svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

กต.ปรับลดวีซ่าเขมรเหลือ 7 วัน - เตรียมเสนอตัดน้ำ-ไฟบ่อนเขมรต่อ

โฆษก กต.เผยปรับลดวีซ่าเขมรเหลือ 7 วันเช่นกัน - เตรียมเสนอตัดน้ำ-ไฟบ่อนต่อ-ย้ำสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชามีพัฒนาการบวก

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงพัฒนาการสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาล่าสุดว่า วานนี้ (8 มิ.ย.) ช่วงเย็น ฝ่ายไทยได้รับรายงานว่า กองกำลังของฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชา ได้ออกสำรวจแนวพื้นที่ และแนวคูเลตร่วมกัน และได้มีการกลบฝังพื้นที่ตามข้อตกลงร่วมกัน พร้อมทั้งปรับกำลังทั้ง 2 ฝ่าย ให้ไปอยู่ในแนวพื้นที่ที่ได้ตกลงกันไว้ ในช่วงสถานการณ์ปกติเมื่อปี 2567 แล้ว ฝ่ายไทยเห็นว่า พัฒนาทางบวกนี้ ส่งสัญญาณที่ดี สะท้อนถึงความจริงใจของกัมพูชาในการความความตึงเครียดของสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา และเป็นผลจากการเจรจาทุกระดับของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งหวังว่า จะนำไปสู่การหาทางออกอย่างสันติในระยะยาว เคารพซึ่งกันและกัน และจริงใจต่อกัน โดยเฉพาะการใช้กลไกทวิภาคีที่มีอยู่ในการสร้างบรรยากาศการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยเขตแดนไทยกัมพูชา หรือ JBC ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ 

 

สำหรับกลไก JBC นี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 เป็นกลไกทางเทคนิค เพื่อหารือการสำรวจ และจัดทำหลักเขตแดนทางบก ระหว่างไทย-กัมพูชา ที่ผ่านมามีการประชุมร่วม 10 ครัง ครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อปี 2555 ที่กรุงเทพฯ และการในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา มีความคืบหน้าหลายพื้นที่ เช่น สะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา และการก่อสร้างสะพานข้ามพรมแดนแห่งใหม่ ที่จังหวัดจันทบุรี ฝ่ายไทย จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุม JBC ที่จะถึงนี้ จะสามารถลดความตึงเครียด ของสถานการณ์ในภาพรวมที่ยังคงมีความเปราะบางอยู่ในขณะนี้ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ และความปลอดภัยของประชาชนทั้งสองฝ่าย และนำไปสู่การหาทางออกที่ยั่งยืน

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยังย้ำถึงความพร้อมของฝ่ายไทย ที่จะเข้าร่วมการประชุม JBC ด้วยความสุจริตใจ และพร้อมเห็นความร่วมมือและความตั้งใจจริงของทั้งสองฝ่ายในการทำให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีดียิ่งขึ้น รัฐบาลไทยขอยืนยันความเชื่อมั่นว่า การใช้กลไก JBC ควบบคู่กับกลไกคณะกรรมการชายแดนไทยกัมพูชา หรือ GBC, กลไกคณะชายแดนส่วนภูมิภาคหรือ RBC และการเจรจาทวิภาคีทุกระดับ ทั้งทหารและพลเรือน รวมถึงการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศ จะเป็นหนทางที่มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผลในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ เพื่อให้ทั้งสองประเทศในฐานะครอบครัวอาเซียนอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข

 

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยังย้ำถึงมาตรการการควบคุมจุดผ่านแดนต่าง ๆ ว่ายังคงมีการดำเนินมาตรการต่อไปตามการประเมินของฝ่ายความมั่นคง เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ และความปลอดภัยของประชาชนทั้งสองฝั่งชายแดน พร้อมระบุว่า ศูนย์อำนวยการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้มีประกาศจะยกระดับมาตรการป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีและการค้ามนุษย์ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เช่น การตัดกระแสไฟฟ้าและการตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ต ที่ส่งเข้าไปในพื้นที่ ที่เป็นก่อนการพนันและสแกมเมอร์ การควบคุมสินค้าและยุทโธปกรณ์ที่อาจจะนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีและอาชญากรรมข้ามชาติอื่น ๆ โดยจะนำเสนอมาตรการดังกล่าวต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ต่อไป

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยังขอความร่วมมือการระมัดระวังการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ได้รับการยืนยัน และหลีกเลี่ยงการขยายข่าวที่อาจเป็นการปลุกระดม หรือการกล่าวหาอีกฝ่ายโดย ไม่มีข้อมูลข้อเท็จจริงให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการสร้างความเข้าใจผิด และความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มเติม

 

ส่วนกรณีที่ฝ่าย ตม.กัมพูชา ลดระยะเวลาคนไทยในการพำนักในกัมพูชา สรุปการเดินทางเข้ากัมพูชาจาก 60 วัน เหลือ 7 วัน ตามการยกเว้นวีซ่านั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า ได้รับทราบมาตรการดังกล่าวแล้ว และฝ่ายไทยก็ได้มีการปรับลดจำนวนวัน เหลือ 7 วันเช่นเดียวกันแล้วเช่นกัน โดยยังไม่มีการกำหนดเวลาว่า จะดำเนินการไปถึงเมื่อใด และคงรอให้สถานการณ์ดีขึ้น

 

ส่วนกรณีที่ชาวบ้านตามแนวชายแดนกังวลถึงเรื่องความปลอดภัย จนมีการสร้างบังเกอร์ขึ้นมาเตรียมการไว้แล้วนั้น โฆษกกระทรวงต่างประเทศ ยืนยันว่าสถานการณ์ความตึงเครียดน้อยลง ปรับได้มีการปรับกำลังกลับไปอยู่สู่จุดเดิมเหมือนเมื่อปี 2567 และมีการกลบคูเลต แต่ก็ยอมรับว่า สถานการณ์ยังเปราะบาง แต่อาจจะไม่ต้องถึงจุดกังวลการเฝ้าระวัง และสัญญาที่ออกมาขณะนี้เป็นสัญญาณที่ดีมากจากทั้งสองฝ่าย แต่ก็อยากมีความเปราะบาง

 

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยังชี้แจงถึงกรณีที่ฝ่ายกัมพูชาออกแถลงการณ์ ยืนยันจะนำ 4 พื้นที่ทั้ง ช่องบก, ปราสาทตาเมือนธม, ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาควาย เข้าสู่การพิจารณาศาลโลก ไม่นำเข้ามาพิจารณาในการประชุม JBC วันที่ 14 มิถุนายนนี้ว่า ขณะนี้ ทั้งสองฝ่าย กำลังหารือเรื่องวาระการประชุม จึงยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า จะมีการคุยหรือไม่ แต่ทั้งสองฝ่ายก็มีสิทธิ์สงวนประเด็นที่พร้อมคุยหรือไม่พร้อมคุย จึงขอให้รอเวลาเพื่อความชัดเจน ตอนนี้กำลังพยายามหาข้อสรุปร่วมกันอยู่