svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ไทม์ไลน์ปม “ช่องบก” เริ่มจากชนวนร้องเพลงชาติ ถึงยุติเผชิญหน้า

ไทม์ไลน์เหตุการณ์ “ช่องบก” ชายแดนไทย – กัมพูชา จากร้องเพลงชาติ เผาศาลาตรีมุข ขุดคูเลต กระชับเวลาปิดด่าน ถึงเจรจายุติเผชิญหน้า

ภายหลัง รัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาบรรลุข้อตกลงปรับกำลังทหาร บริเวณช่องบก จ.อุบลราชธานี ตั้งแต่ต้นสัตบรรณถึงสามแยกลาว กลับไปอยู่ในจุดเดิมปี 2567 เพื่อลดการเผชิญหน้า สร้างบรรยากาศเอื้อต่อการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ไทย-กัมพูชา

 

ไทม์ไลน์ปม “ช่องบก” เริ่มจากชนวนร้องเพลงชาติ ถึงยุติเผชิญหน้า

 

ลำดับเหตุการณ์ไทม์ไลน์ปมพิพาท “ช่องบก” จากร้องเพลงชาติ - เผาศาลาตรีมุข ขุดคูเลต กระชับเวลาเปิด-ปิดด่าน บรรลุข้อตกลงยุติเผชิญหน้า

 

สถานการณ์ชายแดนไทย - กัมพูชา ในห้วงที่ผ่านมา การละเมิดบันทึกความเข้าใจระหว่าง ไทย - กัมพูชา ว่า ด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543 หรือ MOU 43 โดยฝ่ายกัมพูชา มาอย่างต่อเนื่อง

 

  • 13 ก.พ. 68 ประชาชนกัมพูชาและทหารกัมพูชา ขึ้นไปบนปราสาทตาเมือนธม อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ตั้งอยู่ในพื้นที่อธิปไตยของไทย และร้องเพลงชาติกัมพูชา ฝ่ายไทยยื่นหนังสือประท้วงอย่างเป็นทางการ
  • 27 ก.พ. 68 พล.อ.เมา โซะพัน ผู้บัญชาการทหารบกกัมพูชา ลงพื้นที่สามเหลี่ยมมรกต พร้อมส่งทหาร 80 นาย พร้อมอาวุธประจำกายในพื้นที่ช่องบก อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี และมีการตำหนิกำลังพลทหารกัมพูชาว่า เหตุปล่อยให้ ทหารไทยมาทำกิจกรรมทางศาสนาที่ศาลาตรีมุข

 

ไทม์ไลน์ปม “ช่องบก” เริ่มจากชนวนร้องเพลงชาติ ถึงยุติเผชิญหน้า

 

  • 1 มี.ค. 68 เกิดเหตุไฟไหม้ ศาลาตรีมุข สัญลักษณ์มิตรภาพ ไทย - ลาว -กัมพูชา หน่วยในพื้นที่ได้รับข่าวสารว่า มีทหารกัมพูชา พร้อมอาวุธ เข้ามาวางกำลัง พร้อมดัดแปลงพื้นที่ รุกล้ำเข้ามาในเขตประเทศไทย บริเวณช่องบก ประมาณ 150 เมตร

 

ไทม์ไลน์ปม “ช่องบก” เริ่มจากชนวนร้องเพลงชาติ ถึงยุติเผชิญหน้า

 

  • เช้ามืด 28 พ.ค. 68 ฝ่ายไทยจึงจัดกำลังลาดตระเวนพิสูจน์ทราบ แต่ฝ่ายกัมพูชา ได้ใช้อาวุธปืนยิงฝ่ายไทย จึงเกิดการปะทะกันขึ้น

 

  • ช่วงสายวันเดียวกัน พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ประชุมทางไกลผ่านจอภาพร่วมกับ พล.อ.เมา โซะพัน ผบ.ทบ.กัมพูชา  โดยทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้ปรับกำลังออกจากแนวปะทะเพื่อลดการเผชิญหน้า และนัดหมายพบหารือกัน ที่ช่องจอม จ.สุรินทร์ วันที่ 29 พ.ค. 68
  • 29 พ.ค. 68 มีการประชุมหารือระหว่าง ผบ.ทบ.ไทย - ผบ.ทบ.กัมพูชา ผบ.ทบ. ได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียของกำลังพลฝ่ายกัมพูชา จากเหตุการณ์ปะทะ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกัน ใน 3 ประเด็น คือ

 

