16 เมษายน 2568 สองเดือนของการปิดประชุมสภา คือ สองเดือนที่ ฝ่ายหนุน และฝ่ายต้าน "ร่างกม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์"พักแรง กลับไปตั้งหลัก สะสมกำลังพล เพื่อมาเผชิญหน้ากันใหม่ ในทันทีที่เปิดประชุมสภาสมัยหน้า และ มีการบรรจุระเบียบวาระพิจารณา "ร่างกม. เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์"
จับแนวทางการเคลื่อนไหว ฝ่ายเดินหน้า ผลักดัน "ร่างกม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" คงเป็นใครไม่ได้ ที่ประกาศตัวชัดเจน นั่นคือ พรรคเพื่อไทย
สิ่งที่"พรรคเพื่อไทย" ตั้งแต่หัวขบวนพรรค แพทองธาร ชินวัตร พยายามบอกกล่าวสาธารณชน คือ"เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" เป็นสถานที่อุดมด้วยสถานบันเทิง หลากหลาย สวนสนุก สนามกีฬา กิจกรรมเชิงสร้างสรรค โดย ในส่วนกาสิโน เป็นส่วนหนึ่ง แค่ 10 เปอร์เซนต์ ในพื้นที่ทั้งหมด แต่มีคนไปบิดเบือน ว่าสร้างสถานที่กาสิโน
นี่คือคำอธิบายของ"แพทองธาร" ในการแถลงต่อสื่อมวลชน หรือแม้แต่ ในเวทีประชุมหัวหน้าส่วนราชการ มอบนโยบายรัฐบาล ก็จะชี้แจงทำนองนี้
ขณะที่ ลูกพรรค กำลังลงพื้นที่พบประชาชนจะสื่อสารในเนื้อหาเดียวกัน เฉกเช่นเดียวกับ"ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯให้สัมภาษณ์สื่อต่อ ปมปัญหา"ร่างกม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" ก็คือ การสื่อสารสร้างความเข้าใจประชาชน ด้วยคีย์เวิร์ดเดียวกัน"กม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ไม่ได้ออกมาเพื่อสร้างกาสิโน แต่มีกาสิโนเพียง 10 เปอร์เซนต์ โดยมีฝ่ายตรงข้ามพยายามบิดเบือนว่า รัฐบาลกำลังออกกฎหมายเพื่อสร้างกาสิโน"
แต่เมื่อสื่อมวลชนถามว่า ฝ่ายต่อต้านเขาต้องการให้มีประชามติเรื่องนี้ไปเลยดีไหม เห็นได้ว่า ท่าทีของหัวขบวนจนจรดปลายแถวของพรรค ออกมาประสานเสียงเดียวกัน "ร่างกม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" ผ่านการรับฟังความคิดเห็นโดยกระทรวงการคลังมาแล้ว ถึง 3 - 4 ครั้ง รวมถึงการอ้าง "กฤษฏีกา" เปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วเช่นกัน 3-4 ครั้ง พร้อมกับตอกย้ำว่า 80 เปอร์เซนต์ เห็นด้วยต่อ "ร่างกม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์"
ส่วนจะให้มีการทำ"ประชามติ" มีคำตอบตรงกันว่า ไม่จำเป็น อีกทั้ง จะสิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะการทำประชามติ แต่ละครั้ง หรือคิดตามมาตรฐานประชามติแก้รธน. จะต้องใช้งบคราวละ 3 - 4 พันล้านบาท
กล่าวโดยสรุป รัฐบาลเพื่อไทย ต้องการเดินหน้า ร่างกม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ต่อไป โดยระหว่างนี้ มอบหมายให้สส.ไปทำความเข้าใจประชาชนในพื้นที่ด้วยคีย์เวิร์ดเดียวกันตามที่กล่าวไว้ข้างต้น และ ได้มีการเปิดรับฟังความเห็นมาแล้ว 3 - 4 ครั้ง ส่วนใหญ่เห็นด้วย จึงไม่จำเป็นต้องทำประชามติ ให้สิ้นเปลืองงบประมาณ
สำรวจแนวต้านกม.เอ็นเตอร์เทนฯ
ขณะที่ฝ่ายเห็นต่างกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จากเครือข่ายภาคประชาชน ตั้งธงไม่เอากาสิโน ไม่เอาพนันออนไลน์ขึ้นบนดิน กำลังขยายวงกว้างบานปลายไปถึง เครือข่ายมูลนิธิ กลุ่มนักวิชาการ ไปถึง พรรคการเมือง นักการเมืองในสภา ทั้งสภาล่างและสภาสูง จึงพอสรุปท่าทีได้ดังนี้
ไม่ต้องการ"เลื่อน"แต่ต้องการ"เลิก"
1. แม้รัฐบาลเลื่อนวาระ "กม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็ก"ซ์ออกไป เพื่อหวังลดระดับอุณหภูมิร้อน แต่ถึงอย่างไร ชนวนร้อนต้องถูกจุดขึ้นมาวันยันค่ำเมื่อเปิดสภาฯ ดังนั้น จึงไม่สนใจการเลื่อนวาระ แต่ต้องการให้ล้มเลิก การผลักดัน "ร่างกม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์"
