19 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "เชื่อมั่นประเทศไทย" ในงานสัมมนา Matichon Leadership Forum 2025 Trust Thailand โดยก่อนเข้าร่วมงานนายกรัฐมนตรี ได้ซื้อหนังสือ 2 เล่ม จากสำนักพิมพ์มติชน คือ ประชุม (ลับ) กับธงทอง ของอาจารย์ธงทอง จันทรางศุ และนิทานการเงิน ของนายยังชิน แก้วชัยเจริญกิจ
นายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีกล่าวปาฐกถาว่า ตลอดปีที่ผ่านมาประเทศไทยเจอปัญหามากมายไม่ว่า จะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง แต่ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ได้เห็นสัญญาณที่ดีมากคือ ปลายปีที่ผ่านมามีตัวเลขจีดีพี ปี 2567 ขยายตัวขึ้น 2.5% จากที่วางไว้ 2% ในปี 2566 ซึ่งจะเห็นได้ว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ให้ประชาชนมีการใช้จ่ายเกิดขึ้น ส่งผลให้การบริโภคในประเทศขยายตัว และที่เห็นได้ชัดเจนคือ ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากการให้วีซาฟรีหลายประเทศ และยังมีความเชื่อมั่น ความมั่นคง ความปลอดภัย ทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นจากทั่วโลก
ตั้งเป้าจีดีพีปี68 ต้อง 3 %
สำหรับปี 2568 รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้จีดีพีเติบโตขึ้นอยู่ที่ 3% โดยที่มีแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มมากขึ้น และการใช้จ่ายของประชาชนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาครัฐเองก็ต้องมีส่วนช่วยผลักดันในการใช้งบลงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้เรียกทุกภาคส่วนคุยกัน เพื่อให้ผลักดันงบต่าง ๆ ให้เกิดการลงทุน เช่นการก่อสร้างต่าง ๆ ทำให้เกิดการจ้างงาน เงินในระบบเกิดการหมุนเวียนมากขึ้น
อย่างไรก็ตามตัวเลขที่ออกมา หากนำ จีดีพี ประเทศไทยไปเทียบกับประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนถือว่า เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าประเทศอื่น โดยที่ไม่ได้ดูรายละเอียดของปัจจัยภายใน และภายนอกประกอบกัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือว่า ยังดูไม่ครบในปัจจัย เช่นอย่างเห็นได้ชัดคือ อุตสาหกรรมของประเทศไทย ยังไม่ได้มีการพัฒนามานานแล้ว ทั้งที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนมีการพัฒนามาเยอะแล้ว เช่น ประเทศมาเลเซียที่มีการลงทุนในเซมิคอนดักเตอร์อย่างต่อเนื่องมายาวนาน แต่ประเทศไทยไม่มีเลยระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนเวียดนาม ก็มีการพัฒนาทักษะให้กับประชาชน เช่น การเขียนซอฟแวร์ต่าง ๆ
นอกจากนี้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจก็ยังไม่เพียงพอ เพราะธนาคารยังปล่อยเงินกู้ไม่มากพอ โดยเฉพาะกับผู้กู้ที่มีความเสี่ยง ทำให้เกิดการฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ กลุ่มของ SME ซึ่งมีอยู่ 75% ของประเทศ เมื่อกลุ่มธุรกิจเล็ก ๆ เหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ หรือกู้เงินได้ ทำให้ประเทศไทยก็เป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิม ที่ไม่ได้ขยายตัวมากนัก
ส่วนภาครัฐงบประมาณก็ยังไม่เพียงพอ รายได้ส่วนใหญ่ที่รัฐบาลได้ก็จะถูกใช้ในเรื่องของงบประจำเป็นส่วนใหญ่ ที่ต้องจ่ายประจำทุกปี เพราะฉะนั้นการที่จะเหลืองบประมาณในการลงทุนให้เกิดเม็ดเงินมากขึ้นก็เหลือน้อย ซึ่งตนเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็พยามบอกทุกคนว่า ให้รัดเข็มขัด งบประมาณ แต่ต้องทำการลงทุนควบคู่ไปด้วย ซึ่งต้องบาลานซ์ให้ดี