  1. เห็นร่วมกันในการใช้กลไกคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม หรือ Joint Boundary Committee (JBC) ในการแก้ไขความขัดแย้งในครั้งนี้
  2. บรรลุข้อตกลงในการถอนกำลังออกจากจุดที่ปะทะ
  3. ผู้บังคับบัญชาทั้งสองฝ่าย จะกำกับดูแลกำลังพลให้อยู่ภายใต้กรอบการเจรจาอย่างเคร่งครัด

 

แต่ต่อมา ฝ่ายกัมพูชา ได้ออกแถลงการณ์ว่า จะไม่ปรับกำลังทหารออกจากแนวปะทะ ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อตกลงร่วมกันระหว่าง ผบ.ทบ.ทั้งสองประเทศ แม้กัมพูชา จะอ้างว่ายึดมั่นในสันติภาพ แต่กลับมีการวางกำลังรุกล้ำดินแดน และดัดแปลงภูมิประเทศในพื้นที่ชายแดน

 

ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ฝ่ายกัมพูชาได้มีการละเมิด MOU 43 จำนวน 651 ครั้ง เช่น

 

การปรับปรุงเส้นทาง การเทคอนกรีต ในพื้นที่ช่องอานม้า ตรวจพบเมื่อ 19 มี.ค. 68

 

การปรับปรุงป้อมปืน การขุดหลุม บุคคล ในพื้นที่ช่องอานม้า ตรวจพบเมื่อ 14 เม.ย. 68

 

การปรับปรุงเส้นทางและคูติดต่อ บริเวณพื้นที่ช่องบก และบริเวณเนิน 745 ตรวจพบเมื่อ 13 พ.ค. 68

 

  • ซึ่งฝ่ายไทยได้ทำการประท้วงมาเป็นลำดับ แต่ฝ่ายกัมพูชา ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากวันที่ 29 พ.ค. 68 กัมพูชาได้ออกแถลงการณ์ว่าจะไม่ปรับกำลัง กลับไปอยู่จุดเดิมปี 2567

 

  • 30 พ.ค.68 กองทัพบก ออกแถลงการณ์ผลการเจรจาระหว่าง ผบ.ทบ.ไทย -  ผบ.ทบ.กัมพูชา เช่นเดียวกันในประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดน จำนวน 4 ข้อ ได้แก่

 

  1. ผบ.ทบ.ได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียกำลังพลจากเหตุการณ์ปะทะ
  2. กรณีข้อขัดแย้งบริเวณช่องบก ทบ.ไทย และ กพช. มีความเห็นร่วมกันในการใช้กลไกคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม หรือ Joint Boundary Committee (JBC)
  3. ผู้บังคับบัญชาทั้งสองฝ่ายได้ระบุว่า จะกำกับดูแลกำลังพลให้อยู่ภายใต้กรอบการเจรจาอย่างเคร่งครัด
  4. การพบปะเจรจาระหว่าง ผบ.ทบ.ไทย และ กัมพูชา ในครั้งนี้ บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดี สามารถบรรลุข้อตกลงปรับกำลังทหารจากพื้นที่ขัดแย้ง และรอผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม JBC

 

  • 4 มิ.ย. 68 ไทยโต้แย้ง แถลงการณ์ของรัฐบาลกัมพูชา ยืนยันพื้นที่ 4 แห่ง ได้แก่ ช่องบก (อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี) , ปราสาทตาเมือนธม (อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์) , ปราสาทตาเมือนโต๊ด (อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์) และ ปราสาทตาควาย (อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์) อยู่ในเขตอธิปไตยของไทย

 

ดังนั้น การที่กัมพูชา จะยื่นเรื่องให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิจารณาพื้นที่ทั้ง 4 แห่ง ดังกล่าว จึงนับว่าเป็นความพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริง

 

  • 7 มิ.ย. 68 ผบ.ทบ. ได้ลงนามในคำสั่งกำหนดอำนาจให้ ผบ.กกล.บูรพา และ ผบ.กกล.สุรนารี มีอำนาจในการควบคุมการเปิด – ปิดด่าน จุดผ่านแดนทุกประเภทตลอดแนวชายแดนไทย–กัมพูชา โดยเป็นผลสืบเนื่องจากมติที่ประชุม สภาพความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อ 6 มิ.ย. 68

 

ในรายละเอียด ทบ. ได้กำหนดมาตรการควบคุมการเปิด-ปิด จุดผ่านแดนทุกประเภทตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เริ่มมาตรการดังกล่าวตั้งแต่ วันที่ 7 มิ.ย. 68 เวลา 19.00 น.

