svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

รัฐสภาเริ่มพิจารณาญัตติส่งศาลวินิจฉัย "ประชามติ" แก้รัฐธรรมนูญ

การประชุมรัฐสภา ในวันนี้ (17 มี.ค.) มีวาระสำคัญในการพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรค 1 (2) ตามที่นายแพทย์เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา และนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ

รัฐสภาเริ่มพิจารณาญัตติส่งศาลวินิจฉัย \"ประชามติ\" แก้รัฐธรรมนูญ

โดยนายแพทย์เปรมศักดิ์ ได้ชี้แจงและหลักการการเสนอญัตติว่า ที่ประชุมรัฐสภา เคยได้พิจารณาหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเพิ่มหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ สส.และ สว.ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน จนทำให้การพิจารณาไม่สามารถดำเนินการได้ และเกิดปัญหา รวมถึงมีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายครั้ง และมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องจัดการออกเสียงประชามติก่อน และการที่รัฐสภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรจัดการออกเสียงประชามติก่อน แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า จะต้องจัดการออกเสียงประชามติ 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง ตนจึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า รัฐสภา มีอำนาจลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่มหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยที่ยังไม่มีการจัดการออกเสียงประชามติได้หรือไม่ และหากรัฐสภา มีอำนาจพิจารณาแล้ว การดำเนินการจัดการออกเสียงประชามติ สามารถกระทำภายหลังรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมกับประชาชนเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (รวบประชามติครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2) ได้หรือไม่

ส่วนข้อกังวลหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว จะไม่ทันต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไปนั้น นายแพทย์เปรมศักดิ์ เห็นว่า ไม่ได้กระทบต่อการเลือกตั้ง เพราะระบบการเลือกตั้งได้แก้ไขเป็นระบบขนานแล้ว และมีสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่เรียบร้อยแล้ว จึงไม่ควรนำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปผูกกับการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ และไม่ควรเร่งรีบ เพราะจะไม่มีความรอบคอบ ไม่จำเป็นต้องเป็นรถไฟความเร็วสูง แต่จะต้องเป็นรถไฟธรรมดา ส่งผู้โดยสารโดยปลอดภัย และคงความเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 ที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง พร้อมหวังว่า การพิจารณาญัตติในวันนี้ (17 มี.ค.) จะไม่ซ้ำรอยรัฐสภาล่ม เมื่อ 13 – 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

รัฐสภาเริ่มพิจารณาญัตติส่งศาลวินิจฉัย \"ประชามติ\" แก้รัฐธรรมนูญ

ขณะที่ นายวิสุทธิ์ ได้ชี้แจงและหลักการการเสนอญัตติว่า จากกรณีที่สมาชิกรัฐสภา ได้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เนื่องจาก ยังมีความเห็นต่างระหว่าง สส.และ สว.ต่ออำนาจของรัฐสภาในการลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพราะยังไม่มีการจัดการออกเสียงประชามติ จึงเกิดข้อถกเถียงต่อกระบวนการจัดการออกเสียงประชามติว่า จะต้องจัดการออกเสียงประชามติก่อนรับหลักการ หรือจัดการออกเสียงประชามติก่อนลงมติวาระที่ 3 ทำให้รัฐสภา ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ จนเกิดอุปสรรค เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณีดังกล่าว จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาว่า รัฐสภา สามารถลงมติร่างรัฐธรรมนูญโดยที่ยังไม่มีผลการออกเสียงประชามติประชาชนว่า ประสงค์ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่

ด้าน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เห็นว่า รัฐสภา ไม่จำเป็นต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพราะหากรัฐสภาเดินหน้าต่อตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคประชาชนเสนอ จะไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เพราะหากรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ก็ไม่ได้มี สสร.ทันที แต่ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ก็ต้องมีการจัดการออกเสียงประชามติก่อน จึงสอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 100% และแม้ตนจะไม่เห็นด้วยกับการจัดการออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง แต่ตนก็ยอมรับว่ามีผู้สนับสนุนแนวทางนี้ ซึ่งรวมถึงประธานรัฐสภาด้วย ก่อนที่จะเปลี่ยนใจและเห็นด้วยกับตน หลังจากที่ตนเองได้รวบรวมข้อมูลว่า การจัดการออกเสียงประชามติ 2 ครั้ง ก็เพียงพอแล้ว เพราะเมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่ก็เห็นพ้องให้จัดการออกเสียงประชามติ 2 ครั้ง

 

นายพริษฐ์ ยังเชื่อว่า มี สส.และสว.ส่วนหนึ่ง ไม่ได้กังวลข้อกฎหมาย แต่ไม่ได้อยากแก้รัฐธรรมนูญ จึงพยายามหาข้อกังวลของกฎหมาย เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งที่ผ่านมา ตนเองก็ตั้งคำถามถึงเจตจำนงของพรรคร่วมรัฐบาล และ สว.หัวใจเดียวกัน ที่หากกังวลข้อกฎหมายจริง แต่เหตุใดกลับไม่มาร่วมลงมติสนับสนุนการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อการประชุมรัฐสภา เมื่อ 13-14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รวมถึงยังตั้งข้อสังเกตถึงเจตจำนงของนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร ได้พยายามโน้มน้าว และคลี่คลายข้อกังวลใด ๆ ของพรรคร่วมรัฐบาลแล้วบ้าง ซึ่งตนเองเชื่อว่า หากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้จัดการออกเสียงประชามติ 2 ครั้ง ก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า พรรคร่วมรัฐบาล และ สว.หัวใจเดียวกัน จะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ดังนั้น ทางออกเรื่องนี้ จึงไม่ใช่อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล ดังนั้น รัฐสภา จึงจะต้องส่งสัญญาณไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อสร้างภาวะผู้นำให้นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยให้สำเร็จ

รัฐสภาเริ่มพิจารณาญัตติส่งศาลวินิจฉัย \"ประชามติ\" แก้รัฐธรรมนูญ

ขณะที่ นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เห็นว่า ไม่ว่าในที่ประชุมรัฐสภาจะเห็นต่างอย่างไร แต่สิ่งสำคัญที่สุดของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาคือ ต้องทำให้รัฐสภาทำหน้าที่ได้ตามกลไกและอำนาจหน้าที่ ความเห็นต่างในเรื่องอำนาจหน้าที่เป็นเหมือนกำแพงกั้น ไม่ให้เดินหน้าแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อไปได้ จึงต้องเสนอศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เพียงเตะถ่วงเวลาให้ยืดเยื้อออกไป แต่เพื่อทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของเราไม่สะดุด เพื่อให้รัฐธรรมนูญใหม่ “ทำได้” ไม่ใช่แค่ “ได้ทำ” เพราะหากพิจารณากันไปแล้วมีแต่ทางตัน จะต้องใช้เวลาเท่าไรเพื่อกลับไปเริ่มต้นใหม่ ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จึงเป็นการเปิดประตูบานแรก เดินหน้าสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ทำให้ความพยายามที่ผ่านมาทั้งหมดสูญเปล่า ไม่ทำลายความหวังของพี่น้องประชาชนต่อรัฐสภาแห่งนี้สูญสิ้นไป