svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิด 5 แนวทาง "ยิ่งลักษณ์" จ่าย 3.5 หมื่นล้าน คดีจำนำข้าวหรือไม่

“ดร.ณัฏฐ์” ชี้ 5 แนวทาง คดี "นโยบายจำนำข้าว" ลุ้น "ยิ่งลักษณ์" ต้องชดใช้ 3.5 หมื่นล้าน หรือไม่ ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษา บ่ายนี้

22 พฤษภาคม 2568 วันนี้ ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษา คดีที่กระทรวงการคลังยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางที่สั่งเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 13 ต.ค. 2559 ที่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีปล่อยให้มีการทุจริตใน "โครงการรับจำนำข้าว" และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ราชการ เป็นเงิน 35,717,273,028 บาท  ซึ่งคดีนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามี ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ระบุว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

และเนื่องจากศาลปกครองกลางในขณะนั้น เห็นว่า กระทรวงการคลัง ยอมรับว่า "ไม่มีหลักฐานแน่ชัด" ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายโดยตรง และขั้นตอนการตรวจสอบของคณะกรรมการสอบสวนความรับผิดทางละเมิดก็ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด จึงมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ทำให้กระทรวงการคลังยื่นอุทธรณ์ต่อ

ล่าสุด ดร.ณัฏฐ์ ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน ได้ให้ความรู้กฎหมายมหาชนและอธิบายว่า แนวทางคำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุด สามารถออกได้หลายแนวทาง เพราะศาลปกครองสูงสุด สามารถ "ยืน ยก กลับ" แก้ศาลปกครองชั้นต้นได้ 

ต้องไล่เรียงกันว่า คดีนี้ ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนคำสั่งให้ชดใช้เงินของกระทรวงการคลัง คำสั่งให้ชดใช้เงิน เป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 5 แห่ง พระราชบัญญัติวิธีปฎิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ออกมาได้หลายช่องทาง 

  1. หากพิพากษา "ยืน" เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง  มีผลให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ต้องรับผิดตามคำสั่งของกระทรวงการคลัง
  2. หากพิพากษา "กลับ" ถือว่าคำสั่งทางปกครองของกระทรวงการคลังมีผลใช้บังคับ กระทรวงการคลังต้องฟ้องให้นางสาวยิ่งลักษณ์ฯ รับผิดตามมูลหนี้เงิน และนำไปสู่การยึดทรัพย์ จะไปยึดทรัพย์ทันทีไม่ได้ เพราะไม่ใช่หนี้ภาษีอากร และคำสั่งกระทรวงการคลัง มิใช่คำพิพากษาของศาล 
  3. ศาลปกครองสูงสุดอาจ "แก้ไข" ในส่วนของจำนวนเงินให้รับผิดได้ หากพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นในส่วนของยอดเงินที่ต้องรับผิด 
  4. หากศาลปกครองสูงสุดพิพากษา "ยืน" ตามศาลปกครองชั้นต้น ไม่มีผลกระทบต่อคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พิพากษาจำคุก 5 ปี และคดีถึงที่สุดแล้ว เพราะไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดให้ศาลฎีกาถือตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และมิใช่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ผูกพันทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญมาตรา 211 วรรคท้าย และมิใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา ตาม ป.วิอาญามาตรา 46
  5. กรณีที่ยึดบ้านและนำไปขายทอดตลาดไปแล้ว หากเกี่ยวพันในมูลหนี้ที่กระทรวงการคลังสั่งให้จ่ายตามนโยบายโครงการจำนำข้าว หากเป็นมูลหนี้เดียวกัน รัฐต้องคืนเงิน พร้อมค่าเสียหายให้แก่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เฉพาะมูลค่าทรัพย์ราคาบ้านพร้อมทรัพย์สินเท่านั้

ย้อนดูคดีจำนำข้าว  "ยิ่งลักษณ์" ถูกดำเนินคดีใน 2 ส่วน

  1. คดีอาญาซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ 5 ปี ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นเหตุให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หลบหนีคดีออกจากไทยมาจนถึงขณะนี้
  2. คดีทางปกครอง หรือทางแพ่ง ที่กระทรวงการคลัง ออกคำสั่งให้ชดใช้ความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวกว่า 35,717 ล้านบาท พร้อมกับออกคำสั่งอายัดทรัพย์ ซึ่งมีการอายัดทรัพย์สินไปแล้วบางส่วนก่อนหน้านี้

ขณะที่ คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายจำนำข้าว มีผู้ถูกกล่าวหา 2 คน คือ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และ นายภูมิ สาระผล โดยทั้งสองได้ถูกศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกไปแล้ว 42 ปี และ 36 ปี ตามลำดับ ต่อมาได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษเรื่อยมา กระทั่งได้รับการพักโทษเมื่อปี 2567-2568 ที่ผ่านมา