การเมืองสัปดาห์นี้ ต้องบอกได้เลยว่าเข้าสู่วาระร้อนระอุกลางฤดูฝน ชนิดลุ้นระทึก จะเป็นไปเหมือนที่มีข่าวปล่อยให้เกิดความร้าวฉานพรรคร่วมรัฐบาล นั่นคือ กระแสข่าวพรรคภูมิใจไทย ขู่คว่ำ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี2569 เพื่อหวังผลให้ขาเก้าอี้นายกฯหักสะบั้น กลางทำเนียบหรือไม่
แม้ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะออกมาสยบข่าวดังกล่าวแล้ว ด้วยการยืนยันพรรคภูมิใจไทย พร้อมโหวตสนับสนุนร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ขณะที่นายกฯแพทองธาร ได้เรียกประชุมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล หลังประชุม ครม. เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เพื่อเช็กความมั่นใจ ด้วยการออกมาแถลงยืนยันนอนยันเช่นกัน ทุกพรรคสนับสนุนร่างพร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569
แต่อย่างที่กล่าวข้างต้น ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี69 จะนำเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมสภาสมัยวิสามัญ ระหว่างวันที่ 28-30 พฤษภาคมนี้ หากแต่ว่า เนื้อในร่างกม.งบปี 69 วงเงิน 3.780 ล้านล้านบาท ถูกเคลือบแฝงด้วยความต้องการของฝ่ายการเมืองที่อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล ในการผลักดันเม็ดเงินก้อนมหาศาลกระจายไปยังกระทรวง ทบวง กรม ที่ตนเองกำกับดูแลด้วยกันทั้งสิ้น
ดังนั้น เมื่อผลประโยชน์ลงตัว จึงเป็นเป็นไปได้ยากที่พรรคร่วมจะสกัดขัดขวางล้มร่างกม.งบประมาณ
ทว่า หลักใหญ่ใจความ จึงควรเข้าไปดูเนื้อในการจัดรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ให้แต่ละกระทรวง ทบวง กรม มากกว่า
เพราะงบประมาณแผ่นดินก้อนนี้ นอกจากเป็นการอัดฉีดการลงทุนผ่านโครงการสำคัญๆของกระทรวงต่างๆแล้ว ยังเล็งผลเลิศผ่านการกระจายเม็ดเงินลงสู่ท้องถิ่น เพื่อหวังสะสมตุนคะแนน สร้างความนิยมก่อนมีการเลือกตั้งปี 2570 นี่ต่างหาก คือ ประเด็นสำคัญ
ทางด้านนักวิชาการอย่าง รองศาสตราจารย์ ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ให้ความเห็นกับเนชั่นทีวีว่า โอกาสพรรคร่วมรัฐบาลจะคว่ำงบฯ กลางสภา เป็นไปไม่ได้ ถ้าพรรคภูมิใจไทยต้องการคว่ำงบ ความเสียหายจะตกสู่พรรคภูมิใจไทยในระยะยาว ทำนองตรงข้ามพรรคเพื่อไทยจะหยิบประเด็นที่พรรคภูมิใจไทยล้มร่างพ.ร.บ.งบรายจ่ายประจำปี 2569 ไปบอกประชาชนได้ว่า มีพรรคการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลขัดขวางการพัฒนาประเทศ ด้วยการจ้องล้มงบประมาณ ฉะนั้นเมื่อประเมินสถานการณ์ที่การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ในการประชุมสภาวิสามัญ 28-30 พ.ค.นี้ จึงยากที่จะเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง
ส่องงบฯปี 69 รายกระทรวง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นการจัดสรรปันประโยชน์ งบประมาณแต่ละกระทรวง มิอาจคาดสายตาการตรวจสอบจากพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชนไปได้ โดยได้ตระเตรียมขุนพลชำแหละงบปี 69 กันไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
คราวนี้เรามาดูร่างกม.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 69 ตามที่ ครม.แพทองธาร ส่งเข้าสภาเพื่อบรรจุระเบียบวาระพิจารณา เป็นอย่างไรบ้าง
จำแนกตามประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้
1. จำแนกตามกลุ่มงบประมาณ ดังนี้
กลุ่มงบประมาณ จำนวน (ล้านบาท)
1. รายจ่ายงบกลาง 632,968.7500
2. รายจ่ายของหน่วยรับงบ 1,408,060.3287
3. รายจ่ายบูรณาการ 98,767.8186
4. รายจ่ายบุคลากร 820,820.8104
5. รายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน 274,576.8057
6. รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ 421,864.4264
7. รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 123,541.0602
2. จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบปี69 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ
ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบฯ ปี 69
1) ด้านความมั่นคง 415,327.9413 ล้านบาท
2) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 394,611.6456 ล้านบาท
3) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 605,927.2575 ล้านบาท
4) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 942,709.1735 ล้านบาท
5) ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 147,216.8998 ล้านบาท
6) ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 605,441.5957 ล้านบาท
โดยมีรายการค่าดำเนินการภาครัฐ จำนวน 669,365.4866 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การชำระหนี้ภาครัฐ และเพื่อชดใช้เงินคงคลัง
เอ็กซเรย์ จัดซื้อ“ยุทโธปกรณ์” ผ่านงบ69
เนชั่นทีวี ขอโฟกัส งบฯกระทรวงกลาโหม ดูบ้าง การที่เหล่าทัพทุ่มงบจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ก็เป็นส่วนสำคัญของการแสดงแสนยานุภาพกองทัพในการสร้างความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งเป็นผลจากมติ ครม.สมัยรัฐบาล “ลุงตู่” แต่จนถึงขณะนี้ รัฐบาลแพทองธาร โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ยังไม่แน่ชัดเลยว่า กองทัพเรือ จะมีเรือดำน้ำหรือไม่ หรือมีแต่โครงเรือ เครื่องยนต์ รอก่อน หลังการปฏิเสธทางฝ่ายเยอรมัน ทำให้เราต้องกลับมาดูท่าทีจีนและฝ่ายเราเองจะว่าอย่างไร ทั้งข้อเสนอใช้เครื่องยนต์จีน หรือ ถ้าไม่เอา จะยอมทิ้งค่างวดที่กำลังจะเป็นค่าโง่ กว่า 7,000 ล้านบาทหรือไม่ ล้วนอยู่บนความไม่แน่นอนและรอการตัดสินใจของผู้นำทางการเมืองทั้งสิ้น
เมื่อเอ็กซเรย์ความเคลื่อนไหวการจัดทำงบของเหล่าทัพร่วมกับสำนักงบประมาณ ทำให้พบว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ในส่วนของ กองทัพเรือ ไม่ได้ตั้งงบผูกพัน "เรือดำน้ำ" ไว้ โดยมีการเสนอคำของบ ซื้อเรือฟริเกต 2 ลำ แต่ทางสำนักงบประมาณได้ส่งเรื่องกลับมาที่กระทรวงกลาโหม และให้ซื้อแค่ 1 ลำ วงเงิน 1.75 หมื่นล้านบาท/ลำ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจา เนื่องจาก ทร.ยืนยันความต้องการ
ขณะที่ กองทัพอากาศนั้น ที่ประชุมครม.เตรียมอนุมัติแบบเครื่องบินขับไล่โจมตีฝูงใหม่ของ ทอ. (กริฟเพน 4 เครื่อง วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท เสนอผูกพันงบประมาณปีแรก(ปี 69) วงเงิน 2.8 พันล้านบาท) ภายในสัปดาห์นี้ หรือสัปดาห์หน้า แว่วมาว่าหลังครม.อนุมัติ ในส่วนกองทัพอากาศจะมีการแถลงอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 4 มิ.ย.นี้
ในส่วนของกองทัพบก พบว่ามี โครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์อเนกประสงค์ (แบล็กฮอว์ก 3 เครื่อง (มือสอง) ) วงเงิน สองพันสี่ร้อยกว่าล้านบาท รถรบโครงการต่อเนื่อง ซ่อมอากาศยาน มูลค่ารวมนับหมื่นล้านบาท และมีการตั้งงบในปี 69 โครงการซ่อม ฮ. MI 17 และจัดซื้อรถถัง VT4 อีกด้วย
อัดฉีดงบ 69 ลงท้องถิ่นรับเลือกตั้งปี 70
ความน่าสนใจ การจัดสรรงบให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปี 69 พบว่า เพิ่มขึ้นทุกรายการเมื่อเทียบกับปี 68 ไม่ว่าเป็นเงินอุดหนุน กรุงเทพมหานคร / เมืองพัทยา / อบจ./ เทศบาลนคร / เทศบาลเมือง/ เทศบาลตำบล / อบต./
ทั้งนี้ ประเทศไทยเพิ่งผ่านการเลือกตั้ง นายกอบจ. / นายกเทศมนตรี ไปไม่นาน ถือเป็นการตระเตรียมงบประมาณอุดหนุนรองรับ อย่างพร้อมสรรพ ในทางการเมืองมิอาจปฏิเสธได้เลยว่า การจัดสรรงบเพื่อลงไปพัฒนาท้องถิ่น ย่อมได้รับความนิยมสร้างฐานคะแนนเสียงสะสม เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งที่กำลังจะมาถึง หรือการเลือกตั้งปี 2570 ก็เป็นได้
สำนักงบประมาณ ได้ให้เหตุผล การปรับเพิ่มงบไว้ว่า เพื่อให้การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสอดคล้องกับกับหลักการตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้มีการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้นและสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณานำเงินนอกงบประมาณหรือเงินสะสมมาใช้สมทบงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อดำเนินโครงการลงทุนในท้องถิ่นมากขึ้น
จึงเห็นสมควรจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 389,527.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จำนวน 11.131.9 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 2.9 ทำให้ประมาณการรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีจำนวนที่นำมามาคิดสัดส่วนทั้งสิ้น 859,479.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 19,838.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.4 และคิดเป็นสัดส่วนรายได้ขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาล (ไม่รวมเงินกู้) ร้อยละ 29.43