svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

อดีตแพทย์ใหญ่ ส่งทนายขอความเป็นธรรม กรณีถูกลงโทษ ปมชั้น 14

อดีตแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ส่งทนายร้องขอความเป็นธรรม รมว.สธ. หลังพบว่าเป็น 1 ใน 3 แพทย์ ที่ถูกลงโทษจากปม ชั้น 14 ถูกพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พร้อมเผยข้อสังเกต

14 พฤษภาคม 2568 ที่บริเวณชั้น 2 อาคาร DOH Data Center กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายสุรินทร์ สู่สวัสดิ์ นำทีมทนายความที่ได้รับมอบจาก พล.ต.ท.นายหนึ่ง อดีตนายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ ปัจจุบันเป็น ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษ กรณีแพทยสภามีมติลงโทษแพทย์ 3 คน โดยหนึ่งในนั้นคืออดีตแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ถูกลงโทษ พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม จากกรณีชั้น 14  โดยมีนายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข  เป็นผู้รับมอบหนังสือ

โดยนายกองตรี ธนกฤต กล่าวว่า หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากทางนายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ที่ติดต่อมาโดยตรง และได้มีการพูดคุยกัน ซึ่งตนได้เรียนนายสมศักดิ์ ทราบแล้ว หลักๆ มี 8 ประเด็นที่ท่านมีความไม่สบายใจ และขัดข้องใจ แม้ว่ายังไม่ได้รับหนังสือจากแพทยสภา แต่ทราบจากสื่อ และเป็นข้อมูลเดิม ว่าท่านเป็นหนึ่งในผู้ที่ยื่นคำชี้แจง และได้รับการไต่สวนโดยแพทยสภา จึงเข้าใจโดยปริยายว่า ท่านเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกลงโทษ ทั้งนี้ที่ท่านบอกว่า เป็นความอึดอัดใจ

 

ข้อสังเกตจากกรณีถูกลงโทษ

 

“ท่านเป็นเพียงแค่ผู้บังคับบัญชา ไม่ได้เป็นผู้วินิจฉัยโรค  ดังนั้นสิ่งที่ท่านได้รับคือความเห็นของผู้บริหารแพทยสภา ที่ผ่านมาท่านให้ข่าวกับสื่อมวลชนเป็นการแถลงพูดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งการรับตัวมาดูจากผลวินิจฉัยโรค ผลทะเบียนประวัติ ที่ส่งมาตั้งแต่อดีตนายกฯ เข้ารับการรักษาตัวหลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ และตรวจสุขภาพต่างๆ ซึ่งพบถึงรอยโรคที่เกิดขึ้น 

อดีตแพทย์ใหญ่ ส่งทนายขอความเป็นธรรม กรณีถูกลงโทษ ปมชั้น 14

 

แต่กลายเป็นว่า แพทยสภา มาพิจารณาโทษเช่นนี้  ถือว่าไม่เป็นธรรม จึงรวบรวมพยานเอกสารหลักฐาน แต่ผมยังไม่มั่นใจว่าจะอยู่ในเนื้อหาของแพทยสภาด้วยหรือไม่” นายกองตรี ธนกฤต กล่าว

 

เมื่อถามว่าหลักฐานหลักๆ คือ เวชระเบียนหรือไม่ นายกองตรี  ธนกฤต กล่าวว่า เมื่อวานนี้อีกคนพูดถึงข้อมูลเชิงประจักษ์ วันนี้พูดถึงการที่ท่านไม่ได้เป็นผู้วินิจฉัยโรค

 

