svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เลื่อน"แจกเงินหมื่น" สะท้อนคลังไม่พร้อม เร่งดัน "G-Token" หวังเบี่ยงความสนใจ

"ศ.ดร.เกรียงศักดิ์" มอง  รัฐบาลไม่ได้ "ถังแตก" แต่ "คลังใกล้ตัน" ชี้ชัด เลื่อนแจกเงินหมื่นสะท้อนคลังไม่พร้อม  ระบุ เร่งดัน "G-Token" หวังเบี่ยงความสนใจกลบดราม่าการเมือง เหตุ "ดิจิทัลวอลเล็ต" วืด ทำประชานิยมติดดอย

21 พฤษภาคม 2568 ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (ดร.แดน) ประธานสถาบันการสร้างชาติ และนักวิชาการอาวุโสมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็น "รัฐบาลไทยใกล้ถังแตก" จริงหรือไม่? โดยวิเคราะห์ผ่านเลนส์การคลัง การเมือง และการใช้ G-Token ว่า รัฐบาลไทย "ใกล้ถังแตก" นั้น ไม่ใช่เพียงวาทกรรม แต่กำลังกลายเป็น "ความรู้สึกจริง" ของสังคม โดยเฉพาะเมื่อมีการประกาศชะลอ "ดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 3" วงเงินกว่า 1.57 แสนล้านบาท และกลับดัน "G-Token" งบ 5 พันล้านขึ้นมาแทน ทั้งสองประเด็นนั้นสะท้อนสัญญาณบางอย่างที่ประชาชนควรจับตา 

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (ดร.แดน) ประธานสถาบันการสร้างชาติ และนักวิชาการอาวุโสมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา
 
1. รัฐบาลไม่ได้ถังแตก...แต่ใกล้ "ช่องแคบการคลัง"

ประเทศไทยยังมีฐานะการคลังโดยรวมที่ไม่ถือว่า "ล้มละลาย" หนี้สาธารณะยังไม่ทะลุกรอบวินัยการคลังที่ 70% ของ GDP แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ "คลังใกล้ตัน" กล่าวคือ งบประมาณที่จัดสรรไว้ "ใช้ได้จริง" น้อยกว่าที่คิด สภาพคล่องต่ำ การจัดเก็บรายได้รัฐพลาดเป้าต่อเนื่อง ขณะที่ภาระรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นทุกปี (โดยเฉพาะเงินเดือนและบำนาญราชการ) ดังนั้น การชะลอโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ใช่แค่ "ยังไม่พร้อมทางเทคนิค" แต่คือ "ยังไม่พร้อมทางการคลัง"


 

2. G-Token กับ "การเบี่ยงทิศทาง" และเส้นทางลัดทางการเมือง

ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์และการเมือง การที่รัฐบาลดึง G-Token ขึ้นมาเร่งผลักดันในช่วงที่วอลเล็ตเฟส 3 ถูกเลื่อนออกไป สะท้อนการ "เบี่ยงทิศทางความสนใจ" จากโครงการที่เป็นภาระการคลังมหาศาล มาสู่เครื่องมือที่ดู "ล้ำ" และไม่กินงบแผ่นดินตรง ๆ ในตอนแรก แต่ในทางปฏิบัติ G-Token กลับใช้เงินจากงบกลาง 5,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบที่ควรใช้ในภาวะฉุกเฉินหรือเพื่อประโยชน์ส่วนรวมที่ชัดเจน การเร่ง G-Token จึงสะท้อนว่า รัฐบาลอาจกำลังพยายามใช้ "เครื่องมือการคลังแบบทางอ้อม" สร้างความรู้สึกว่ามีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งที่ในเชิงโครงสร้างยังไม่มีความชัดเจนเรื่องความคุ้มค่า กลไก และระบบตรวจสอบ