 

ไทม์ไลน์ปม “ช่องบก” เริ่มจากชนวนร้องเพลงชาติ ถึงยุติเผชิญหน้า

 

สำหรับพื้นที่รับผิดชอบกองกำลังบูรพา ประกอบด้วย

 

1. จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก (อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว)

กำหนดเวลาเปิด–ปิดใหม่ เป็น 08.00 – 16.00 น. โดยอนุญาตเฉพาะการค้าขาย หรือการเดินทางเพื่อทำงาน ห้ามชาวไทยเดินทางออกนอกประเทศเพื่อเล่นการพนันหรือท่องเที่ยว และเอกสาร Border Pass /

Passport ใช้ได้ไม่เกิน 7 วัน รวมทั้งห้ามรถบรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปผ่าน

 

2. จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย– กพช. (หนองเอี่ยน–สตึงบท)

กำหนดเวลาเปิด–ปิดใหม่ เป็น 08.00 – 16.00 น. โดยกำหนดให้ใช้เป็นจุดผ่านแดนหลักสำหรับรถบรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป

 

3. จุดผ่านแดนถาวรบ้านเขาดิน (อ.คลองหาด จ.สระแก้ว)

กำหนดเวลาเปิด–ปิดใหม่ เป็น 08.00 – 16.00 น. โดยอนุญาตเฉพาะการค้าขายหรือการทำงาน ห้ามนักพนันและนักท่องเที่ยวเดินทางผ่าน และเอกสาร Border Pass / Passport ใช้ได้ไม่เกิน 7 วัน รวมทั้งห้ามรถบรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปผ่าน

 

4. จุดผ่อนปรนการค้าบ้านตาพระยา (อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว)

กำหนดเวลาเปิด–ปิดใหม่ เป็น 08.00 – 12.00 น. โดยทหารจะใช้ดุลยพินิจในการคัดกรองบุคคลเข้า–ออกเป็นรายกรณี และห้ามรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปผ่าน

 

5. จุดผ่อนปรนการค้าบ้านหนองปรือ (อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว)

กำหนดเวลาเปิด–ปิดใหม่ เป็น 08.00 – 12.00 น. โดยทหารจะใช้ดุลยพินิจในการคัดกรองบุคคลเข้า–ออกเป็นรายกรณี และห้ามรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปผ่าน

 

ส่วนพื้นที่รับผิดชอบกองกำลังสุรนารี ประกอบด้วย

 

1.จุดผ่อนปรนการค้าช่องอานม้า (ต.โซง อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี)

กำหนดเวลาเปิด–ปิดใหม่ เป็นเฉพาะวันพฤหัสบดี 09.00 – 12.00 น. โดยให้บุคคลผ่านเข้า–ออกไม่เกินเขตตลาดของทั้งสองประเทศ ผ่านการแลกบัตร ซึ่งอนุญาตเฉพาะการนำสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น และไม่อนุญาตให้ยานพาหนะผ่าน ส่วนการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต้องเป็นไปตามระเบียบและหลักสากล ทั้งนี้พร้อมปิดจุดผ่านแดนเมื่อฝ่าย กัมพูชา เพิ่มกำลังจนกระทบต่อความปลอดภัย

 

2. จุดผ่อนปรนการค้าช่องสายตะกู (ต.จันทบเพชร อ.บ้านกรวดจ.บุรีรัมย์) กำหนดเวลาเปิด–ปิดใหม่ เป็นวันอังคาร, พุธ และพฤหัสบดี 09.00 – 12.00 น.

 

โดยให้บุคคลผ่านเข้า–ออก ไม่เกินเขตตลาดของทั้งสองประเทศ ผ่านการแลกบัตร ซึ่งอนุญาตเฉพาะการนำสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น และไม่อนุญาตให้ยานพาหนะผ่าน ส่วนการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต้องเป็นไปตามระเบียบและหลักสากล ทั้งนี้พร้อมปิดจุดผ่านแดนเมื่อฝ่าย กพช. เพิ่มกำลังหรือมีเหตุปะทะบริเวณชายแดน จนกระทบต่อความปลอดภัย

 

3. จุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ (ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ)

กำหนดเวลาเปิด–ปิดใหม่ เป็นวันจันทร์, พุธ และศุกร์ 08.00 – 15.00 น. โดยใช้ Passport / Border Pass ยานพาหนะสามารถผ่านได้ตามระเบียบ จำกัดการส่งออกสินค้ายุทธภัณฑ์ตามกฎหมาย และงดส่งออกวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์ ส่วนการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต้องเป็นไปตามระเบียบและหลักสากล ทั้งนี้ พร้อมปิดจุดผ่านแดนเมื่อมีเหตุปะทะบริเวณชายแดน

 

4. จุดผ่านแดนถาวรช่องจอม (ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์) กำหนดเวลาเปิด – ปิดใหม่เป็นวันจันทร์ , พุธ และศุกร์ 08.00 – 15.00 น. โดยใช้ Passport / Border Pass ซึ่งยานพาหนะสามารถผ่านได้ตามระเบียบ จำกัดการส่งออกสินค้ายุทธภัณฑ์ตามกฎหมาย และงดส่งออกวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์ ส่วนการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต้องเป็นไปตามระเบียบและหลักสากล ทั้งนี้ จะดำเนินการงดจำหน่ายกระแสไฟฟ้า เมื่อฝ่าย กพช. เพิ่มกำลังทหารในลักษณะที่ส่งผลต่อความปลอดภัย และพร้อมปิดจุดผ่านแดนเมื่อมีเหตุปะทะบริเวณชายแดน

 

นอกจากนี้ พื้นที่รับผิดชอบของ กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีตราด กองทัพเรือ มีการกำหนดให้จุดผ่านแดนถาวร และ จุดผ่อนปรนการค้าทุกแห่ง เปิด–ปิด เวลา 08.00 – 16.00 น.

 

ไทม์ไลน์ปม “ช่องบก” เริ่มจากชนวนร้องเพลงชาติ ถึงยุติเผชิญหน้า

 

สำหรับการใช้มาตรการตามแนวชายแดนดังกล่าวนั้น ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นที่ 1 และ ขั้น 2 จาก 4 ขั้น โดยยังไม่ได้มีการปิดจุดผ่านแดนใดๆ เว้นช่องทางธรรมชาติที่ได้ปิดไปแล้ว ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติแบบเป็นขั้นตอน โดยพิจารณาจากระดับความรุนแรงของสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ เน้นจากเบาไปหาหนักตามความเหมาะสม โดยแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนหลัก ดังนี้

 

ขั้นที่ 1 จำกัดการผ่านแดนโดยอนุญาตเฉพาะบุคคลที่มีเหตุจำเป็น เช่น การค้าขาย การขนส่งสินค้า แรงงาน และงานจำเป็นอื่น ๆ โดยจำกัดและเพิ่มระดับความเข้มงวดในการตรวจสอบบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น นักพนัน หรือกลุ่มที่อาจเกี่ยวข้องกับกิจกรรมผิดกฎหมาย

 

ขั้นที่ 2 ปรับลดช่วงเวลาในการเปิด – ปิดจุดผ่านแดน พร้อมทั้งกำหนดวัน – เวลาการเข้า – ออกอย่างชัดเจน เพื่อควบคุมความเคลื่อนไหวของบุคคลและกิจกรรมในพื้นที่ชายแดน

 

ขั้นที่ 3 ปิดจุดผ่านแดนบางจุด (Selective Closure) โดยพิจารณาจากจุดที่มีความเสี่ยงสูง หรือมีข้อมูลด้านความมั่นคงที่อาจนำไปสู่การรุกล้ำ หรือการก่อเหตุจากฝ่ายตรงข้าม

 

ขั้นที่ 4 ปิดจุดผ่านแดนตลอดแนวชายแดนในกรณีที่เกิดสถานการณ์วิกฤต หรือมีการรุกรานอย่างชัดเจนเพื่อควบคุมสถานการณ์ในระดับสูงสุด อย่างไรก็ตามหลังจากมาตรการการปรับเปลี่ยนเวลา เปิด-ปิด ด่านชายแดนที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 68 ฝ่ายกัมพูชา โดย พล.ท.สรัย ดึก รองผบ.ทบ. และผู้บัญชาการกองพลสนับสนุนที่ 3 ได้เชิญฝ่ายทหารไทย นำโดย พล.ต. สมภพ ภาระเวช ผบ.กกล.สุรนารี ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงในประเด็นสำคัญ คือ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบการปรับการวางกำลังให้กลับไปสู่แนววางกำลังเดิมเมื่อ ปี พ.ศ. 2567 พร้อมทั้งกลบคูติดต่อ(คูเลต) กลับไปสู่สภาพเดิม สร้างบรรยากาศที่เกื้อกูลต่อการประชุม JBC ในวันที่ 14 มิ.ย. 68

 

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันที่จะใช้ กลไกคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น เป็นช่องทางหารือการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่องในอนาคต