10 มิถุนายน 2568 เว็ปไซต์ Hfocus.org เจาะลึกระบบสุขภาพ รายงาน การให้สัมภาษณ์ของ ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี กรรมการแพทยสภา กล่าวถึงกรณีสภานายกพิเศษจะร่วมประชุมวันที่ 12 มิ.ย.นี้ ว่า ส่วนตัวมองว่า นายสมศักดิ์ มีสิทธิเข้าประชุมได้ แต่ในส่วนของการโหวตเพื่อลงมติต่างๆ นับเฉพาะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้ง และกรรมการโดยตำแหน่ง 70 คนเท่านั้น ไม่ได้รวมนายสมศักดิ์ ส่วนจะให้เข้าร่วมเฉพาะช่วงที่มากล่าวอะไรตามที่นายสมศักดิ์บอกว่าจะพูด หรืออยู่ร่วมจนถึงตอนที่คณะกรรมการมีการแสดงความเห็นเกี่ยวกับที่มีการวีโต้หรือไม่นั้น ก็ต้องดูว่าที่ประชุมจะว่าอย่างไร
“ผมไม่ได้กดดันอะไรที่รมว.สธ.จะร่วมประชุม เพราะผมพูดอย่างที่มีการอธิบายมาตลอด พูดไปตามความจริง ว่าตามเอกสาร” ศ.นพ.อมรกล่าว
ศ.นพ.อมร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ประเด็นที่นายสมศักดิ์ วีโต้มติแพทยสภากลับมานั้น ตนได้ดูจากเอกสาร และข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอ เห็นว่า ประเด็นที่มีการวีโต้กลับมานั้นไม่ค่อยตรงกับที่อนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจชงเรื่องขึ้นไป ตัวอย่าง ที่มีการวีโต้ ผู้ถูกร้องคนที่ 2 ว่า ทางแพทยสภาไม่ได้ดูเรื่องกฎเกณฑ์ของราชทัณฑ์ อ้างว่า การส่งตัวเป็นอำนาจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ซึ่งก็ถูก แต่จะมาบอกว่า เราไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้แล้วเท่ากับว่ามันไม่ครบนั้น ขอยืนยันว่าไม่ใช่ เพราะแพทยสภาพิจารณาเรื่องการประกอบวิชาชีพเวชกรรม กับมาตรฐานจริยธรรมของแพทย์ คือ การยินยอมให้มีการใช้ใบส่งตัวที่เขียนเอาไว้ตั้งแต่ตอนกลางวัน แต่มาตรฐานของใบส่งตัวนั้น ต้องกำหนดชัดว่า ผู้ป่วยมีอาการอย่างไร ณ ขณะนั้นเพื่อให้แพทย์ที่รับส่งต่อรักษาได้ตรงจุด หรืออาการหนักแล้วสามารถส่งต่อได้หรือไม่ การส่งออกไปปลอดภัยหรือไม่ หรือควรต้องทำการรักษาจนอาการสามารถส่งต่อแล้วค่อยส่ง
ดังนั้น ถ้ามาบอกว่าหยวนๆ ให้ใช้ใบส่งตัวที่เขียนไว้ตั้งแต่ตอนกลางวัน อย่างน้อยก็ควรจะเขียนด้วยว่า ณ ขณะนั้น เวลา 5 ทุ่มผู้ป่วยมีอาการอะไรบ้าง เพื่อให้หมอรพ.ปลายทางรู้ ว่าเป็นอะไร แต่กลับไม่มีเลย ทำให้กรรมการแพทยสภาเห็นว่า ต้องว่ากล่าวตักเตือนกัน
“หลักเกณฑ์ราชทัณฑ์นั้นผมทราบอยู่แล้ว เรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังเข้าๆ ออกๆ จากเรือนจำนั้นเป็นอำนาจของผอ.ราชทัณฑ์ คุณหมอไม่เกี่ยวอยู่แล้ว หมอจะมีความเห็นอย่างไรก็อยู่ที่เขาอยู่ดีว่าจะฟังหรือไม่ฟังก็ยังได้ มีคนบอกว่าขนาดคนไข้ล่ามโซ่มารักษานอกเรือนจำ ถ้าราชทัณฑ์ให้กลับเดี๋ยวนี้ หมอรักษาอยู่ก็ต้องกลับ ดังนั้นเป็นสิทธิของเขาเต็มที่ ดังนั้นเราจึงไม่ได้ดูตรงนี้ แต่ที่เกี่ยวข้องและที่เราดูคือ เขาขอใช้ใบส่งตัวต่างหากที่บอกว่าหมอทำผิดมาตรฐาน ส่วนเรื่องขั้นตอนการส่งตัวนั้นไม่เกี่ยวเลย” ศ.นพ.อมร กล่าว
และอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ คำโต้แย้งของผู้ถูกร้องที่ 3 ซึ่งนายสมศักดิ์ วีโต้กลับมาก็ไม่ตรง ที่ว่า หมอไม่ได้พูดคำว่า “วิกฤติ” ก็จริงที่เขาไม่ได้พูด แต่พูดคำว่า “อาการน่าเป็นห่วง” แพทยสภาเห็นว่า เป็นการให้ข้อมูลไม่ตรง เพราะคนที่พูดเป็นแพทย์ใหญ่ต้องได้รับรายงานอยู่แล้ว ว่าคนไข้เป็นอย่างไร เนื่องจากแพทย์ที่ดูแลนั้นให้การรักษาอย่างดี จนคนไข้ปลอดภัยแล้ว ดังนั้น แพทย์ใหญ่ต้องได้รับรายงานแล้วว่าคนไข้ปลอดภัยดี แต่กลับบอกว่า ไม่ไหว กระทั่งวันต่อมามีการตรวจก็ไม่ตรงอีก ซึ่งตามข้อบังคับแพทยสภาระบุว่า ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่ให้การที่ไม่ตรงกับความจริง
“เขาไม่ได้พูดว่า วิกฤติ แต่พูดว่าน่ากลัวๆ มาก อย่างนี้ไม่ไหว ซึ่งตรงข้ามกับเวชระเบียนที่ออกมาบอกว่าอาการสบายดีขึ้นมาแล้ว ใบรายงานของพยาบาลยังเห็นว่าดีขึ้น ทุกอย่างดูสงบ แต่ทำไมไปบอกอาการตรงกันข้ามเลย ผมดูทั้ง 2 รายนี้ เห็นว่าที่วีโต้มาก็ไม่ตรงกับประเด็นของเรา สงสัยวันที่ 12 มิ.ย. เขาจะไปคุยอะไรก่อนหรือเปล่า ว่าท่านวีโต้มาไม่ค่อยตรง หรือท่านคิดว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น ดังนั้นตอนคุยกันไปท่านก็คงเข้าได้ แต่ตอนโหวตอะไรผมคิดว่าท่านไม่น่าเกี่ยว” ศ.นพ.อมร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้จะมีนักกฎหมายมาดูอีกที ว่าเข้าได้หรือไม่ได้ เพื่อความโปร่งใส ชัดเจน ยืนยันว่าการให้นักกฎหมายพิจารณาวันที่ 12 มิ.ย. ไม่ถือว่ากระชั้นชิด เพราะนายสมศักดิ์ก็บอกว่าจะเข้าไปอยู่แล้ว ก็กางหลักเกษณ์เลยว่าเข้าได้หรือไม่ได้ เราไม่ต้องไปห้ามใครต่อใครล่วงหน้า ดังนั้นคิดว่ายังทัน