13 กุมภาพันธ์ 2568 ในการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 13- 14 กุมภาพันธ์ เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ซึ่งเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของสองพรรค ฉบับแรกเป็นร่างแก้ไขรธน.ของนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชนและคณะ และ ร่างแก้ไขรธน. ฉบับของนายวิสุทธ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ
ล่าสุดมีรายงานจากวุฒิสภาว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการวิชาการวุฒิสภา จัดกิจกรรม Morning Talk ในหัวข้อมุมมอง สว.ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีนายมงค สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา, พลเอกเกรียงไกร ศรีรักษ์ และนายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา เข้าร่วมการสัมมนา โดยมีการเชิญนายวุฒิสาร ตันไชย อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ และนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร.มาเป็นวิทยากร
โดยมีรายงานว่า นักวิชาการในฐานะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีการให้ความเห็นในเชิงกฎหมายว่า หลักการ และเหตุผลของทั้ง 2 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มมาตรา 256/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ทั้งจากพรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย เป็นการเสนอให้รัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีการเพิ่มหมวด 15/1 ซึ่งขัดหรือแย้งกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 เพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องจัดการออกเสียงประชามติก่อนเสมอ
จนทำให้สมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่ง มองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นมาตราใด ซึ่งรวมถึงมาตรา 256 ด้วย สามารถทำได้ด้วยการให้รัฐสภาพิจารณาก่อน แล้วค่อยจัดการออกเสียงประชามติในกรณีที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้จัดการออกเสียงประชามติ แต่ทั้ง 2 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งจากพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน ไม่ใช่เป็นการแก้ไข แต่เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น จะต้องไปถามประชาชนก่อน
แต่อย่างไรก็ตาม ความเห็นดังกล่าวที่เกิดขึ้น ถือเป็นความเห็นในจากวงเสวนาเท่านั้น ไม่ได้ผูกพันการลงมติของสมาชิกวุฒิสภา ที่มีเอกสิทธิ์และดุลยพินิจในการลงมติของตนเอง
นอกจากนั้น ยังมีข้อสังเกตจากสมาชิกวุฒิสภาว่า หากสมาชิกวุฒิสภา ไปร่วมสังฆกรรม ทั้งลงมติเห็นชอบแก้ไข หรือลงมติไม่ออกเสียง ที่ตีความได้ว่ายึดตามมติเสียงข้างมาก ต้องพึงระวังว่า อาจจะมีผู้ยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญในภายหลังว่า ผู้ที่ลงมติเห็นชอบ ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (1) ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มอำนาจของวุฒิสภา หรือลดอำนาจวุฒิสภา หรือไม่ทำประชามติก่อน อาจจะเข้าข่ายตีความเป็นการล้มล้างการปกครอง และต้องตามรอยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้
ส่วน สว.จะดำเนินการกันอย่างไรต่อไปนั้น แหล่งข่าว ระบุว่า เป็นปัญหาที่ยังไม่มีคำตอบ เพราะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแต่ละคน รวมไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ก็ยังไม่เคยมีการพูดคุยเรื่องนี้กันมาก่อน
ส่วนก่อนหน้านี้ที่พรรคเพื่อไทย เคยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 พร้อมยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย แต่ศาลฯ ก็ไม่รับวินิจฉัยนั้น แหล่งข่าว ระบุว่า นักวิชาการในวงเสวนา ได้ชี้แจงว่า เป็นคนละเงื่อนไข เพราะช่วงเวลานั้น ไม่ได้ยื่นแก้ไขในหมวดนี้ แต่เป็นการแก้ไขในเรื่องอื่น ศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่รับวินิจฉัย เพราะกระบวนการไม่ครบถ้วน แต่หากใช้เงื่อนไขเดียวกันเช่นนี้ และศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัย ก็ตีความได้ว่า สามารถลงมติได้ แต่ในคราวนั้น สส. และ สว.ชุดก่อนกลับไม่มีการลงมติใด ๆ จึงเชื่อได้ว่า มีปัญหาจริง
แหล่งข่าวในวุฒิสภา ยังยืนยันว่า ในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา ยังคงเข้าประชุมโดยพร้อมเพรียงตามปกติ ส่วน สว.คนใดจะอภิปรายอย่างใดก็ถือเป็นสิทธิ แต่ขั้นตอนการลงมตินั้น ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะยังไม่มั่นใจว่า ในการพิจารณาของรัฐสภา จะเดินไปถึงขั้นตอนไหนบ้าง เพราะก็ยังมีนายแพทย์เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา ที่เตรีมเสนอญัตติขอให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยก่อน