svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

"ช็อกทางการทูต" ไทยกำลังเผชิญ หลังส่ง"อุยกูร์กลับจีน"บานปลาย

"กระทรวงการต่างประเทศ" อาจต้อง "แอคทีฟ" ในการชี้แจงให้มากขึ้น จะทำตัวเป็น "รัฐอัมพาต" ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ติดตามมุมมองสถานการณ์ได้จาก "สุรชาติ บำรุงสุข ที่นี่

อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง และอาจารย์รัฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตั้งข้อสังเกตกับ “ข่าวข้นคนข่าว” ว่า ไทยกำลังเผชิญสถานการณ์ที่เรียกว่า “Diplomatic Shock” หรือ ภาวะช็อกทางการทูตของไทย เพราะรัฐบาลอเมริกันโดย นายมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประกาศออกมาตรการในการจำกัดและควบคุมวีซ่าของเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย 

มาตรการเช่นนี้อาจมีนัยยะถึงการยกระดับให้เป็นการห้ามเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาอีกด้วย เพื่อตอบโต้กับการส่งตัวชาวอุยกูร์จำนวน 40 คนกลับไปจีนในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งต้องยอมรับว่า รัฐบาลไทยไม่เคยถูกกระทำเช่นนี้มาก่อน แม้ในช่วงรัฐประหารก็ตาม

\"ช็อกทางการทูต\" ไทยกำลังเผชิญ หลังส่ง\"อุยกูร์กลับจีน\"บานปลาย

อาการ “ช็อกทางการทูต” เช่นนี้ มีสัญญาณมาตั้งแต่วันพุธที่ 12 มีนาคม เมื่อรัฐสภายุโรป หรือ EU Parliament ได้ออกมติจากการประชุมสภาด้วยการประนามกรณีอุยกูร์ และยังรวมไปถึงการเรียกร้องในประเด็นเรื่องของกฎหมายมาตรา 112 และปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนในการเมืองไทย

“ไม้แข็งตะวันตก” ส่งผลกระแสคนไทยเอียงหาจีน

\"ช็อกทางการทูต\" ไทยกำลังเผชิญ หลังส่ง\"อุยกูร์กลับจีน\"บานปลาย

อาจารย์สุรชาติ ขมวดปมให้เห็นชัดเจนว่า ปรากฏการณ์จากรัฐสภายุโรปและรัฐบาลอเมริกัน ทำให้เกิดข้อสังเกตดังนี้

1.ต้องยอมรับว่า ไทยไม่เคยเผชิญกับมาตรการทางการทูตในแบบเช่นนี้มาก่อน เพราะหากย้อนกลับไปในยุครัฐประหาร รัฐบาลประเทศตะวันตกก็ออกเพียงคำประณาม มากกว่าจะออกมาตรการจริงจังแบบที่ทำอยู่ 

2.การออกมาตรการแบบนี้ อาจกลายเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลและผู้คนในสังคมไทยมีความรู้สึกต่อต้านตะวันตกมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่ามี “กระแสต้านตะวันตก” อยู่แล้วพอสมควร / สิ่งที่เกิดจะยิ่งทำให้ความรู้สึก “นิยมจีน” มีมากขึ้นในสังคมไทย / โดยเฉพาะในหมู่ชาวอนุรักษ์นิยม ด้วยการพาไทยไปใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น เพราะผู้นำในสังคมอีกส่วนมองว่า จีนไม่เคยกดดันไทยในทางเปิดแบบที่ตะวันตกทำ เช่นตัวอย่างที่ผ่านมา จีนไม่เคยประณามไทยในช่วงรัฐประหาร เป็นต้น

\"ช็อกทางการทูต\" ไทยกำลังเผชิญ หลังส่ง\"อุยกูร์กลับจีน\"บานปลาย

สัญญาณ “ไทย” ไม่ใช่คนที่ต้องแคร์ 

3.การเลือกใช้มาตรการเหล่านี้เกิดในสภาวะที่การแข่งขันทาง “ภูมิรัฐศาสตร์” ในภูมิภาค “อินโด-แปซิฟิก” กำลังทวีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลตะวันตกควรต้องแสวงหาพันธมิตรในภูมิภาคนี้ มากกว่าจะสร้างความขัดแย้งกับรัฐบาลในพื้นที่