ทว่า แนวร่วมให้เลิก "กม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" อาจไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด เพราะถ้าหาก รัฐบาลยอมปรับแก้ กม. ด้วยการกำหนดให้มีเฉพาะสถานบันเทิงครบวงจร โดยไม่มี "กาสิโน" หากออกไปในแนวทางนี้ย่อมทำให้ แนวร่วมลดกำลังต่อต้านลง แต่หนทางนี้ เป็นเรื่องยากที่รัฐบาลเพื่อไทยไม่เลือกทำแน่ เพราะ "กาสิโน" คือหัวใจหลักในการสร้างรายได้ แม้จะใช้สัดส่วนพื้นที่ 10 เปอร์เซนต์ก็ตาม
ต้อง"ประชามติ"ไม่เอา"ประชาพิจารณ์"
2. "ฝ่ายต้าน" ยืนยันมาตลอด "ร่างกม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" เป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคง ของประเทศ สมควรตัดสินด้วย การจัดให้มี "การประชามติ" มิใช่ แค่ "เปิดรับฟังความคิดเห็น" ตามแบบฉบับที่รัฐบาลเพื่อไทย ดำเนินการ จริงอยู่ การเปิดรับฟังความเห็น ย่อมเข้าหลักการออกกฎหมาย ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 แต่การเปิดรับฟังความคิดเห็นแบบเงียบๆ รับรู้กันเฉพาะคนไม่กี่กลุ่ม ผ่านการกดเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ ทางเว็ปไซต์หน่วยงานราชการ ก็ไม่ใช่หลักของการประชามติที่ถูกต้อง มันคนละเรื่องกัน
รธน. มาตรา 77 "รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมาย ที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือ การประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัว บทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับ ฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการ ตรากฎหมายทุกขั้นตอน..."
ข้อเรียกร้องให้จัด ทำประชามติ ปรากฎว่า มีภาคประชาชน ยื่นเรื่องไปที่ฝ่ายค้านให้รับลูกต่อ เนื่องจากเป็นอำนาจหน้าที่สส.กระทำได้ ในกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคฝ่ายค้านสามารถเข้าชื่อขอให้รัฐบาลจัดให้มีการทำประชามติได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้มีบ่อนกาสิโนบนแผ่นดินไทยหรือไม่ เพราะพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลไม่เคยชูนโยบายมีบ่อนกาสิโนบนแผ่นดินไทยในการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ซึ่งเป็นโจทย์ให้พรรคประชาชน จะยื่นเรื่องขอให้มีการจัดทำประชามติเพื่อฟังเสียงประชาชนหรือไม่
แนวรบที่สาม "สภาสูง" รวมถึง มวลชนคนนักร้อง
อีกด้านหนึ่ง เครือข่ายภาคประชาชน ยื่นเรื่องต่อ สมาชิกวุฒิสภาไว้แล้ว โดยรอจังหวะเวลา ในการยื่นศาลรธน.ต่อไป เมื่อเหตุนั้นเกิดขึ้น
"วุฒิสภา" ได้พิจารณา ร่างพรบ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พบว่า มีหลายจุดที่ส่อฝ่าฝืนบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เช่น มาตรา 65 เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้พรรคการเมืองต้องรายงานนโยบายที่จะต้องมีการใช้จ่ายเงิน เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 62 ซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคง
รัฐบาลทำผิด กม. รัฐธรรมนูญ ปี 60 ที่ระบุว่า รมต. และ พรรคร่วมรัฐบาล ต้องไม่ทำสิ่งที่ผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง และการเห็นชอบเกี่ยวกับ กาสิโน นั่นเป็นการมอมเมาประชาชน สามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเอาผิดทางอาญา และถอดถอนรัฐบาลได้ทั้งคณะ
ฉะนั้น เมื่อพิจารณาแนวทางท่าทีของแต่ละฝ่าย ซึ่งแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ตรงกันข้ามอย่างสุดทาง ย่อมทำให้ "ร่างกม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" ไปต่อค่อนข้างลำบาก หากยังไม่สามารถแสวงหาจุดร่วมที่ลงตัวกันได้
ซ้ำร้าย อาจนำไปสู่จุดจบรัฐบาลแพทองธาร