19 พฤษภาคม 2568 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กลุ่มสมาชิกวุฒิสภา(สว.)ที่ได้รับหนังสือเรียกจาก กกต. ชุดแรกทยอยเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาในคดีฮั้วเลือก สว. และชี้แจงกับ กกต.
โดย พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 กล่าวภายหลังเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา ว่า เจ้าหน้าที่ได้มีการซักถามตามปกติ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นประเด็นใดบ้าง
เมื่อถามว่า ใช้สิทธิ์ชี้แจงด้วยวาจาไม่ใช่การชี้แจงด้วยเอกสารภายหลังใช่หรือไม่ พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า ก็ทำทุกอย่าง อะไรทำได้ก็ต้องทำ
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ก่อนเดินทางมาชี้แจงได้มีการหารือกับเพื่อน สว. หรือไม่ พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า มีการคุยกันอยู่แล้วว่าจะต้องทำอย่างไร อย่างน้อยต้องมารับทราบข้อกล่าวหาก่อน ตนรู้สึกโล่งใจมาตลอด หลังรับทราบข้อกล่าวหาก็ไม่ได้รู้สึกหนักใจอะไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนจะถูกตรวจสอบเรื่องฮั้ว สว. เคยถูกสอบเรื่องอื่นมาก่อน เช่น เรื่องคุณสมบัติหรือไม่ พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า ไม่มี
ส่วนที่ นางนันทนา นันทวโรภาส สว. เตรียมล่ารายชื่อ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้สว. ที่ถูกออกหมายเรียก หยุดปฏิบัติหน้าที่ พล.อ.เกรียงไกร ย้อนถามว่า มันทำได้หรือเปล่า
ส่วนการที่ประธานสว. และรองประธานสว. ถูกตั้งข้อกล่าวหาจะกระทบต่อภาพลักษณ์วุฒิสภาหรือไม่ พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า ก็แล้วแต่สื่อมวลชน
นอกจากนี้ นายนิพนธ์ เอกวานิช สว. เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาเช่นกัน พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า ไม่มีอะไร มาชี้แจง และวันนี้เตรียมข้อมูลมาพร้อม
เมื่อถามว่า หลักฐานที่นำมาแก้ข้อกล่าวหามีอะไรบ้างนั้น นายนิพนธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องข้อกฎหมายต่างๆ
ส่วนจะต่อสู้อย่างไรนั้น นายนิพนธ์ กล่าวว่า ขอดูหลักฐานเพิ่มเติม เพราะที่มีการกล่าวหานั้นเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่ชัดเจน ตนก็จะขอตอบเป็นลายลักษณ์อักษร
ทั้งนี้จังหวะที่นายนิพนธ์ เดินเข้าไปเพื่อให้ข้อมูลกับกกต. พบว่า พยายามหาทางเดินเลี่ยงผู้สื่อข่าว แต่เจ้าหน้าที่กกต. หน้าห้องสอบสวนเห็น จึงตะโกนถามว่า "สว.ใช่หรือไม่" นายนิพนธ์ ตอบว่า "ใช่" ก่อนย้อนถามกลับว่า "มีผู้สื่อข่าวหรือไม่" ทำให้ผู้สื่อข่าวได้ยินจึง สามารถบันทึกภาพขณะที่นายนิพนธ์เดินเข้าห้องสอบสวนได้
อีกราย นายสิทธิกร คงยศ สว. ซึ่งได้รับหนังสือให้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหาเช่นกัน ได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาก่อนเวลานัด พร้อมเปิดเผยว่า ส่วนตัวมั่นใจว่าทำตามกฎหมายและระเบียบ แต่กังวลเรื่องการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพราะครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่DSI เข้ามาทำคดีให้กับ กกต. ฉะนั้นการทำคดีของดีเอสไอถ้าได้รับการพิจารณาก็จะเป็นบรรทัดฐาน ในการทำคดีเลือกตั้งอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งทั่วไป หรือการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือที่จะแทรกแซ งกกต.