การออกมาตรการและคำประณามจะถือเป็นสัญญาณทางการเมืองได้หรือไม่ว่า รัฐบาลอเมริกันและรัฐบาลสหภาพยุโรป ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความสำคัญของไทยในทางภูมิรัฐศาสตร์แล้ว อาจจะเพราะมีคู่แข่งอื่นๆ ในภูมิภาคที่อาจจะน่าสนใจกว่าไทย 

\"ช็อกทางการทูต\" ไทยกำลังเผชิญ หลังส่ง\"อุยกูร์กลับจีน\"บานปลาย

เตือนกระแสตีกลับ “อนุรักษ์นิยมไทย” มองสหรัฐ-อียู แง่ลบ

อาจารย์สุรชาติ ชวนพิจารณากันต่อว่า วันนี้ต้องยอมรับว่า อเมริกา ยุโรป หรืออียู และไทย ล้วนอยู่ในสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ จึงน่าสนใจว่า ปฏิสัมพันธ์ของ 3 ส่วนนี้จะดำเนินไปในทิศทางใด โดยเฉพาะรัฐบาลไทยอาจต้องการการคิดและการกำหนดนโยบายใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมเช่นนี้

ผู้คนในสังคมไทยหลายส่วนอาจมีความรู้สึกว่า รัฐบาลอเมริกัน “ไม่แฟร์” กับรัฐบาลไทย เพราะรัฐบาลทรัมป์ก็เนรเทศผู้ลี้ภัยเป็นจำนวนมากออกจากสหรัฐ และนโยบายเนรเทศมีความรุนแรงอย่างมากด้วย และมองไม่เห็นความชอบธรรมของรัฐบาลอเมริกันในกรณีนี้แต่อย่างใด หรือมองว่ารัฐบาลอเมริกันควรกดดันจีนในเรื่องนี้ ไม่ใช่มากดดันไทย เพราะไทยเป็นเพียง “คนกลางที่ถูกกดดัน” จากทุกฝ่าย

ในส่วนของรัฐสภายุโรป คนอีกส่วนในสังคมไทยมีทัศนะว่า กลุ่มการเมืองหรือองค์กรการเมืองบางส่วนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับตัวแทนของสหภาพยุโรปในไทย จึงทำให้เกิดมุมมองว่า รัฐสภายุโรปให้น้ำหนักกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง มากกว่าความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทย / กล่าวคือ อียูสามารถที่จะใช้มาตรการอื่นๆ ในการสะท้อนความไม่เห็นด้วยกับนโยบายของไทยได้  

ข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปอาจทำให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมในสังคมไทยมองว่า สิ่งนี้เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทย และอาจมีแรงต้านในสังคมกับการแก้กฎหมายมาตรา 112 มากขึ้น 

จี้บัวแก้ว “แอคทีฟ” อย่าทำตัวเป็น “รัฐอัมพาต” 

\"ช็อกทางการทูต\" ไทยกำลังเผชิญ หลังส่ง\"อุยกูร์กลับจีน\"บานปลาย

อาจารย์สุรชาติ เสนอว่า กระทรวงต่างประเทศของไทยต้องแถลงให้ชัดเจนว่า มีความจริงเพียงใดที่ไม่มีประเทศไหนต้องการรับผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์เหล่านี้ หรือไทยได้รับความช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ 

ซึ่งในปัญหาเช่นนี้ กระทรวงการต่างประเทศอาจต้อง “แอคทีฟ” ในการชี้แจงให้มากขึ้น จะทำตัวเป็น “รัฐอัมพาต” ในแบบช่วงตากใบ / คือ “ไม่พูด-ไม่ชี้แจง” ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว / เพราะอาการรัฐอัมพาตจะทำให้ประเทศมีปัญหามากขึ้นในเวทีสากล

อาจารย์สุรชาติ บอกทิ้งท้ายว่า รัฐบาลต้องตระหนักว่า บทบาทของประเทศไทยในบริบทของ “งานด้านการต่างประเทศและความมั่นคง” นั้น / อยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ / คือใหม่ทั้งเวทีสากล เวทีในบ้าน รวมถึงตัวบุคคลที่ต้องรับผิดชอบในงานนี้ 

ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ความท้าทายอย่างสำคัญที่รัฐบาลแพทองธารต้องตระหนักและใคร่ครวญ จะปล่อยให้ปัญหาเช่นนี้ลากประเทศไทยไปเรื่อยไม่ได้ เพราะการถูกลากด้วยปัญหาเช่นนี้ จะทำลาย “soft power” ของประเทศโดยตรง!