อย่างไรก็ตาม ต้องนำข้อมูลจากผู้ร้องทั้ง 2 คนมาดู และดูว่าแพทยสภากล่าวหาใคร อย่างไร หรือมีการสรุปสำนวนคดีมีเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญหรือไม่ โดยเอามาประกอบการพิจารณาของสภานายกพิเศษ หลายคนสงสัยว่าเมื่อเป็นเช่นนี้  ทำให้นายกสภาพิเศษ อาจให้ไปทบทวนใหม่หรือไม่ แต่กฎหมายไม่ได้ให้ทำเช่นนั้น แต่ให้สรุปความเลยว่าเห็นด้วยหรือไม่เป็นด้วยกับมติของแพทยสภา โดยตอบกลับไปภายใน 15 วัน 

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการทวงถามทางแพทยสภา ถึงการส่งหนังสือมติแพทยสภาให้แก่ รมว.สาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษ หรือไม่ เนื่องจากแถลงมติตั้งแต่ วันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมาแล้ว นายกองตรีธนกฤต กล่าวว่า เป็นเรื่องของแพทยสภา อาจยังไม่เสร็จ ซึ่งจริงๆ เขาต้องรู้อยู่แล้ว เพราะมีกรอบระยะเวลาอยู่ คือ กฎหมายบอกว่านับตั้งแต่วันที่ได้รับไปอีก 15 วัน เป็นหน้าที่ของสภานายกพิเศษของแพทยสภา ซึ่งไม่ได้เขียนไว้ว่าต้องส่งมาถึงสภานายกพิเศษภายในกี่วัน ก็อยู่ที่แพทยสภา เพราะขนาดตัวของคนที่เข้าใจว่าถูกพิจารณาโทษ ยังไม่ได้รับหนังสือ แต่ทราบจากข่าว จนเป็นที่มาของการร้องเรียนในช่วง 1-2 วันนี้

 

ผู้สื่อข่าวถามทนายความ ถึงกรณียืนยันได้หรือไม่ว่า แพทย์ที่ถูกแพทยสภาพิจารณาบทลงโทษ เป็นนายแพทย์ใหญ่จริง นายสุรินทร์ สู่สวัสดิ์ ทนายความ กล่าวว่า ทราบข้อมูลจากสื่อมวลชนที่การนำเสนอชัดเจนว่าท่านถูกลงโทษ ส่วนตัวท่านเองนั้น ก็ทราบจากสื่อเช่นเดียวกันว่า เป็นแพทย์ที่ถูกลงโทษอยู่ที่รพ.ตำรวจ จำนวน 2 คน ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้อยู่แล้ว ก็มีแพทย์ใหญ่คนปัจจุบัน กับอดีตแพทย์ใหญ่

 

เมื่อถามว่า หลังแพทยสภาแถลงเรื่องดังกล่าว ได้มีการติดต่อไปยังแพทยสภาหรือไม่ นายสุรินทร์ กล่าวว่า  ตนไม่ทราบว่าอดีตแพทย์ใหญ่และแพทย์ใหญ่คนปัจจุบันติดต่อไปหรือไม่ แต่ตนไม่ได้ติดต่อไปแน่นอน อย่างไรก็ตาม มีผู้ถูกกล่าวหา 4 คน จาก รพ.ราชทัณฑ์ 2 คน จาก รพ.ตำรวจ 2 คน ดังนั้น มันเป็นอื่นไปไม่ได้ เพราะที่รพ.ตำรวจ มี 2 คนเท่านั้น

 

อีกทั้งอดีตแพทย์ใหญ่ เป็นแพทย์ผู้บริหาร ไม่ใช่แพทย์ที่ทำการรักษา ซึ่งในวันที่ 23 ส.ค.2566  ซึ่งมีการมารักษาตัวนั้น ท่านยังเป็นแพทย์ใหญ่ หลังจากนั้นจึงขึ้นมาเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

 

