9 มิถุนายน 2568 รศ.ดร.อัจฉรา ชลายนนาวิน คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา จะดูผ่อนคลายลงในระดับหนึ่งแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่ควรนิ่งนอนใจ หรืออย่าเพิ่งชะล่าใจ แต่ควรใช้โอกาสนี้เร่งเตรียมความพร้อมให้กับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนที่อาจจะได้รับผลกระทบหากเกิดเหตุความรุนแรงขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ รัฐบาลต้องมีมาตรการเร่งด่วนในการซักซ้อมแผนรับมือกับภัยพิบัติสงคราม อาทิ กำหนดจุดรวมพล จุดหลบภัย แผนการอพยพ การดูแลประชากรกลุ่มเปราะบาง เด็ก คนชรา ผู้พิการ หญิงตั้งครรภ์ การจัดทำแผนที่ชุมชนและมาตรการชุมชนเมื่อเผชิญเหตุ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้ประชาชนมีความพร้อม ไม่ตื่นตระหนก ไม่สับสนหรือขาดสติในขณะที่เกิดเหตุ
สำหรับประชาชนที่อยู่ในอาศัยในพื้นที่เสี่ยง คำแนะนำคือควรใช้เวลานี้ตระเตรียมกระเป๋าฉุกเฉิน ซึ่งมีอุปกรณ์ยังชีพพื้นฐาน เอกสารสำคัญ ยาสามัญประจำตัว ฯลฯ หากเกิดเหตุก็สามารถหยิบกระเป๋าใบนี้แล้วเดินทางไปยังพื้นที่หรือศูนย์หลบภัยได้ทันที
รศ. ดร.อัจฉรา กล่าวว่า หากเกิดการปะทะระหว่างทหารทั้งสองฝ่าย ประชาชนกลุ่มคนเปราะบางจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ฉะนั้นสิ่งที่พื้นที่หรือชุมชนต้องดำเนินการคือการจัดทำระบบเตือนภัยพิเศษ หรือกำหนดสัญลักษณ์อย่างชัดเจน ยกตัวอย่างในกรณีของผู้พิการทางสายตา ควรมีการนัดแนะทิศทางตามเข็มนาฬิกา และจำนวนก้าวที่เดิน เพื่อพาตัวเองไปสถานที่หลบภัย
รวมทั้งการจัดทำแผนที่ชุมชน เพื่อให้ทราบพิกัดว่าในแต่ละหลังคาเรือนมีผู้อยู่อาศัยกี่คน อยู่ตรงจุดไหนของหมู่บ้าน มีกลุ่มเปราะบางที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วนก่อนหรือไม่ ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ มีความสำคัญในการบริหารทรัพยากร เรียงลำดับความสำคัญการช่วยเหลือ ในภาวะภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มากไปกว่านั้น ในช่วงเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติสงคราม อาจมีประชาชนบางส่วนไม่ประสงค์อพยพไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว ด้วยเหตุผลคือห่วงบ้านเรือนและที่พักอาศัยตัวเอง ตรงนี้มีข้อเสนอคือให้ติดตั้งแอปพลิเคชันสำหรับแจ้งเตือนภัย หรือแอปพลิเคชันช่วยเหลือในการดำรงชีวิต เช่น แอปพลิเคชัน Be My Eyes ซึ่งเป็นแอปฯ ช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา ให้สามารถขอความช่วยเหลือด้านการมองเห็นจากอาสาสมัครผ่านการเชื่อมต่อวิดีโอสด
นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าวต่ออีกว่า กระบวนการวางแผนและเตรียมการที่ดี ควรเชื่อมโยงไปถึงช่วงเวลาหลังสงครามด้วย เพราะผลกระทบจากสงครามและเหตุการณ์ปะทะนั้น สร้างความสูญเสียมากมาย ทั้งทางร่างกาย จิตใจ รวมไปถึงระบบเศรษฐกิจ ที่ต้องดำเนินการฟื้นฟู กล่าวคือต้องมีแผนทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกิดเหตุ
โดยเฉพาะช่วงหลังสงคราม ควรมีนักสงคมสงเคราะห์ในการเข้าไปดูแลผู้ประสบภัย และช่วยประสานความร่วมมือ ขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ฯลฯ
“สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทีมสหวิชาชีพ เช่น นักจิตบำบัด จิตแพทย์ ฯลฯ ซึ่งจะต้องเข้าไปคุ้มครองสิทธิ และพิทักษ์สิทธิให้กับกลุ่มเปราะบาง ที่อาจจะโดนปฏิบัติด้วยความรุนแรงจากภาวะสงคราม หรือบางคนอาจถึงขั้นโดนล่วงละเมิดทางเพศมา ทีมสหวิชาชีพก็จะช่วยเหลือ ผ่านการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมาย หรือรับเรื่องร้องเรียน เพื่อขอคำสั่งศาลให้ดำเนินการคุ้มครองประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วย” รศ.ดร.อัจฉรา กล่าว