางการเงินดังกล่าวแปรผันตรงกับการศึกษาและรายได้ 

ผู้ตอบฯ ที่มีระดับรายได้ต่อเดือนเกิน 70,000 บาท จะเก็บเงินและลงทุนเกินกว่าร้อยละ 30 ของรายได้ ส่วนกลุ่มที่รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน และกลุ่มที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ยังไม่สามารถเก็บออมและลงทุนได้อย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ

 

ผลการศึกษา “รูปแบบการออม” ตาม Gen 

 

โดยกลุ่ม Baby Boomers นิยมสลากออมสิน, สลาก ธ.ก.ส. และพันธบัตรมากกว่ากลุ่มอายุอื่นอย่างชัดเจน ในขณะที่ Gen Y และ Gen Z มีแนวโน้มที่จะเก็บออมเป็นเงินสดมากกว่ากลุ่มอื่นๆ นอกจากนี้ Gen Z ยังนิยมออมและลงทุนในทองคำมากกว่ากลุ่มอายุอื่นเช่นกัน

 

สินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น อยู่ใน Top 5 ของกลุ่ม Baby Boomers และ Gen Z เท่านั้น ขณะที่กลุ่มวัยทำงานตอนกลางอย่าง Gen X และ Gen Y ไม่นิยมมากนัก 

 

จะเห็นได้ว่าความท้าทายของคลัง  และ ก.ล.ต. คือการสร้างความเชื่อมั่น สร้างแรงจูงใจให้กับผู้ลงทุน ทั้งรายใหม่และรายเก่า ตลอดจนทำลายกำแพงค่านิยมที่ไม่ส่งเสริมการออมและการลงทุน สำคัญควรเพิ่มรายได้ให้พอดีกับค่าของชีพ ลดความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นจริง 

 

คนไทยเอง ควรหันมาให้ความสำคัญการลงทุน การลงทุนเพื่อวัยเกษียณ เพราะการลงทุนถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ ที่คนไทยทุกคนสามารถลงมือทำได้ แทนที่จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล หรือคนบางกลุ่มคน

 

 

อ้างอิง 

ธนาคารแห่งประเทศไทย, มปพ. ผลสำรวจทักษะการเงินของคนไทย 2565. https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/bot-magazine/Phrasiam-67-2/2567-info-financial-skill.html   

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. สถิติด้านความยากจนและการกระจายรายได้

สำนักงานสถิติแห่งชาติ.สรุปผลที่สำคัญ การสำรวจติดตามระดับความรู้ และการเข้าถึงบริการทางการเงินของครัวเรือน พ.ศ. 2565 


*หมายเหตุ ดัดแปลงจากบทสัมภาษณ์ ดร. ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร เนื่องในวันการออมแห่งชาติ 31 ตุลาคม 2567 คลิปวิดีโอสามารถรับชมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=hP9-xiVEQTw&t=529s

 

https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/Thai-Saving-2025