ทั้งนี้ นายสิทธิกร กล่าวว่า DSI จะต้องพิสูจน์การทำงานของตัวเอง อยู่ในอำนาจหน้าที่หรือไม่ ถ้าครั้งนี้ผ่าน ก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานให้มีครั้งต่อไป จึงเป็นห่วงอนาคต เพราะDSI ขึ้นกับกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีรัฐมนตรีที่สังกัดพรรคการเมือง ถ้ารัฐมนตรีที่สังกัดพรรคการเมืองมาทำคดีเกรงว่าจะไม่เป็นธรรม ในขณะที่ กกต. เป็นองค์กรอิสระไม่ขึ้นตรงกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่แล้ว
ส่วนที่มี สว. บางคนเรียกร้องให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่และลาออกจากตำแหน่ง นายสิทธิกร กล่าวว่า ตามกฎหมายเรายังปฏิบัติหน้าที่ได้ คิดว่าไม่น่าจะเอามาเป็นประเด็น เพราะจะเป็นการรับลูกกันระหว่างDSI และสว.สำรองที่เป็นเสียผลประโยชน์ ส่วน สว. อีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังรวบรวมรายชื่อสามารถทำได้ก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้
เมื่อถามว่า คิดว่าเรื่องนี้เป็นกระบวนการกลั่นแกล้งหรือไม่ นายสิทธิกร กล่าวว่า ไม่ใช่การกลั่นแกล้งแต่อยากจะเปรียบเทียบว่า การเลือกตั้งระดับประเทศ มีกลุ่มหนึ่งออกข่าวอย่างเปิดเผย และก่อนการเลือกตั้งระดับประเทศก็มีการจัดตั้งกลุ่มรวมตัวกันที่โรงแรมอย่างต่ำ 500 คน เรื่องนี้มีการเผยแพร่ทางโซเชียลและมีเอกสารออกมาชัดเจน สว. ที่เสียผลประโยชน์ก็อยู่ในกลุ่มนั้น ขณะมี สว. อีกกลุ่มหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับนักการเมืองหนึ่ง เข้าร่วมอยู่ในกระบวนการเช่นเดียวกัน แต่ตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มที่จัดตั้งขึ้นนี้ ทำไมDSI ไม่เข้าไปพิสูจน์ความเป็นธรรมเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 200 คนบ้าง และถ้าจะให้ความเป็นธรรม ทำคดี สว. ตัวจริง 200 คนอย่างตรงไปตรงมาพร้อมกับสำรองอีก 100 คน รวมเป็น 300 คน เอาเอกสารตรวจสอบให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับผู้ที่ได้รับหมายเรียก
ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าเพราะสาเหตุใดจึงถูกแจ้งข้อกล่าวหา นายสิทธิกร กล่าวว่า เป็นภาพรวมไม่ได้มีอะไร ไม่ได้มีการระบุชัดเจนเป็นการพูดถึงภาพรวมมากกว่า ในส่วนของเรื่องการใช้ AI ตรวจสอบนั้น ต้องแจ้งว่า ต้องการอะไรขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของผู้ใช้ว่าต้องการอะไร แต่ DSI ได้ใช้ AI ที่ได้มาตรฐานหรือได้รับการรับรองหรือไม่ อยู่ดีๆก็กล่าวอ้างว่า AI มีความเที่ยงธรรม เหมือนกับกรณีที่ตึก สตง. ถล่ม ซึ่งใช้ AI ตรวจสอบหน่วยงานราชการรับรอง ดังนั้นดีเอสไอต้องชี้แจงให้ประชาชนได้ทราบไม่ใช่กล่าวอ้างขึ้นมาเฉยๆ
ส่วนที่ระบุว่า สว.ที่ได้รับหมายเป็น สว.สีน้ำเงินนั้น นายสิทธิกร กล่าวว่า ไม่ทราบ คะแนนทำให้คนสามารถลงคะแนนได้ตามโพยที่ออกมา ตนก็ไม่ทราบ เพราะการลงคะแนนเป็นการลงคะแนนแบบลับ จึงไม่ทราบว่าผลการลงคะแนนจะออกมาเป็นแบบไหน พร้อมยกตัวอย่างการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล คนเฒ่าคนแก่ที่จำไม่ได้ กปน. ก็ได้ชี้แจงพร้อมจดหมายเลขให้ ก็ไม่เห็นกกต. จะว่าอะไร ผลที่ออกมาก็ได้ยกทีมทั้งนั้น จึงอยากจะเปรียบเทียบเรื่องนี้กับการเลือกตั้งเทศบาลที่มีการกาซ้ำกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยังมี สว.ที่ได้รับหมายเรียกทยอยเดินทางเข้าพบกกต.เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาและชี้แจงกับเจ้าหน้าที่กกต. อาทิ นายเศก จุลเกษร