12 มีนาคม 2568 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. กลุ่ม สว.สำรอง นำโดย พล.ต.ท.คํารบ ปัญญาแก้ว , นายอัครวัฒน์ พงศ์ธนาชลิตกุล พร้อมด้วย สว.สำรอง ประมาณ 20 คน เดินทางมาเพื่อยื่นหนังสื่อเปิดผนึกถึง ประธาน กกต. จำนวน 2 ฉบับ กรณีการ ฮั้วเลือก สว.
โดยฉบับแรก เรียกร้องให้ตรวจสอบเรื่องราว และพฤติกรรมของ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ตามที่มีผู้ตรวจการเลือกตั้งร้องเรียนว่า ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ โดยที่ก่อนหน้านี้ ผู้ตรวจการเลือกตั้งได้ยื่นหนังสือต่อประธาน กกต. เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.67 ว่า ได้รายงานข้อมูลเบาะแสต่อหน้า นายแสวง ในฐานะผู้อำนวยการเลือก สว.ระดับประเทศ ว่า จะมีผู้สมัคร สว. ในรอบเลือกระดับประเทศ ที่เป็นกลุ่มจัดตั้ง นำสมุด สว.๓ ที่มีการจดหมายเลขผู้สมัครลงคะแนน นำเข้าไปในคูหาเลือกลงคะแนน เพื่อเลือกตามหมายเลขที่จัดตั้งกันไว้ โดยจะมีเป็นจำนวนมาก
เพื่อต้องการให้ นายแสวง ในฐานะผู้อำนวยการเลือกระดับประเทศ ทำการป้องกันหรือยับยั้ง แต่นายแสวงกลับบอกว่า “ถึงแม้จะรู้ก็ทำอะไรเขาไม่ได้ เขาก็คิดวางแผนทำกันมาแบบนี้แหละ ปล่อยให้เขานำเอา สว.๓ เข้าไปในคูหาเลือกรอบไขว้ได้”
โดยจากพฤติกรรมดังกล่าว ทางกลุ่ม สว.สำรอง จึงเรียกร้องต่อประธาน กกต.ใน 3 ข้อ
1.การตรวจสอบเรื่องที่มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง รายงานพฤติการณ์ของนายแสวง เจตนาหลีกเลี่ยงการปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบ ที่ไม่พยายามรักษาไว้ซึ่งความสุจริตและเที่ยงธรรมในการเลือก สว. ที่ผ่านมา โดยขอทราบว่าขณะนี้มีผลการดำเนินงานอยู่ในขั้นตอนใด
2. การประเมินผลการปฏิบัติงานของนายแสวง ได้รับการพิจารณาเพื่อให้ปฏิบัติงานต่อไปในรอบปีมี ผลเป็นเช่นไร มีคะแนนปรากฏในลักษณะใด
3. เพื่อให้การสืบสวนไต่สวนคำร้องเรียน และคำร้องคัดค้านการการเลือก สว. ที่อ้างมีการใช้โพยฮั้ว (ใบสั่ง) จนทำให้ไม่เกิดความสุจริตและเที่ยงธรรม สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และจะสร้างความเชื่อถือเชื่อมั่นที่จะรักษาไว้ซึ่งความเที่ยงธรรม ขอให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ของนายแสวง เป็นการชั่วคราว จนกว่าการสืบสวนไต่สวนในเรื่องร้องเรียนการร้องคัดค้านต่างๆ เกี่ยวกับการเลือก สว. จะแล้วเสร็จ โดยในระหว่างนี้ให้มีการมอบหมายบุคคลอื่น มาปฏิบัติงาน แทน
ส่วนหนังจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2 เป็นการขอให้รวมสำนวน การร้องคัดค้านการเลือก สว. กรณีโพยฮั้วไว้เป็นสำนวนเดียวกัน เนื่องจากเหลือระยะเวลาในการดำเนินการ อีกประมาณสามเดือนเศษ ซึ่งทางกลุ่ม สว.สำรอง มองว่า สังคมยังมีความไม่มั่นใจว่า จะสามารถดำเนินการได้เสร็จสิ้นทันระยะเวลาภายในกำหนด จึงได้นำเสนอแนวทางการปฏิบัติคือ
1.ตามเอกสารแถลงข่าวประชาสัมพันธ์ของ กกต. กรณีสรุปคำร้องสำนวนการร้องคัดค้านการเลือก สว. ที่ปัจจุบันยังคงอยู่ในระหว่างดำเนินการ จำนวนทั้งสิ้น 278 เรื่องนั้น ขอให้ทาง กกต.ตรวจสอบ มีเรื่องใดที่ได้มีการร้องคัดค้าน เกี่ยวกับคุณสมบัติรายบุคคล หรือเป็นการร้องคัดค้าน มุ่งกล่าวหาเป็นรายบุคคลมีจำนวนเท่าใด และกรณีมีผู้ร้องคัดค้านที่กล่าวหามีการทุจริตหรือ โพยฮั้ว(ใบสั่ง) การเลือก สว.จำนวนกี่เรื่อง โดยแยกเป็น 2 กลุ่มที่ชัดเจน
2. เพื่อให้การสืบสวนและไต่สวนเรื่องร้องคัดค้านเป็นไปด้วยความรวดเร็ว จึงขอเสนอให้ดำเนินการรวมสำนวน เรื่องที่มีการร้องคัดค้านการใช้ โพยฮั้ว (ใบสั่ง) เพื่อพิจารณาพร้อมกัน โดยคณะเจ้าหน้าที่ชุดเดียวกัน
3. จากในข้อ2 /เมื่อรวมสำนวนการสืบสวนและไต่สวนคัดค้านเกี่ยวกับการเลือก สว.เป็นสำนวนเดียวกันทั้งหมดแล้ว ขอให้มีการตั้งพนักงานสืบสวนและไต่สวนโดยที่มีผู้เชี่ยวชาญ การสอบสวนจากหน่วยงานอื่นโดยหลีกเลี่ยงการมอบหมายให้ เลขาธิการ กกต.ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
4.เมื่อดำเนินการตามข้อ 3. แล้ว ควรมีการวางกรอบระยะเวลาการดำเนินงานและสิ้นสุดโดยชัดเจน ไม่ควรเกิน 2-3 เดือน
5. ให้มีการเปิดหีบบัตรการเลือก สว.ที่เก็บไว้จำนวน 40 กล่องในระดับประเทศ เพื่อดูลักษณะการลงคะแนนที่ซ้ำกัน และสอดคล้องกันกับโพย (ใบสั่ง) รวมทั้งภาพบันทึกกล้อง CCTV ที่บันทึกไว้ในวันเลือกรอบประเทศโดยต่อสาธารณะ เพื่อแสดงความจริงใจของ กกต.
6. เพื่อให้สำนักงาน กกต. ไม่ตกอยู่ในภาวะแดนสนธยา จึงขอให้ได้ปรับปรุงระบบการสื่อสารเป็นสองทาง (two ways communication) กับสังคม โดยมีการตอบข้อซักถามหรือข้อหารือต่างๆ ทุกระยะในทุกโอกาส