ขณะที่ความกำจัดในการลงทุน เพดานกู้ก็ไม่เหลือแล้ว ทำให้รัฐบาลชุดนี้เจอปัญหาเหล่านี้ แต่แน่นอนว่า รัฐบาลก็พยามหาทางออกในมุมต่าง ๆเพื่อที่จะทำให้เงินลงทุน ทุกบาททุกสตางค์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังไม่มีการทำการตลาดเพื่อชูจุดแข็งของประเทศไทยดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ เมื่อเม็ดเงินจะต่างประเทศไม่เข้ามา ทำให้การขยับของจีดีพี เป็นไปได้ยากมากขึ้น แต่ทราบดีว่าปัญหานี้ต้องใช้เวลาในการแก้ไข ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการแก้พยายามดึงเม็ดลงทุนต่างประเทศเข้ามาตั้งแต่สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ซึ่งต้องไปสร้างความเชื่อมั่นให้กับกองทุนก่อน โดยโครงการที่บีโอไอ เสนอมา คือทำตลาดดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ยอดการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 35% หรือ 1.14 ล้านล้านบาท คิดเป็น 5% ของจีดีพี ซึ่งถือว่า เห็นผล
นอกจากนี้ ต้องเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน เพื่อให้ธุรกิจสามารถฟื้นตัว และเริ่มต้นใหม่ได้ ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ได้เห็นความสำคัญเป็นอย่างมากนั่นก็คือ การสร้าง Man made destination เพื่อดึงดูดสถานที่ใหม่ ๆ ในการให้นักท่องเที่ยวเข้ามา ซึ่งตอนนี้ก็มีมีแผนที่จะสร้างทุกจังหวัด ให้เกิดความต่อเนื่อง ไม่จำเป็นว่า จะต้องเป็นจังหวัดหลักเท่านั้น แต่สร้างที่จังหวัดเมืองรองด้วย เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวโดย ใช้ซอฟพาวเวอร์สนับสนุนผ่าน festival เพื่อให้ประเทศไทยมี Low season เลย
วอนแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย
"สำหรับมาตรการระยะเร่งด่วนรัฐบาลได้พูดคุย และขอความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ที่มีกำไรเข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องในการปล่อยเงินกู้ให้กับคนไทย เพื่อที่จะได้อัปเกรดธุรกิจของตัวเอง และขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาลดดอกเบี้ย ลดค่าใช้จ่ายให้กับประเทศไทย ซึ่งมองว่า ยังสามารถทำได้ เพราะปัจจุบันนี้เงินเฟ้อยังน้อยอยู่ "
นอกจากนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนในอนาคต ถือเป็นเป้าหมาย ไม่ว่า จะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า, อุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ หรือ Ai และเซมิคอนดักเตอร์
ลุยต่อเนื่อง รถไฟฟ้าเร็วสูง-แลนด์บริดจ์
ส่วนเรื่องของรถไฟ รถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เชื่อมต่อไทย-ลาว-จีน (กรุงเทพฯ-หนองคาย) หากก่อสร้างแล้วเสร็จเชื่อว่า จะลดระยะเวลาการส่งขนส่งได้อย่างมาก ลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ มีการจราจรการขนส่งเพิ่มขึ้น เชื่อว่า จะเกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น และมีอาชีพใหม่เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้รัฐบาลจะผลักดันเรื่องโครงการแลนด์บริดจ์ ฝั่งอ่าวไทย และอันดามันต่อไป เพื่อจุดประสงค์ลดเวลาในการขนส่งสินค้า ซึ่งตนเดินทางไปประเทศจีนมา ก็ได้สนับสนุนในเรื่องนี้ โดยมีการขอข้อมูลเพิ่มเติม และมีความสนใจในเรื่องของการลงทุน ซึ่งรัฐบาลต้องไปทำงานต่อใน working book เล็ก ๆ ต่อไป
โดยโครงการแลนด์บริดจ์ หากเกิดขึ้นจริงแล้ว การขนส่งสินค้าต่าง ๆ จะประหยัดเวลาได้อย่างเยอะมาก เช่นผลไม้ ที่มีอายุ หากผ่านโครงการแลนด์บริดจ์ก็จะลดระยะเวลาได้ถึง 4 วัน และสามารถประหยัดต้นทุนได้ถึง 15% ซึ่งมีคนจีนจำนวนมากที่เป็นแฟนผลไม้ของไทย และเมื่อวานนี้ที่ประชุม ครม. ที่จังหวัดสงขลา มีคำถามเรื่องรัฐบาลจะสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์อย่างไร หลังมีคนมาต่อต้าน ซึ่งตนมองว่า ไม่แปลก เมื่อประเทศจะมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอนว่า