นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย นำคณะเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรีสมัยที่ 69 (Commission on the Status of Women) หรือการประชุม CSW 69 ซึ่งปีนี้เป็นวาระครบรอบ 30 ปี ปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี โดยในช่วงบ่าย เวลา 15.00 น. นายวราวุธและคณะได้เข้าร่วมการประชุมการติดตามผลการประชุมโลกว่าด้วยสตรี ครั้งที่ 4 และผลลัพธ์ของการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 23 ภายใต้หัวข้อ “สตรี 2000: ความเสมอภาคระหว่างเพศ การพัฒนา และสันติภาพสำหรับศตวรรษที่ 21” ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ (UN) นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
นายวราวุธได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย ระบุว่า นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้กล่าวต่อที่ประชุม CSW 69 ในขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ปี 2025 ซึ่งถือเป็นปีที่ครบรอบ 30 ปีของปฏิญญาปักกิ่ง แน่นอนว่าเราภูมิใจในความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในหลายด้าน แต่ยังตระหนักดีว่าเราจำเป็นต้องทำงานร่วมกันต่อไปเพื่อบรรลุพันธสัญญาที่สำคัญว่า “สิทธิมนุษยชนคือสิทธิสตรี และสิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชน” ซึ่งเป็นหัวใจหลักของปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี
นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย เรายังคงมุ่งมั่นในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะยังคงพยายามที่จะผนวกมุมมองเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเข้าสู่การขับเคลื่อนนโยบายในทุกด้าน ถือว่าเป็นงานที่สำคัญ ซึ่งนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลไทย เป็นผู้นำหญิงรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ ได้ริเริ่มนโยบายหลายด้านเพื่อขับเคลื่อนพันธสัญญา ภายใต้ปฏิญญาปักกิ่ง อาทิ นโยบายด้านการจ้างงานและเศรษฐกิจ , การยุติความรุนแรงต่อสตรี , การขจัดความยากจน , การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของสตรีและเด็กหญิง LGBTQIA+ และบุคคลที่เผชิญกับการเลือกปฏิบัติที่ซับซ้อนหลากหลายมิติ
นายวราวุธ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าที่สำคัญด้วยการออกกฎหมายสำคัญ คือ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ซึ่งทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่สามในเอเชีย และประเทศที่ 37 ของโลกที่ออกกฎหมายนี้ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2025 กฎหมายนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ แสดงให้เห็นว่าความรักไม่มีขอบเขตจำกัด ในส่วนของนโยบายการจัดการกับความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ เราดำเนินการอย่างเคร่งครัดเช่นกัน ซึ่งประเทศไทยได้จัดตั้งศูนย์จัดการภาวะฉุกเฉินด้านความมั่นคงของมนุษย์ บริการตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านสายด่วนและแอปพลิเคชันต่างๆ โดยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่เผชิญปัญหาทางสังคม โดยเฉพาะปัญหาความรุนแรงทางเพศ นอกจากนี้ เนื่องจากประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านโครงสร้างประชากร ผู้หญิงจึงเป็นพลังสำคัญในการเอาชนะกับดักนี้ กระทรวง พม. ได้พัฒนานโยบาย “5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร" ที่มุ่งรับมือกับความท้าทายจาก “สังคมสูงวัย” โดยให้โอกาสและทางเลือกในการเสริมสร้างความสามารถของผู้หญิงในตลาดแรงงานและการดูแลครอบครัว
นายวราวุธ กล่าวว่า ขอรับรองว่าตนและรัฐบาลไทยจะยังคงต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศต่อไป มุ่งมั่นที่จะทำให้อนาคตนี้เป็นจริง และหวังว่าปฏิญญาทางการเมืองที่ได้รับการรับรองเมื่อวานนี้จะเป็นแรงผลักดันสู่ความเท่าเทียมทางเพศที่แท้จริง และเราเชื่ออย่างแท้จริงว่าความเท่าเทียมทางเพศไม่ใช่เพียงเป้าหมาย แต่เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่ควรทำ หากเราไม่ทำอะไรในวันนี้ พรุ่งนี้ เดือนหน้า หรืออีกหลายปีข้างหน้า หรือแม้แต่ในอีก 30 ปีข้างหน้า เราก็จะไม่มีวันบรรลุเป้าหมายของความเท่าเทียมทางเพศ และถ้าไม่ใช่พวกเราแล้วจะเป็นใคร ถ้าไม่ใช่ตอนนี้แล้วจะเป็นเมื่อไหร่ ดังนั้น