10 กรกฎาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามความพร้อมมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 พร้อมด้วย นายจักรพงษ์ แสงมณี รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีการลงพื้นที่ตรวจสอบแนวกำแพงป้องกันน้ำท่วม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณวัดไชยวัฒนาราม และร่วมรับฟังการเตรียมความพร้อมของแผนเผชิญเหตุ ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน
นอกจากนี้ยังได้เป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้า และสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชน ตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ณ ห้องประชุมแพรวา ชั้น 2 สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) อ.บางไทร โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ 24 หน่วยงาน นักวิชาการ คณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม และเครือข่ายภาคประชาชน เข้าร่วม รวมกว่า 200 คน
นายภูมิธรรม ระบุว่า สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ติดตามประเมินสภาพอากาศปีนี้ พบว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะ "ลานีญา" ส่งผลให้มีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยได้กำหนด 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว
โดยเน้นการเตรียมความพร้อมของบุคลากร และเครื่องจักรเครื่องมือต่าง ๆ รวมถึงการประสานความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ในการดำเนินการติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำ และประสานการช่วยเหลือประชาชน เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย รวมทั้งสามารถเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างทันท่วงที
การลงพื้นที่ติดตามการฝึกซ้อมแผนการรับมืออุทกภัยในครั้งนี้ ได้กำชับให้ สทนช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางบูรณาการ ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัยในปีนี้อย่างมีเอกภาพ นอกจากนี้รัฐบาลได้เตรียมแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานในพื้นที่ภาคกลาง ดำเนินการติดตามสถานการณ์น้ำ และแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างใกล้ชิด และให้ทุกหน่วยงานเดินหน้าประชาสัมพันธ์ สถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เพื่อใช้ในการวางแผนการเตรียมการรับมือล่วงหน้า
สำหรับช่วงวันที่ 16-17 กรกฎาคมนี้ ตามที่ได้มีการคาดการณ์ว่า อาจมีปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออก จึงได้มอบหมายให้ สทนช. นำรูปแบบการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ ไปเตรียมการตั้งศูนย์ส่วนหน้า เพื่อรับมือสถานการณ์ ณ จังหวัดระยอง หรือพื้นที่ใกล้เคียง ในส่วนโครงการที่ได้รับงบประมาณในช่วงที่ผ่านมา ให้เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ทั้งนี้ ผลการดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน 2567 ในการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัย สทนช. ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามวิเคราะห์ และกำหนดพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่ม และพื้นที่ที่ฝนทิ้งช่วงอย่างต่อเนื่อง จนสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลหลัก สำหรับดำเนินการบริหารจัดการปัญหาอุทกภัยตามมาตรการอื่น ๆ ในส่วนมาตรการที่ได้เตรียมการล่วงหน้า รัฐบาลได้เร่งรัดดำเนินการตั้งแต่ช่วงก่อนฤดูฝน และยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงสิ้นฤดูฝน เช่น การทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ การตรวจสอบพร้อมติดตามความมั่นคงปลอดภัยคันกั้นน้ำในพื้นที่เสี่ยง และผลการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ของทางน้ำอย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ให้ความสำคัญ กับการเตรียมรับมือในช่วงฤดูแล้ง จึงได้มีมาตรการเร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภท สำหรับใช้เป็นแหล่งน้ำสำรอง ไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า ส่วนการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายภาคประชาชน และการเผยแพร่ข้อมูลประชาสัมพันธ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้เกี่ยวกับข้อมูลสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้กำชับให้ สทนช. ติดตามประเมินผลและรายงานให้รัฐบาลรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ฤดูฝนปีนี้เป็นปีที่สามารถลดผลกระทบกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุว่า การซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ และการจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย ตลอดจนสร้างความเข้มแข็ง เครือข่ายภาคประชาชนในครั้งนี้ เป็นไปตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ในมาตรการที่ 6 การซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย และฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ
มาตรการที่ 8 การสร้างความเข้มเข็งเครือข่ายภาคประชาชน ในการให้ข้อมูลสถานการณ์ และมาตรการที่ 9 การสร้างการรับรู้ ศูนย์บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์
ซึ่ง สทนช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 24 หน่วยงาน นักวิชาการ คณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม และเครือข่ายภาคประชาชน จัดประชุมเชิงปฏิบัติการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าและสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชน ตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 โดยในปีนี้ ได้เชิญนิคมอุตสาหกรรม ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 5 แห่ง คือ 1.นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน 2.นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) 3.นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง (สหรัตนนคร) 4.นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และ 5.นิคมอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์วังน้อย เข้าร่วมด้วย
เลขาธิการ ย้ำว่า พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะใน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และโรงงานอุตสาหกรรมรวมกันมากกว่า 2,600 โรงงาน รวมถึงยังเป็นพื้นที่การเกษตร ในเขตชลประทานกว่า 9.6 ล้านไร่ หากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม จะส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก
ดังนั้นการวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะต้องวางแผนให้ครอบคลุม และรัดกุมในทุก ๆ ด้าน ซึ่งการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ก่อนที่จะเผชิญกับสถานการณ์จริง จึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง โดยมีเป้าหมายในการซักซ้อม การปฏิบัติงานให้สามารถติดตาม ประเมินผลการบริหารจัดการและคาดการณ์สถานการณ์น้ำ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถแจ้งเตือนได้อย่างตรงจุด และให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบ ได้อย่างมีเอกภาพและทันต่อสถานการณ์