จะต้องมีคนแสดงความคิดเห็นทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เป็นไปตามระบบประชาธิปไตย และรัฐบาลตระหนักในเรื่องนี้ดี และพร้อมที่จะรับฟังฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกคน และต้องมีเวลาในการอธิบายว่าทำไมโครงการใหญ่ ๆ ถึงอยากจะสนับสนุนต่อเพราะบางเรื่องรัฐบาลอยากจะให้เป็นเรื่องของภาพเล็ก และสามารถแก้ไขปัญหาได้ภายในหนึ่งปี เช่น เรื่องของปัญหาอุทกภัยที่เรามีการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาทุกปี ซึ่งจะดีกว่านี้ถ้าไม่ต้องเกิดปัญหาเหล่านี้ และต้องจ่ายเงินเยียวยาทุกปี
นอกจากนี้รัฐบาลก็ให้ความสำคัญให้คนไทยไปลงทุนต่างต่างประเทศจึงมีการทำ FTA กับสหภาพยุโรปไปแล้ว 4 ประเทศ พร้อมมีแผนการว่า จะลงนามให้ครบทุกประเทศ เพื่อให้การลงทุนจากประเทศไทยเป็นไปอย่างราบรื่น
ส่วนเรื่องหนี้ครัวเรือนถือเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งรัฐบาลก็ได้บรรเทาหนี้ต่าง ๆ ผ่านโครงการคุณสู้ เราช่วย ที่ต้องการช่วยเหลือหนี้สินเชื่อบ้านรถยนต์ และธุรกิจ SMS ขนาดเล็ก ซึ่งตัวเลขสำหรับการแก้ไขหนี้ครัวเรือน และผู้ประกอบการรายย่อยตั้งแต่สมัยนายกเศรษฐา มีการยกหนี้รายย่อยไปแล้วกว่า 8.3 แสนบัญชี ทำให้รายย่อยเหล่านี้หลุดออกจากเครดิตบูโร และเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อีกครั้ง ในรัฐบาลนี้
ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นเรื่องใหญ่
ขณะที่ปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์ ที่ยิ่งฟังยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องเล็กอีกต่อไป โดยรัฐบาลได้มีการตัดไฟฟ้า ตัดน้ำมันที่จะส่งไปทางเมียนมา และได้รับคำชมจากประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ซึ่งถือว่า เป็นประโยชน์ และรัฐบาลจัดการได้เด็ดขาด และทางจีนก็มีความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ และช่วยเหลือสนับสนุนในเรื่องนี้ต่ออย่างจริงจังเป็นระบบ และเป็นรูปแบบ
โดยขณะนี้มีตัวเลขที่เห็นได้ชัดคือ ฝั่งเมียนมาได้ปล่อยตัวเหยื่อที่ถูกบังคับไปทำงานคอลเซนเตอร์ กว่า 300 คน แต่ยังเหลืออีกประมาณ 7,000 คนที่ยังรออยู่ และอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาระหว่างประเทศ และมีรายงานว่า มีการใช้ไฟฟ้าลดลง 40% ซึ่งถือว่า เป็นความสำเร็จอย่างมาก นอกจากนี้รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดมาตรการป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่จะบังคับใช้ ให้บริษัทโทรคมนาคม และธนาคารพาณิชย์ร่วมกันรับผิดชอบแก่ผู้เสียหาย
นอกจากนี้ความเชื่อมั่นที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันสร้างความเชื่อมั่น เช่น การร่วมมือเรื่องคอลเซ็นเตอร์ เป็นเรื่องของรัฐบาลกับรัฐบาล (G to G) เป็นเรื่องเซนซิทีฟ เราไม่สามารถผิดขั้นตอนอะไรได้ ซึ่งเมื่อตนเองโดนสื่อมวลชนถาม เรื่องต่างประเทศก็ไม่สามารถตอบได้ทันที เนื่องจากมีขั้นตอนอยู่ เพราะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไม่ว่า จะพูดอะไร หรือสัมภาษณ์ที่ไหน ถือว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ใช่แล้ว ตกลงแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องที่เกี่ยวกับต่างประเทศต้องปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศว่า พูดได้หรือไม่ เซนซิทีฟมากน้อยแค่ไหน
นายกรัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลจะเดินหน้าในการดึงเม็ดเงินจะต่างประเทศ ให้เข้ามา พร้อมให้คำมั่นใจว่า จีดีพีของประเทศก็ต้องดีขึ้นเป็นระดับอย่างแน่นอน ขอให้ทุกคนเชื่อมั่น และมีกำลังใจเพราะรัฐบาลเห็นทุกปัญหาของทุกคน และพร้อมที่จะสนับสนุนให้ความร่วมมือกับประชาชนและภาคเอกชนอย่างเต็มที่