svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ใครเอ่ย? เลขาธิการพรรคดัง โดนศาลฎีกาสั่งใช้หนี้นักธุรกิจ อุดรฯ

ใครเอ่ย? เลขาธิการพรรคดัง อดีตแฟนดาราดาวร้าย ถูกศาลฎีกาสั่งใช้หนี้เสี่ยนักธุรกิจ อุดรฯ หลังโทรยืม 2 ล้าน แต่คืนไม่ครบ

16 พฤษภาคม 2568  มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 ศาลจังหวัดอุดรธานี อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเเพ่ง ที่นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล หรือ“เสี่ยต้อยติ่ง” นักธุรกิจชื่อดังชาวอุดรธานี ยื่นฟ้อง สส.ชื่อดัง ซึ่งดำรงตำเเหน่งเลขาธิการพรรค พรรคการเมืองเเห่งหนึ่ง กับดารานางร้ายชื่อดัง เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิด ฐานผิดสัญญาทางแพ่ง(ยืมเงินแล้วไม่คืน )

 

โดยคำฟ้อง ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อช่วงกลางเดือน มิ.ย.2560 จำเลยที่ 1 โทรศัพท์ มาขอยืมเงินโจทก์ 2 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ประกันตัวนายอินทรศักดิ์ เตชธีรสิริ หรือบอย ยูนิตี้ โดยให้โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 โจทก์โอนเงินให้ผ่านระบบ เคเเบงค์  ในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่ 1 คืนเงินให้โจทก์บางส่วน โจทก์ทวงถามจำเลยที่ 1 ผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ และมีหนังสือทวงถามจำเลยทั้งสองแล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 5.5 เเสนบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง

ใครเอ่ย? เลขาธิการพรรคดัง โดนศาลฎีกาสั่งใช้หนี้นักธุรกิจ อุดรฯ

 

จำเลยทั้งสอง ให้การว่า โจทก์ร่วมลงทุนทำธุรกิจน้ำเข้าและรับจำนำรถยนต์ ราคาแพงกับนายอินทรศักดิ์ เตชธีรสิริ โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน จำเลยที่ 1 ให้โจทก์โอนเงินลงทุนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 อดีตคนรักของจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องในการทำธุรกิจกับโจทก์

 

ต่อมา นายอินทรศักดิ์ ถูกดำเนินคดีฐานนำเข้ารถยนต์โดยผิดกฎหมายต้องใช้เงิน 2 ล้านบาทในการประกันตัว นายอินทรศักดิ์ มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ติดต่อขอเบิกเงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์ โดยให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของยอดเงินลงทุนในการประกอบธุรกิจ การที่โจทก์โอนเงิน 2 ล้านบาท เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2  ไม่ใช่การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และโจทก์ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับ จำเลยที่ 1 เป็นหนังสือ ข้อความการสนทนาในแอปพลิเคชันไลน์ไม่มีส่วนใดที่จำเลยที่ 1 ยอมรับโดยซัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์

ใครเอ่ย? เลขาธิการพรรคดัง โดนศาลฎีกาสั่งใช้หนี้นักธุรกิจ อุดรฯ

 

จากบทสนทนาทางแอปพลิเคชันไลน์ว่า โจทก์รับเงินคืนแล้ว 1.3 ล้านบาทคงเหลือ 7 เเสนบาท และให้จำเลยที่ 1 โอนเงินคืนเพิ่มเติมอีก ต่อมาวันที่ 20 พ.ย.2562 จำเลยที่ 1 ได้โอนเงินคืนให้โจทก์อีก 2 เเสนบาท ยอดหนี้จึงคงเหลือเพียง 5 เเสนบาท ขอให้ยกฟ้อง

 

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 5.5 เเสนบาท พร้อมดอกเบี้ย นับถัดจากวันฟ้อง โดยกำหนดค่าทนายความ 1 หมื่นบาท และยกฟ้อง สำหรับจำเลยที่ 2

 

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ใช้หนี้ 5.5 แสนพร้อมดอกเบี้ย นับถัดจากวันฟ้อง และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความ ในชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์

 

จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1,2 เคยเป็นคนรักกัน จำเลยที่ 1 จะให้ผู้ที่ทำธุรกรรมกับตนโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 จะเบิกถอนเงินนั้นไปให้จำเลยที่ 1 

 

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน 2 ล้านบาท ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าโจทก์โอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 เมื่อพิจารณาประกอบข้อความการ สนทนาทางแอปพลิเคชันไลน์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามสรุปใจความได้ว่า

 

โจทก์พยายามทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนเงินที่ขอยืมไป ส่วนจำเลยที่ 1 ก็ส่งข้อความในทำนองหลีกเลี่ยงบ่ายเบี่ยงความรับผิด แต่ก็ปรากฎข้อความทำนองว่า จำเลยที่ 1 ได้โอนเงินไปจ่ายหนี้ให้โจทก์บางส่วนแล้ว ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1  ขอยืมเงินจากโจทก์ตามฟ้อง ด้วยวิธีการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แม้จะไม่มีการทำหลักฐานเอกสารเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ก็ฟังข้อความทางอิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้นเป็นหลักฐาน เป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 แทนได้

 

ส่วนเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้ยืมจากโจทก์แล้ว จะนำไปให้ผู้ใดหรือนำไปใช้เพื่อการใดก็เป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ไม่ทำให้ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้ยืมเงินจากโจทก์เปลี่ยนแปลงไป ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

 

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ยังค้างชำระเงินคืนโจทก์อีกจำนวนเท่าใด เห็นว่า โจทก์มีหลักฐานการรับโอนเงินชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 มาแสดงว่า จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์รวมแล้ว 1,450,000 บาท ยังคงค้างอยู่อีกจำนวน 5.5 เเสนบาท

 

ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ค้างอยู่เพียง 5 เเสนบาท จำเลยที่ 1 ไม่มีหลักฐานการชำระเงินส่วนที่เพิ่มอีก 5 หมื่นบาทมาแสดง ฎีกาข้อนี้จำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

 

แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวจะไม่ขัดกับคุณสมบัติของ สส. ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ แต่อาจจะเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ที่กล่าวมานี้ไม่ได้หมายความว่า กรณีนี้จะผิดมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แค่อาจจะเข้าข่ายเฉยๆ

 

เพราะเรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องที่วินิจฉัยยาก แม้การกระทำจะทำไม่ถูกต้องตาม จริยธรรม ก็ต้องดูอีกว่ามีความร้ายแรงถึงขั้นจะต้องตัดสิทธิ์การดำรงตำแหน่งเลยหรือไม่ จะเห็นว่าที่ผ่านมาศาลฎีกาไม่เคยวางแนวคำวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งไว้ ต่างจากกรณีโทษอาญา ซึ่งศาลฎีกาวางแนวไว้ชัดว่าหากเคยจำคุกหรือต้องโทษมาก่อน ไม่ใช่ในคดีที่เป็นคดีหมิ่นประมาทหรือความผิดจากการกระทำโดยประมาทเเละความผิดลหุโทษ ศาลฎีกาก็จะชี้ว่าผิดมาตรฐานจริยธรรมแล้วก็ตัดสิทธิ์เลย

 

โดยมองว่า เรื่องนี้ยังไม่ถึงขั้นผิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง แต่มองว่าไม่งาม แต่ถ้าจะชี้ได้แน่นอน ก็ต้องลองให้มีการยื่นเรื่องนี้ไปทาง ปปช. เพื่อส่งให้ศาลฎีกาวินิจฉัยดูสักครั้ง