14 พฤษภาคม 2568 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารข่าวที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาคดี มีมติไม่รับคำร้องที่ พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว และคณะ (สว.สำรอง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภา(สว.)ของ พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร และคณะจำนวน 92 คน สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 111 (7) ประกอบมาตรา 185 (1) หรือไม่
เนื่องจากได้ร่วมกันลงลายมือชื่อและยื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภา ขอให้ส่งคำร้องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) เพื่อขอให้พิจารณาไต่สวนและดำเนินการกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และพ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีเสนอเรื่องการขออนุมัติให้การดำเนินคดีความผิดฐานอั้งยี่ต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นคดีพิเศษ และการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของคณะกรรมการคดีพิเศษ กับพวกรวม 11 คน กรณีสมคบกันในความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นคดีพิเศษ
อีกทั้งการเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
เป็นการใช้สถานะหรือตำแหน่งของการเป็นสมาชิกวุฒิสภากระทำการอันมีลักษณะเป็นการก้าวก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองในการปฏิบัติราชการหรือดำเนินการในหน้าที่ประจำของข้าราชการหรือของหน่วยงานราชการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 (1)
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561
มาตรา 7 (5) นั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่า สมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลง เพื่อให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีดังกล่าวได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 วรรคสี่
เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฏ ว่า ผู้ร้องเป็นเพียงผู้มีรายชื่อเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (บัญชีสำรอง) มิได้มีสถานะเป็นสมาชิกวุฒิสภา ที่มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานวุฒิสภา เพื่อส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และมิได้เป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้แต่อย่างใด
กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย