ข่าวใหญ่เรื่องการย้ายพรรคของ “สส.กฤษฎิ์” จากพรรคประชาชน ไปซบ “กล้าธรรม” นอกจากจะมีการโต้เถียงกันเรื่องเงินๆ ทองๆ ตัวเลขสูงถึง 50 ล้านแล้ว
อีกประเด็นหนึ่งที่กลายเป็น “ทางแยกการเมืองไทย” ก็คือ ดูเหมือนสังคมหรือประชาชนตาดำๆ จะต้องเลือกระหว่าง การเมืองแบบช่วยชาวบ้าน ซึ่งต้องใช้เงินและอำนาจรัฐ กับการทำงานการเมืองเชิงกระแสหรืออุดมการณ์ ว่า จะเอาแบบไหนถึงจะดี
กลายเป็นว่า สังคมต้องเลือกว่า ต้องการ สส. ที่ “ใจถึงพึ่งได้” งานศพ งานบวช งานแต่ง ไปหมด พวงหรีดถึง ซองถึง ตัวก็ไปถึง แต่ก็สุ่มเสี่ยงที่ สส.คนนั้นจะกลายเป็นผู้มีอิทธิพล หรืออาจจะมีปัญหาความไม่โปร่งใส เป็น “นักการเมืองสีเทา”
หรือสังคมจะต้องการ สส.ที่ไม่เคยเจอหน้าตามงานศพ งานบวช งานแต่ง เพราะเลือกตั้งจบแล้วก็อยู่แต่ในสภา เนื่องจากหน้าที่ของ สส.คือ ทำงานเสนอกฎหมาย และตรวจสอบรัฐบาล ไม่ใช่มาคอยบริการประชาชนเรื่องน้ำไม่ไหล ไฟดับ หรือฝากลูกเข้าโรงเรียน
ผมเองก็ไม่รู้ว่าเราจะต้องเลือกอะไรกันแบบนี้ด้วยหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือ การทำงานการเมืองมี “รายจ่าย” อยู่จริงๆ
จะเรียกว่าการเมืองแบบเก่า แบบบ้านใหญ่ แบบใจถึงพึ่งได้ หรือแบบดูแลประชาชนในเขตเลือกตั้ง ก็แล้วแต่จะพูดกัน
รายการ “ข่าวข้นคนข่าว เนชั่นทีวี” รายงานว่า ได้พูดคุยกับ “สส.ระดับหัวหน้าซุ้ม” ของพรรคการเมืองขนาดกลางพรรคหนึ่ง ซึ่งมี สส.ในซุ้มหลายคน และตัวเองต้องดูแล สส.เหล่านั้น ก่อนที่ สส.จะไปดูแลประชาชนในเขตเลือกตั้งอีกที
“หัวหน้าซุ้ม” ของพรรคการเมืองที่ว่านี้ บอกว่า ความจริงที่ต้องยอมรับตรงกันก่อนก็คือ สส.เขตแต่ละคน มีรายจ่ายต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนบาท ในการดูแลพื้นที่เลือกตั้งของตัวเอง
ยังไม่นับงานแต่ง งานบวชอีก ซึ่งโดยเฉลี่ย ในพื้นที่เขตเลือกตั้ง จะมีงานทุกวัน ทั้งงานมงคล งานบุญ และงานขาวดำ สลับกันไป เฉลี่ย 1 งาน 3,000 บาท โดน 30 งาน ก็ 90,000 บาท เงินเดือน สส.เกือบจะหมดแล้ว
รายได้จากเงินเดือน สส. ประกอบด้วย เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 71,230 บาท และได้รับเงินเพิ่มอีกเดือนละ 42,330 บาท รวมเป็นเดือนละ 113,560 บาท
ยังไม่นับเวลา อบต. เทศบาล หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนโรงเรียน หรือวัดจัดงานหรือจัดกิจกรรม สส.ก็ต้องเป็นคนจ่าย เช่น จัดกิจกรรมกีฬา ก็ต้องช่วยไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท ถึง 10,000 บาท
งานวัด งานประเพณี งานโรงเรียน นี่คืองานรูทีน ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้งเทศบาล อบจ. สท. อบต. ถือว่าเป็นรายจ่ายนอกระบบที่เพิ่มขึ้นมาอีก
สรุปงานรูทีนแต่ละเดือน ไม่ต่ำกว่า 100,000 - 200,000 บาท บางเขตเลือกตั้งพื้นที่ใหญ่ 2-3 อำเภอ รายจ่ายก็จะเพิ่มเป็นค่าเดินทางอีก
นอกจากนั้นยังมีหัวคะแนนที่อยู่ตามอำเภอต่างๆ หากตั้งเป็น “ผู้ช่วย สส.” ที่มีเงินเดือน 15,000 บาท ถึง 28,000 บาท ก็พอช่วยได้ แต่ก็ตั้งได้แค่ 6-8 คน ในส่วนของคนที่ตั้งไม่ได้ ก็ต้องดูแล รวมทั้งหัวคะแนน เดือนหนึ่ง 2,000 - 3,000 บาท หรือ 5,000 บาทต่อคน
“หัวหน้าซุ้ม สส.” รายนี้ สรุป ค่าใช้จ่ายของ สส. พูดตรงๆ เงินเดือนแสนกว่าบาทไม่มีทางพอ ทุกพรรคจึงต้องมีเงินพิเศษให้ เดือนละ 100,000 - 300,000 บาท มีเหมือนกันหมด ยกเว้นพรรคประชาชน
พรรคลุง - ยอดสูงสุดในตลาดตอนนี้ เพราะมีท็อปอัพ
พรรคสีธงชาติ พรรค ก. พรรค พ. - เดือนละราวๆ 2 แสนต่อคน
แกนนำกลุ่มมุ้งในพรรค - เติมให้อีกราวๆ 100,000 บาท ต่อเดือน ต่อ สส.ในมุ้ง 1 คน (เติมให้จากที่พรรคท็อปอัพแล้ว)
ส่วนปัญหาของพรรคส้ม “หัวหน้าซุ้ม” รายนี้บอกว่า เท่าที่คุยกับ สส.บางคน ทราบว่าเริ่มมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เพราะรู้ดีว่ากระแสพรรคมีขึ้นมีลง ดูจากประชาธิปัตย์ในภาคใต้ เคยส่งเสาไฟฟ้าลงยังชนะ พรรคไทยรักไทยในภาคอีสาน ภาคเหนือ มีแต่ “สส.นกแล” แต่วันนี้เมื่อ “นกแลแก่พรรษา” ก็ต้องหาทางเป็น “ดาวฤกษ์” เพราะมิฉะนั้นก็จะไปต่อทางการเมืองไม่ได้
“หัวหน้าซุ้ม สส.” บอกว่า ปัญหาการทำงานของ สส.พรรคประชาชน คือ ถูกพรรคควบคุมแบบ 100% ด้วย 2 เหตุผล คือ
“หัวหน้าซุ้ม” รายนี้จึงบอกว่า จากต้นตอของปัญหา ทำให้ สส.พรรคประชาชนบางส่วนอึดอัดใจ และมาบ่นให้ฟังอยู่เป็นประจำ บางคนอยากทำงานการเมืองต่อ โดยสร้างแสงในตัวเอง คือพัฒนาตัวเป็น “สส.ดาวฤกษ์” แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะพรรคไม่สนับสนุนเลย เนื่องจากทิศทางของพรรค ใช้กระแสนำอย่างเดียว เหตุนี้จึงเกิดการย้ายพรรคหรืองูเห่าตามมา ถือเป็นปัญหาเรื่องการทำงานร่วมกันจริงๆ
ส่วนผลประโยชน์ในรูปตัวเงินและอื่นๆ เป็นเรื่องของ “ผลพลอยได้”