21 พฤษภาคม 2568 เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เชิญตัว นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี หรือ นายกฯเศรษฐ์ นายก อบจ.ปัตตานี เข้าให้ปากคำ ที่สำนักงานอัยการภาค 9 จ.สงขลา ในคดีที่ถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ของทางราชการโดยมิชอบ
ทั้งนี้ ทาง ป.ป.ช.เข้าพบ นายกเศรษฐ์ ถึงที่สำนักงานเพื่อเชิญตัวส่งอัยการ ทำให้มีกระแสวิจารณ์ในพื้นที่มากพอสมควร โดยการเชิญตัวดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นายกฯเศรษฐ์ กรณีนำรถยนต์ส่วนกลาง ของ อบจ.ปัตตานี ไปใช้ส่วนตัว และเดินทางไปท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา
และสำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อถอดถอน ภายใน 30 วัน โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบวินัยอีก และให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ได้ส่งสำนวนและเอกสารถึงอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีต่อศาลซึ่งมีเขตอำนาจ และแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ กกต. ทราบ ซึ่งนายเศรษฐ์ ผู้ถูกกล่าวหา ได้ยื่นขอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยตรง และขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยื่นทบทวนมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. 2 ครั้ง ในปี 2567
โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น มีความเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหา ได้ขอให้ทบทวนมติ แต่ไม่ได้มีพยานหลักฐานใหม่ และอยู่ระหว่างพิจารณาของกระทรวงมหาดไทย และได้ทำความเห็นเสนอปลัดกระทรวงมหาดไทยว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดปี 2560 – 2561 ซึ่งอยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง คสช. ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งระหว่าง วันที่ 14 ตุลาคม 2555 ถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 จึงได้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่นายก อบจ.ปัตตานี ในวาระที่กระทำความผิดไปแล้วเกิน 2 ปี
ดังนั้น จึงไม่สามารถขอให้รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยถอดถอนบุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งนายก อบจ.ปัตตานี ได้
แต่ในส่วนสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 9 ประชุม 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2567 มีมติไม่ทบทวนมติเดิม ที่ชี้มูลความผิด เนื่องจากหนังสือขอความเป็นธรรมและขอทบทวนมติของผู้ถูกกล่าวหา มิใช่หนังสือของผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน และไม่มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใหม่
ครั้งที่ 2 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประชุม เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2568 เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงในชั้นไต่สวน และอัยการสูงสุดมีคำสั่งรับดำเนินคดีเรื่องดังกล่าวแล้ว ประกอบกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยมีมติไม่ทบทวนฯ จึงได้มีมติไม่ทบทวนมติเดิม
ทั้งนี้ ได้มีหนังสือแจ้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อทราบและดำเนินการส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนการดำเนินคดีอาญา แม้สำนักงานคดีปราบปรามทุจริตภาค 9 ได้แจ้งไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. ให้ส่งตัวผู้ถูกกล่าวหาไปพบอัยการ เพื่อฟ้องต่อศาลอาญาแผนกคดีทุจริตฯ ภาค 9 ในวันที่ 29 ส.ค.2567 แต่ผู้ถูกกล่าวหามอบอำนาจยื่นคำร้องต่ออัยการขอเลื่อนการฟ้องคดีออกไป
โดยอัยการมีความเห็นว่า มีเหตุอันสมควร จึงอนุญาตให้เลื่อน 3 ครั้ง คือ
16 ธ.ค. 2567 อัยการกำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหาไปรายงานตัว แต่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ไปรายงานตัว และมอบอำนาจเพื่อขอเลื่อนฟ้องคดีเป็นครั้งที่ 4
22 ม.ค. 2568 ผู้ถูกกล่าวหามอบอำนาจผู้รับมอบอำนาจ ให้เลื่อนฟ้องคดีเป็นครั้งที่ 5 อัยการจึงได้มีหนังสือแจ้งผู้ถูกกล่าวหาไปรายงานตัว ต่ออัยการเพื่อฟ้องต่อศาล
ในวันที่ 6 ก.พ. 2568 ผู้ถูกกล่าวหา ไปรายงานตัวต่ออัยการ แต่ไม่ไปศาล โดยอ้างว่าอยู่ในระหว่างขอความเป็นธรรม ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทบทวนมติ
อัยการจึงมีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาไปรายงานตัวอีกครั้งวันที่ 11 มี.ค. 2568 ล่าสุดทราบว่ายังไม่ไปรายงานตัว สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ประสานงานและติดตามความคืบหน้าไปทางอัยการสูงสุด
ทั้งนี้ หากอัยการส่งฟ้องและศาลที่มีเขตอำนาจประทับรับฟ้อง จะมีผลให้ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่
นอกจากนี้ ป.ป.ช.ปัตตานี ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า กรณีดังกล่าวมีการเลื่อนมาหลายรอบ และรอบนี้ ทางอัยการไม่ให้เลื่อน ส่วนจะได้ประกันตัวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามกระบวนการ
ทั้งนี้ นายกเศรษฐ์ เพิ่งชนะเลือกตั้งนายก อบจ.ปัตตานี ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ดำรงตำแหน่งผู้นำ อบจ.เป็นสมัยที่ 5 เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2568 ที่ผ่านมา