svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สุทิน-ชูศักดิ์" นำทีม สส. เพื่อไทย แถลงจุดยืน ย้ำหนุนญัติติ "หมอเปรมศักดิ์"

"เพื่อไทย" หนุน "หมอเปรมศักดิ์" ชง ญัตติยื่นศาลรธน.ตีความปมประชามติ"แก้รธน" เหตุประสานทุกฝ่ายแล้ว ประเมินล้มเหลวถูกตีตกแน่

13 กุมภาพันธ์ 2568  พรรคเพื่อไทย นำโดย นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  นายสุทิน คลังแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ แถลงภายหลังองค์ประชุมล่ม ขณะที่มีการพิจารณาวาระพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1  

โดยยืนยันว่า พรรคเพื่อไทย มีเจตนารมณ์ที่จะแก้รัฐธรรมนูญ และแก้ให้ได้ มุ่งต่อความสำเร็จ ไม่ใช่เพียงแต่ได้แก้ตามนโยบายที่ให้ไว้ แล้วมาแสดงว่าได้แก้แล้ว จบไม่จบ ได้ไม่ได้ เรื่องนั้นไม่ใช่ เพราะเรามุ่งหวังความสำเร็จสถานการณ์จึงเกิดวันนี้ขึ้น โดยหลังจากที่พยายามได้ยื่นมาหลายรอบ แต่เมื่อยื่นแล้วก็ยังมีข้อกังขาว่าประธานจะบรรจุหรือไม่บรรจุ นั่นคือความคลุมเครือและเป็นปัญหามาตลอด และรู้ดีว่าจะเป็นปัญหาต่อไป

ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย

นายสุทิน กล่าวว่า เมื่อร่างดังกล่าวถูกบรรจุเข้าสู่สภาแล้ว นับวันที่จะพิจารณาคือที่ 13-14 ก.พ. เราก็พยายามที่จะประสานงานทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดความเป็นไปได้ นั่นคือเสียงพรรคร่วมรัฐบาลและเสียงของ สว. เมื่อเราทำเต็มที่และขอความร่วมมือเต็มที่แล้ว จากการประเมินเมื่อวานนี้ (12 ก.พ.) พบว่า โอกาสที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านนั้นยาก โอกาสตกสูง โอกาสที่จะผ่านแทบไม่มี ซึ่งเมื่อไม่มีโอกาสเราจะทำอย่างไร จะจำนนต่อสถานการณ์ โดยเราจะเสนอและพิจารณากันไป ปล่อยให้โหวตแล้วให้ตกหรือไม่ หากทำแบบนั้นคือความล้มเหลว และเราทราบดีว่าความล้มเหลวรออยู่แล้ว 

สุทิน คลังแสง สส. พรรคเพื่อไทย

เราจึงแสวงหาอีกวิธีหนึ่งที่พอจะมีความหวังคือ ขอให้ร่างได้อยู่ในสภา ยังไม่ตก  คือเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และระหว่างที่รัฐธรรมนูญกำลังวินิจฉัย ร่างก็ยังอยู่ และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมา ก็มีโอกาสสำเร็จ ก็จะเดินหน้า แต่หากไม่เป็นคุณ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาในทางแก้ไม่ได้ ก็จะได้ชัดเจนว่าแก้ไม่ได้

แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยก็เกิดความเห็นที่ต่างกัน เช่น ต้องทำประชามติกี่รอบ และสมาชิกรัฐสภาก็เกิดความกังวลว่าพิจารณาและลงมติจะถูกตัดสินหรือดำเนินคดีหรือไม่ เพราะมีตัวอย่าง ต้องยอมรับว่ามีสมาชิกจำนวนไม่น้อย ไม่มั่นใจในสถานะ หากยังประชุมทางที่ดีคือยื่นศาลฯ ให้ตีความ เชื่อว่าไม่เกิน 1 เดือน และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความมาแล้ว ความหวังเรายังมี

วันนี้เราจึงสนับสนุนญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. แต่เมื่อญัตตินี้แพ้ต่อสภา เราก็ต้องพิจารณากันต่อ เราก็มองเห็นคำตอบอยู่ข้างหน้า ว่าเมื่อไปข้างหน้าก็ตก ฉะนั้นเราจึงปรับวิธีการต่อสู้ เพื่อให้บรรลุผลของเรา 

"วันนี้จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ร่างนี้ไม่ตก และให้อยู่นานที่สุด นั่นคือองค์ประชุม ถ้าไม่ครบก็ประชุมต่อไม่ได้ ก็จะมีเวลาในการตั้งหลัก เพื่อที่จะกลับมาสู้เพื่อเป้าหมายอีกครั้ง ดีกว่าดันทุรังไปว่าพิจารณาไปแล้ว แล้วไปตายข้างหน้านั้น เราไม่เอา ฉะนั้นจึงเกิดเหตุการณ์ในวันนี้ ซึ่งเหตุการณ์มันเร็วมาก เราจึงคิดว่าทำยังไงให้ร่างนี้อยู่และยืดชีวิตต่อไปได้ เพื่อนสมาชิกบางคนบางพรรค อาจจะมองว่าผิด เรามีเจตนาเพื่อที่จะผลักดันให้สำเร็จ เดินทางตรงไม่ได้ก็ขอเดินทางโค้ง ทางโค้งยังไม่สำเร็จขอหยุดการเดินทางไว้ก่อนดีกว่าเดินไปตกเหว” นายสุทิน กล่าว 

นายสุทิน กล่าวต่อว่า ในวันที่ 14 ก.พ. ประธานรัฐสภา ได้แจ้งว่ายังมีประชุมร่วมรัฐสภาอยู่ ส่วนจะล่มหรือไม่ ไม่แน่ใจ แต่หากทุกคนไปคิดแล้วว่าพอจะมีทางชนะกันในสภาได้ เราก็จะมาต่อสู้ในสภา 

ด้าน นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เท่าที่วิเคราะห์การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มี 2 ร่างอยู่ในขณะนี้ แนวโน้มก็คงจะไม่ผ่านมติของรัฐสภา หรือเสียงของ สว. ที่จะเห็นชอบไม่ถึง 67 คน ซึ่งสาเหตุสำคัญที่เขาอ้างคือ ประธานรัฐสภาสั่งบรรจุระเบียบวาระดังกล่าวเข้ามาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พุ่งไปที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปี 2564 คือยังบรรจุไม่ได้จนกว่าจะถามประชาชนเสียก่อน คือจะทำประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง

เมื่อประเด็นวิตกกังวลเป็นเช่นนี้ว่าจะไม่ผ่านเพราะเหตุนี้ เราจึงตั้งว่าถ้าแบบนั้นประเด็นนี้ก็ควรสอบถามกันให้ชัดเจนว่าท้ายที่สุดการบรรจุระเบียบวาระเช่นนี้ที่นำไปสู่การทำประชามติ 2 ครั้ง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือชอบด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงนำไปสู่การสนับสนุนญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ โดยหวังว่าหากศาลรัฐธรรมนูญตอบมาในทางที่เป็นคุณ คือที่ทำถูกต้องแล้ว ก็สามารถเดินหน้าต่อได้

ฉะนั้น คิดว่าหากเราพิจารณากันต่อ ทุกคนก็ทราบดีกันอยู่แล้วว่านำไปสู่ญัตติตกไป และเมื่อตกไป ก็ถือว่าน่าเสียดาย คือเราทำใหม่ก็ต้องเริ่มต้นใหม่ และเมื่อเริ่มต้นใหม่ปัญหาก็คาราคาซังเหมือนเดิม ก็จะวนเวียนมาสู่ปัญหานี้อีก

ฉะนั้นที่เราทำ เจตนาคือต้องการให้ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญยังคงอยู่ในรัฐสภา และคิดหาทางกันต่อไปว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประสบความสำเร็จ และยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีเจตนาเตะถ่วง มีเพียงเจตนาจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะเป็นนโยบายที่เราเสนอไว้ และมีความพยายามจะทำอย่างนี้มาตลอด และย้ำว่าเราจึงสนับสนุนญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ โดยหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญออกมาแล้วมีความชัดเจน เราจะได้ดำเนินการเพื่อนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ได้ 

เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยจะทำอย่างไร เพราะอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เราอยากเคลียร์ปัญหานี้ให้ได้ ซึ่งพบว่าปัญหานั้นไม่ใช่ไม่อยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เพราะกระบวนการและวิธีการไม่ถูกต้อง ดังนั้นพรรคเพื่อไทยเห็นว่าควรถาม เพื่อเคลียร์ปัญหาให้ชัดเจน  

ด้านนายสุทิน กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่ลำบาก ถึงวันนี้ประชาชนจะมองออกว่าเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ มีอยู่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกคือพรรคภูมิใจไทย และ สว. ส่วนหนึ่ง ที่ไม่แก้ , กลุ่มที่ 2 คืออยากแก้ แสดงตัวว่าจะแก้ แต่มีข้อแม้ว่าแก้จริงหรือไม่ พยายามที่จะดันต่อไปทั้งที่รู้ว่าถูกตีจะตก สังคมจะรู้ว่าแก้เพื่อหวังผลสำเร็จหรือไม่ ขณะที่พรรคเพื่อไทย เดินเกมเต็มที่แต่เจออุปสรรค เราจึงต้องชะลอเพื่อที่จะหาทางสู้ใหม่ ประชาชนคงมองออกว่าใครคือกลุ่มที่แก้โดยหวังผล หรือกลุ่มที่สักแต่ว่าจะได้แก้ เราอยากพูดคำนี้มากกว่า ไม่ใช่แก้แล้ว ยิ่งเดินไปก็ยิ่งจะช้ำ แล้วคนที่รู้ว่าเดินต่อก็จะตก เดินไปทำไม กับของเราที่รู้ว่าจะตกเราไม่เดินต่อ แต่เราก็ชะลอ เพื่อที่จะตั้งหลักแล้วเดินใหม่ ประชาชนน่าจะมองออก 

ส่วนใครจะทำให้ตก นายสุทิน กล่าวว่า ในสภาก็พอจะมองออก คนที่พยายามจะเดินหน้าอภิปรายแล้วได้โหวต คนนั้นคือคนที่ตนคิดว่าเดินหน้าแล้วจะตก แล้วจะเดินทำไม