ขอให้เราฉวยโอกาสนี้สร้างโลกที่เท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริงสำหรับทุกคน "การทำงานของประเทศไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในผลงานสำคัญคือการออกกฏหมายสมรสเท่าเทียมทำให้บุคคลสองคนสามารถแต่งงานกันได้โดยไม่แบ่งเพศว่าหญิงหรือชาย ในขณะที่นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลไทยเป็นสุภาพสตรีที่มีความสามารถจึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการปกป้องสิทธิสตรีและส่งเสริมพลังสตรีทั้งในมิติเศรษฐกิจและสังคม" นายวราวุธ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายวราวุธ ได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรีสมัยที่ 69 ซึ่งเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา ได้พบและพูดคุยกับผู้อำนวยการของ United Nations Development Program (UNDP)
โดยได้หารือถึงความคืบหน้าตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาว่า กระทรวง พม. ได้ดำเนินการอะไรบ้างในหลายๆ มิติที่เกี่ยวกับ UNDP ซึ่งได้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ เป็นจำนวนมาก อาทิ การดำเนินการฝึกฝนอาชีพคนพิการจนมีงานทำที่ทางกระทรวง พม.ได้ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งทาง UNDP ให้ความสนใจเรื่องดังกล่าวอย่างมาก และยินดีทำงานร่วมกับกระทรวง พม. ในอีกหลายมิติ
จากนั้นได้เข้าร่วมการประชุมหารือระดับสูงร่วมกับคณะกรรมาธิการระดับภูมิภาค (High-level interactive dialogue with regional commissions) หัวข้อ ผลลัพธ์ของการทบทวนระดับภูมิภาค เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ปฏิญญาปักกิ่ง และการดำเนินการต่อไป โดยมีประเทศต่าง ๆ นำเสนอตัวอย่างความสำเร็จในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามปฏิญญาปักกิ่ง ในประเด็นสำคัญต่างๆ อาทิ งบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศสภาวะ (Gender Responsive Budgeting) หรือ GRB , การเสริมพลังสตรี , การสร้างสังคมที่ปลอดภัยแก่สตรี , การยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กหญิง , การยุติความรุนแรงในที่ทำงาน , การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ , การลดช่องว่างทางเพศ ,การดำเนินการปกป้องสิทธิและความปลอดภัยของนักกีฬาผู้หญิง ภายใต้โครงการ Safe Sport, การใช้พลังงานสะอาด พลังงานสีเขียว , ช่องว่างระหว่างเพศ (gender gap) ที่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างคนหลากหลายเพศ , การสนับสนุนเศรษฐกิจสำหรับสตรีเพื่อความเสมอภาคทางรายได้ และปัญหาสตรีที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงจากสงคราม ได้เรียนรู้ถึงตัวอย่างความสำเร็จของงานพัฒนาสตรีของประเทศเทศต่างๆ นับเป็นแนวปฏิบัติที่ดีที่ กระทรวง พม. จะนำไปเป็นแนวทางการขับเคลื่อนงานพัฒนาสตรีในมิติต่างๆ ของประเทศต่อไป
นอกจากนั้น เมื่อ 11 มีนาคม 2568 นายวราวุธ ยังได้นำคณะเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรีสมัยที่ 69 (Commission on the Status of Women) หรือการประชุม CSW 69 ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 30 ปี ปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี และยังได้ได้เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี หัวข้อ กลไกลระดับชาติในการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและการเพิ่มศักยภาพให้กับผู้หญิงและเด็กผู้หญิง: การยืนยันความมุ่งมั่นในการจัดสรรทรัพยากรและการเร่งรัดการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการปักกิ่ง พร้อมทั้งมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยประชุมร่วมกัน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย, มอนเตเนโกร, ไนจีเรีย, โดมินิกัน รีพับลิค และ ตุรเคีย
นายวราวุธ เปิดเผยผลประชุมหารือว่า ในส่วนของประเทศไทยได้นำเสนอว่ารัฐบาลของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยเรามีรัฐธรรมนูญที่ปกป้องสิทธิของผู้หญิง และยังมีมาตรการต่างๆ ตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมาย เราพูดถึงการดำเนินการปกป้องสิทธิและความปลอดภัยของนักกีฬาผู้หญิง ภายใต้โครงการ Safe Sport ที่จะดูแลนักกีฬาผู้หญิงให้รอดพ้นจากการถูกล่วงละเมิด เรามีศูนย์ที่จะปกป้องสตรีที่มีอยู่ทั่วประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และการสนับสนุนเศรษฐกิจสำหรับสตรีเพื่อความเสมอภาคทางรายได้