10 มิถุนายน 2568 การประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม หรือ JBC ไทย-กัมพูชา ในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ ตกเป็นที่จับตามองอย่างมาก จะเป็นไปด้วยความราบรื่นหรือไม่ เมื่อฝ่ายไทยประสงค์ให้นำปัญหาข้อพิพาทแนวชายแดน หยิบยกมาพูดคุยกันบนโต๊ะเจรจา หรือ การประชุมเจบีซีนั่นเอง ขณะที่ รัฐบาลกัมพูชา ภายใต้การนำของ ฮุนมาเนต นายกฯกัมพูชา โดยมี ฮุนเซน แม้จะมีตำแหน่ง ประธานองคมนตรี แต่ก็มีบทบาทหนุนหลังนายกฯลูกชาย ในการกำหนดทิศทาง ด้วยการประกาศมาโดยตลอด ต้องการให้นำปัญหาข้อพิพาทไทย-กัมพูชาขึ้นศาลโลกเท่านั้น ไม่ขอพูดคุยบนโต๊ะเจรจาเจบีซี ทั้งที่รอบนี้ กัมพูชาเป็นเจ้าภาพซะด้วย
อย่างไรก็ดี ปรากฎข่าว การตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม หรือ JBC ไทย-กัมพูชา ออกมาแล้ว โดยเฉพาะบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นประธานเจบีซีฝ่ายไทย มีชื่อ "ประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย"
"ประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย" คือ อดีตเอกอัครราชทูตผู้มีความหลังกับกัมพูชา ชนิดรู้เขารู้เรา รับรู้จังหวะก้าวกัมพูชา บนเวทีเจรจาระหว่างประเทศ จึงมิแปลกที่จะได้รับมอบหมายหน้าที่สำคัญ เป็นประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม หรือ JBC ไทย-กัมพูชา
"ประศาสน์" เคยดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา / และเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2552 หรือในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ราชกิจจานุเบกษา ประกาศพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้นายประศาสน์ ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา หรือเมื่อสิบปีที่แล้ว
ต่อมาในปี 2554 เขาได้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปินส์ ก่อนที่จะไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ณ คูเวต
ทั้งนี้ เมื่อปี 2552 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาตึงเครียด ครั้งหนึ่งนายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เคยเรียกตัวนายประศาสน์ฯ กลับจากกรุงพนมเปญ เพื่อตอบโต้กรณีที่ทางการกัมพูชา แต่งตั้งพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและยศในขณะนั้น เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และทางกัมพูชาเอง ก็ได้เรียกเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยกลับ เพื่อเป็นการตอบโต้เช่นเดียวกัน ก่อนที่นายทักษิณ ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาดังกล่าว และรัฐบาลไทยในขณะนั้น ได้ตัดสินใจฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต และส่งตัวนายประศาสน์ กลับไปประจำกรุงพนมเปญในเดือนสิงหาคม 2553
ในเดือนมีนาคม 2554 นายประศาสน์ ยังเคยยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการ เพื่อขออภัยโทษให้แก่นายวีระ สมความคิด และนางสาวราตรี พิพัฒนาไพบูลย์ ฐานการเข้าประเทศกัมพูชาอย่างผิดกฎหมาย ล่วงล้ำเขตทหาร และจารกรรม ที่ถูกศาลพนมเปญ ตัดสินเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 แต่ทางการกัมพูชาได้ปฏิเสธ เนื่องจาก ตามกฎหมายกัมพูชา ผู้ต้องหาที่ถูกศาลตัดสินในคดีความมั่นคงเรียบร้อยแล้ว จะต้องได้รับโทษอย่างน้อย 2 ใน 3 ก่อน จึงจะสามารถขออภัยโทษได้
นอกจาก นายประศาสน์ จะมีประสบการณ์ในการเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำต่างประเทศหลายประเทศแล้ว ยังมีความรู้ และความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศด้วย
การแต่งตั้ง นายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย เป็นประธาน เจบีซี ฝ่ายไทย ครั้งนี้ จึงน่าจับตามองยิ่งนัก กับเวทีเจรจา วันที่ 14 มิ.ย. เมื่อผู้นำกัมพูชาปฏิเสธที่จะพูดคุยปัญหาข้อพิพาท
แต่เมื่อถึงวันนั้น ท่าทีของแม่ทัพใหญ่ที่รู้เท่าทัน กัมพูชา จะแสดงบทบาทออกมาอย่างไร
เปิดทีม JBC ไทย ถกปมเขตแดนช่องบก
มีรายงานว่า คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ JBC (ฝ่ายไทย) ที่จะเดินทางไปประชุมที่กรุงพนมเปญประเทศกัมพูชา ในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ มีอำนาจหน้าที่ พิจารณาและเจรจาปัญหาเส้นเขตแดนเทางบ กระหว่างไทยกับกัมพูชา รวมถึงดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างไทยกับกัมพูชา และมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการ คณะทำงาน เพื่อช่วยปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
สำหรับองค์ประกอบคณะกรรมาธิการ ประกอบด้วย นายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ เป็น ประธานคณะกรรมาธิการ,ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้แทน เป็น รองประธานคณะกรรมาธิการฯ
ส่วนคณะกรรมาธิการ ได้แก่ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือผู้แทน,เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ หรือผู้แทน , อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย, อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก หรือผู้แทน,อธิบดีกรมการปกครองหรือผู้แทน,เจ้ากรมแผนที่ทหาร หรือผู้แทน, เจ้ากรมอุทกศาสตร์ หรือผู้แทน,ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน หรือผู้แทน,รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย,ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย,ผู้แทนกองบัญชาการกองทัพไทย,ผู้แทนกองทัพบก,ผู้แทนกองทัพเรือ
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการกองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นกรรมาธิการและเลขานุการ,เจ้าหน้าที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นกรรมาธิการและผู้ช่วยเลขานุการ
โดยเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2568 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่าได้แต่งตั้ง พลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการนี้ด้วย
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ใน1-2 วันนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ในส่วนของฝ่ายไทยวงเล็ก ที่กระทรวงต่างประเทศ เพื่อเตรียมการประชุมที่กรุงพนมเปญต่อไป