“แม้ว่ายังไม่มีการเปิดเผยคำสั่งลงโทษแพทย์ตามมติแพทยสภา แต่การจะร้องขอความเป็นธรรม ต้องดำเนินการก่อนที่สภานายกพิเศษ จะมีการลงความเห็น เพราะถ้าหากพ้นจาก 15 วัน ที่แพทยสภาส่งมติมา แล้วนายกสภาพิเศษ ไม่ได้ให้ความเห็นอะไรกลับไป แพทยสภาก็จะยึดตามมติเดิม พอถึงตอนนั้นเราจะทำได้อย่างเดียวคือ ฟ้องศาลปกครอง” นายสุรินทร์กล่าว

 

เมื่อถามว่า แพทยสภาแถลงว่ามติที่ออกมา มีการพิจารณาจากเอกสาร ซึ่งไม่สอดคล้องอาการวิกฤต นายสุรินทร์ กล่าวว่า คำว่า วิกฤตหรือไม่วิกฤตต้องเป็นแพทย์ที่ทำการรักษาเป็นคนดู ไม่ใช่คนนอกไปดู แล้วอดีตแพทย์ใหญ่ ไม่เคยบอกว่า วิกฤต และท่านไม่ได้เป็นคนรักษา แต่พูดตามแพทย์ที่รักษาบอกมา ซึ่งที่จำได้ มีการพูด 2 ครั้ง คือวันที่ 23 ส.ค. 2566และ วันที่ 25 ส.ค.2566 เท่านั้น

 

เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่า เอกสารที่ส่งให้แพทยสภาไม่เป็นความจริงหรือไม่ นายสุรินทร์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ และไม่เคยเห็นรายงาน จึงไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าจริงหรือไม่จริง

 

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่การเป็นนายแพทย์ใหญ่ ต้องมีการเซ็นเอกสารรับรองทุกอย่าง ทำให้เป็นที่มาของการถูกลงโทษ นายสุรินทร์ กล่าวว่า ** เท่าที่ตนได้คุยกัน อดีตแพทย์ใหญ่ ไม่ได้เซ็นเอกสารแม้แต่ใบเดียว

 

เมื่อถามว่า เอกสารที่ประกอบการยื่นขอความเป็นธรรมนั้นเป็นเอกสารใหม่ หรือเป็นข้อมูลอย่างไร เท่าที่พอที่จะเปิดเผยได้ นายสุรินทร์ กล่าวว่า มันเป็นข้อเท็จจริง ที่ปรากฏ และข้อกฎหมาย

 

เมื่อถามย้ำว่า เป็นเอกสารที่แพทยสภาเรียกไปตั้งแต่แรกด้วยหรือไม่ นายสุรินทร์ กล่าวว่า อันนี้ตนไม่ทราบจริงๆ ตอบไม่ได้ ทั้งนี้หากการพิจารณาสุดท้ายแล้วออกมาเป็นโทษ เราก็ต้องแสวงหาความยุติธรรมต่อไป โดยการพึ่งศาลปกครอง

 

นอกจากนี้ นายกองตรี ธนกฤต กล่าวด้วยว่า ในอดีตเคยมีที่แพทยสภาวินิจฉัยออกมาแล้ว รมว.สธ.วินิจฉัยตามแพทยสภาด้วย แต่พอไปถึงศาลปกครอง ศาลปกครองกลับคำพิพากษาทั้งหมดว่า สิ่งที่แพทยสภาทำนั้นไม่ถูกต้อง ผิด และต้องชดใช้เงิน โดยเอาเงินรัฐที่มาจากภาษีประชาชน ก็เหมือนกัน ทุกคนมีโอกาสผิดพลาดได้ แต่อย่างไรก็แล้วแต่ มาถึงยุคท่านสมศักดิ์ ที่มีคณะทำงานที่เป็นนักกฎหมาย และมีผมอยู่ด้วย ก็ต้องดูให้ละเอียดที่สุด อย่างน้อยที่สุดให้เกิดความเสียหายน้อยสุด หรือไม่เสียหายเลย ดังนั้นอยากให้สบายใจได้ ไม่กดดันเลย ยังกินอิ่มนอนหลับตามปกติ ใครถามมาก็ตอบ