อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยหลายคนอาจยังไม่ทราบว่า หลังจากออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว ผู้ป่วยก็ควรกลับมาเพื่อเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจต่อ หรือที่เรียกว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจระยะผู้ป่วยนอก (ระยะที่ 2) บางคนอาจเข้าใจว่าการฟื้นฟูหัวใจ คือการออกกำลังกายทั่วไปที่สามารถทำด้วยตัวเองได้ แต่จริง ๆ แล้วมีรายละเอียดสำคัญมากกว่านั้น
พญ. ศิรประภา ลิ้มประเสริฐ แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลเมดพาร์ค อธิบายว่า ปัจจุบันมีความเชื่อในผู้ป่วยโรคหัวใจในประเทศไทย ว่าคนเป็นโรคหัวใจ ไม่ควรออกกำลังกายหนัก ไม่ควรขยับร่างกายเยอะ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด และน่ากังวลมาก เพราะในความเป็นจริงแล้ว การออกกำลังกายถือเป็นสิ่งจำเป็นถ้าหากต้องการให้หัวใจกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง แต่การไม่ขยับร่างกายเลย หรือการกลัวที่จะต้องออกกำลังกายเพราะกังวลว่าโรคจะกลับมาเป็นซ้ำ จะยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการทำให้สุขภาพของหัวใจกลับไปแย่ลงได้
การออกกำลังกายไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวหรือเป็นอันตรายสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ แต่สิ่งที่เป็นอันตรายจริง ๆ คือการไม่รู้ว่าขีดจำกัดในการออกกำลังกาย รวมถึงวิธีการดูแลตัวเองที่เหมาะสมคืออะไร ซึ่งการกลับมาเข้าโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจในระยะที่ 2 ต่อที่โรงพยาบาล จะช่วยตอบโจทย์ในเรื่องเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
ความแตกต่างของการออกกำลังกายเองที่บ้าน กับการมาเข้าโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจระยะที่ 2 ที่โรงพยาบาลนั้นมีอยู่หลากหลายประการ เป้าหมายที่แท้จริงของโปรแกรมนี้ ไม่ได้เน้นแค่การช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วย แต่คือการวางแผนป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรคหัวใจในระยะยาว และให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับคนทั่วไปให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ที่สำคัญ การเข้าโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจระยะที่ 2 ซึ่งต้องมาทำที่โรงพยาบาลนั้น ยังมีข้อดีอื่น ๆ อีกหลายประการ อย่างเช่นที่ แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลเมดพาร์คนั้น ผู้ป่วยที่เข้าโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ จะได้รับการออกแบบโปรแกรมการฟื้นฟู โดยแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่มีประสบการณ์ และจะได้รับการดูแลจากนักกายภาพบำบัด รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญในการดูแลผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดหัวใจอย่างใกล้ชิด และได้ทำการรฟื้นฟู ภายในยิมสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ ที่มีการติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอดการออกกำลังกาย รวมถึงดูแลระดับความหนักที่เหมาะสมในการฝึกในทุกขั้นตอน เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ อีกทั้งยังทำให้ผู้ป่วยได้รู้ขีดจำกัดของร่างกายตัวเอง รวมถึงสามารถมองเห็นศักยภาพที่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้อย่างชัดเจนในอนาคต นอกจากนี้ หากผู้ป่วยที่มีความตั้งใจที่ต้องการกลับไปออกกำลังกายอย่างจริงจัง ทั้งแพทย์และนักกายภาพบำบัดก็จะช่วยออกแบบโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมเพื่อช่วยเพิ่มสมรรถภาพของร่างกาย ที่จำนไปสู่เป้าหมายของผู้ป่วยได้
นอกจากผู้ป่วยที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดหัวใจมาจะควรเข้ารับการฝึกในโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจหลังผ่าตัดระยะที่ 2 แล้ว ผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดหัวใจมาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่ไม่ได้เข้าร่วมโปรแกรมฟื้นฟูในระยะที่ 2 ก็สามารถกลับมาเข้าโปรแกรมใหม่ได้เสมอ รวมถึงผู้ที่ยังไม่เคยป่วยเป็นโรคหัวใจ แต่ตรวจพบเจอปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคหัวใจได้ เช่น ป่วยเป็นโรคเบาหวาน มีความดันโลหิตสูง มีไขมันในเลือดสูง หรือแม้แต่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์จนน่าเป็นห่วง ก็สามารถเข้ามาปรึกษาแพทย์ เพื่อออกแบบโปรแกรมการฟื้นฟูร่างกายที่เหมาะสมกับตัวเองได้ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การป่วยเป็นโรคหัวใจในอนาคต