ดร.แดน ระบุด้วยว่า  G-Token คือกระจกเงาที่สะท้อนความพยายามของรัฐบาลในการหาทางออกจากมุมตันทางการคลัง โดยใช้กลยุทธ์ "ใหม่ ล้ำ แต่ไม่แน่นอน" เป็นความขลาดที่จะบอกประชาชนตามตรงว่า "เรายังไม่มีเงินมากพอ" ซึ่งหากปล่อยให้กลายเป็น "กลไกหลบภาษีงบประมาณ" อนาคตการคลังไทยจะมีต้นทุนความเชื่อมั่นสูงกว่าที่เงินกู้ใด ๆ จะชดเชยได้ และหาก G-Token ถูกนำมาขายก่อนครบกำหนดสัญญาในตลาดรอง ก็อาจจะไม่ได้ราคาที่ผู้ลงทุน หรือผู้บริโภคคาดหวังไว้ หากอุปสงค์อุปทานช่วงนั้นส่งผลให้ขายก่อนกำหนดได้ราคาที่ต่ำกว่าที่ลงทุนไว้ก็อาจนำมาสู่การตำหนิหรือฟ้องร้องพรรคการเมืองที่เป็นเจ้าของความคิดนี้

อย่างไรก็ตาม G-Token นับเป็นเส้นทางลัดทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยที่จะทำให้เกิด Quick win และกอบกู้ชื่อพรรคเพื่อไทยเรื่องเศรษฐกิจ โดยเป็นการส่งสัญญาณให้ต่างประเทศว่า ไทยทันโลก ซึ่งหากทำสำเร็จจะอ้างได้ว่าเป็นผู้นำหรือศูนย์กลางการเงินด้านดิจิทัลระดับผู้บริโภคในอาเซียน (สิงคโปร์เป็นผู้นำหรือศูนย์กลางการเงินโดยทั่วไปในระดับสถาบันใหญ่) และอาจขยายเป็นการดึงดูดเงินจากต่างประเทศ

3. สัญญาณที่ประชาชนควรมองให้ขาด

• การเลื่อนวอลเล็ตคือสัญญาณว่า เงินไม่มีพอ หรือ ไม่สามารถกู้เพิ่มได้ในเงื่อนไขที่คุ้มค่า

• การผลัก G-Token คือความพยายาม เร่งเร้าเศรษฐกิจในรูปแบบที่ไม่ต้องขอผ่านสภา

• การเบี่ยงจาก "ของใหญ่" (100,000 ล้าน) ไปสู่ "ของใหม่" (5,000 ล้าน) สะท้อนการขยับพื้นที่การคลังเพื่อให้รัฐบาลดูมีผลงาน

• เครดิตไม่ใช่ "เงิน" และไม่ควรเข้าใจว่า G-Token คือ การเยียวยา 
 


"นี่ไม่ใช่การ "หมดตัว" แต่คือการบริหารท่ามกลางความอึดอัดของนโยบายประชานิยมที่ "ติดดอย" เพราะหาแหล่งเงินใหม่ไม่ได้ และเกรงผลกระทบเชิงการเมืองหากต้องยอมรับว่าโครงการใหญ่ ทำไม่ได้จริง" 
 

และ4. ข้อเสนอจากมุมประโยชน์ชาติ

แทนที่จะเดินหน้ากับโครงการที่ยังไม่มีระบบรองรับ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เสนอว่า รัฐบาลควร ปรับแผนวอลเล็ตให้สอดคล้องกับรายได้จริง ไม่ใช่เพ้อฝันตามนโยบายหาเสียง  ขณะเดียวกันควรใช้ G-Token อย่างโปร่งใส มีการประเมินผลกระทบล่วงหน้า (ex-ante impact assessment) มีระบบติดตามผล และควรสร้าง "ภาวะคล่องตัวทางนโยบาย" โดยเปิดเวทีให้สาธารณะเข้ามาตรวจสอบ วางกรอบการใช้เงินอย่างชัดเจน
 
ทั้งนี้ รัฐบาลยังไม่ถึงขั้น "ถังแตก" แต่กำลังอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า "ปิดรูรั่วไม่ทันน้ำไหล" หากยังใช้นโยบายแบบกระจายเงินโดยไม่มีฐานรองรับ 

"เราอาจไม่ได้เจอแค่ปัญหาเงินไม่พอ แต่จะเจอกับ "วิกฤตศรัทธาทางการคลัง" ซึ่งร้ายแรงกว่าเสียอีก เพราะในที่สุดแล้ว… ประเทศที่ไม่มีเงินยังพอเยียวยาได้ แต่ประเทศที่ประชาชนไม่เชื่อมือรัฐบาลเรื่องเงิน  นั่นต่างหากที่วิกฤตของจริง" ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวสรุป