10 มิถุนายน 2568 ทีมโฆษกกองทัพไทย เปิดข้อมูลแผนที่ทางอากาศ ที่จัดทำโดยกองบัญชาการกองทัพไทย สืบเนื่องจากกรณีไทย และกัมพูชา โดยมีข้อสังเกตหลายประเด็นที่ปรากฎในภาพถ่ายทางอากาศ ตรงจุดปะทะ ระหว่างทหารไทยและกัมพูชา
โดยภาพถ่ายทางอากาศ เริ่มตั้งแต่ปี 2497 ในห้วงแรกที่มีการถ่ายไว้ จนถึงปี 2520 , 2527 และมีการถ่ายภาพทางอากาศอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรณีที่อ้างถึงการยึดครอง และใช้ชีวิตในพื้นที่ที่มีปัญหานานมากแล้วนั้น หากมองตามภาพถ่ายทางอากาศ ยืนยันได้ว่า ไม่มีการเข้าไปใช้พื้นที่
ข้อมูลของกองทัพไทย ยังได้เปรียบเทียบเส้นสีแดงในแผนที่ เป็นเส้นแนวที่ไทยยึดถือ ใช้แบ่งแนวเขตระหว่างไทย กัมพูชา และลาว ส่วนจุดปะทะที่เกิดขึ้น เป็นพื้นที่ที่เข้ามาทางฝั่งไทย
ทั้งนี้ กองทัพไทยยังมีการถ่ายทางอากาศต่อเนื่องยาวมาถึงปี 2539 , 2546 , 2553 และ 2561 เป็นที่สังเกตได้ว่าช่วง 70 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2497 ไม่มีใครเข้ามาถือครองและใช้ชีวิตในพื้นที่นั้น
พร้อมกันนี้ หากมองถึงกิจกรรมของประเทศเพื่อนบ้าน ที่ประเด็นในปัจจุบันนั้น เห็นได้อย่างชัดเจนตามภาพถ่ายทางอากาศ โดยปรากฎว่า จากภาพถ่ายมีการเคลื่อนไหวทางการทหารที่แตกต่าง เปรียบเทียบจากปี 2563 กับเดือนเมษายน 2568 มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศ และเพียงแค่ผ่านมา 1 เดือน จากเดือนเมษายน มาถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2568 ก่อนเกิดการปะทะในวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 พบการขุดคูเลตอย่างชัดเจน เพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อในการปฏิบัติการทางทหาร
นอกจากนี้ ยังได้เผยแพร่ภาพจุดปะทะทางอากาศ โดยพบว่า มีการเข้าไปตัดต้นพญาสัตบรรณให้ขวางเส้นทางเดินลาดตระเวน โดยกิจกรรมนี้เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2568
และหากดูภาพถ่ายทางอากาศเนิน 574 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2568 เป็นการเปรียบเทียบ ภาพที่ยังไม่มีการเคลื่อนไหวในการขุด แต่เมื่อผ่านไป 1 เดือน ตรวจพบการถากถางพื้นที่ ด้วยเครื่องจักรกลก่อสร้าง ใช้รถแบคโฮและเกลี่ยดิน สร้างแนวคูเลต ที่กำบังเข้าแนวยิงและเส้นทางส่งกำลังบำรุง
และหากขยับมาอีกจุดในภาพถ่ายทางอากาศที่เนิน 641 ในปี 2563 และเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2568 พบฐานทหารของกัมพูชา มีการปรับปรุงคูกำบัง เข้าแนวยิงจากเดิม รวมถึงเส้นทางส่งกำลังบำรุงและถนนลูกรัง จัดทำเป็นถนนคอนกรีตกว้าง 4-6 เมตร อย่างจริงจัง
พร้อมกันหากมาดูที่เนิน 745 พบข้อสังเกตว่า มีการเก็บภาพถ่ายทางอากาศตั้งแต่ปี 2547 และ 2563 รวมถึงต้นปี 2568 ยังไม่มีการขยับใดๆ แต่ 24 พฤษภาคม 2568 เห็นชัดเจนว่า มีการสร้างแนวคูเลตยาว และถากถางพื้นที่จากทหารฝั่งกัมพูชาทำเป็นคูติดต่อ
ซึ่งแนวคูเลตในเชิงสัญลักษณ์ทางทหาร คือแนวที่สร้างขึ้นมาในกรณีจะใช้ทางยุทธวิธี และละเมิด MOU 2543 ซึ่งระบุว่า พื้นที่ที่ยังไม่สามารถปักปันเขตแดนให้ใช้งานร่วมกันในการลาดตระเวน และทำกิจกรรมร่วมกัน แต่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศได้