14 พฤษภาคม 2568 ที่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนา “เพิ่มศักยภาพท้องถิ่นเพื่อการขับเคลื่อนอนาคตไทยอย่างยั่งยืน” พร้อมมอบนโยบายสำคัญต่อผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ
โดยมี ร้อยตรี สรมงคล มงคละสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี รองศาสตราจารย์ ดร.วิระศักดิ์ ฮาดดา นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารสมาคม ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชมงคลสุวรรณภูมิ และผู้เข้าร่วมสัมมนาจากทั่วประเทศและทางออนไลน์กว่า 5,000 คน ให้การต้อนรับและเข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้
น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวในพิธีเปิดว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นตัวแทนรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ในการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนจากฐานราก
“การพัฒนาท้องถิ่น คือรากฐานของความยั่งยืนของประเทศ เราจำเป็นต้องเสริมสร้างสมรรถนะของบุคลากรในระดับพื้นที่ ให้สามารถบริหารจัดการภารกิจที่ซับซ้อนและท้าทายได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงรอบด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี ทำให้การพัฒนาท้องถิ่นกลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศจากฐานราก โดยรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายในแนวทางการกระจายอำนาจอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งในด้านงบประมาณ อำนาจการตัดสินใจ และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรท้องถิ่น
“เราต้องก้าวทันโลกและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อะไรก็ตามที่ว่ายากหรือทำไม่ได้ หากเราตั้งใจที่จะทำก็จะประสบความสำเร็จได้” น.ส.ธีรรัตน์กล่าว
พร้อมย้ำว่า ท้องถิ่นคือ “เส้นเลือดฝอยของประเทศ” ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด จึงต้องเป็นผู้กำหนดทิศทางการพัฒนาและเป็นผู้ออกแบบอนาคตของพื้นที่ตนเอง
ภายใต้แนวนโยบายรัฐบาล ยังได้เดินหน้าปฏิรูปและผลักดันการจัดทำงบประมาณให้สอดคล้องกับปัจจุบันมากขึ้น โดยเดินหน้าปฏิรูประบบการจัดทำงบประมาณ เพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารงานท้องถิ่น ผลักดันการบริหารแบบ Area-Based เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตรงจุด และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามบริบทและความจำเป็นของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง
โครงการสัมมนาครั้งนี้จึงเป็นเวทีสำคัญในการเสริมองค์ความรู้ สร้างเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และวางรากฐานให้ท้องถิ่นไทยก้าวสู่อนาคตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน