12 กุมภาพันธ์ 2568 ช่วงเช้า ที่ กองพันทหารราบที่3 กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ (ร.12 พัน.3 รอ.) อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท. นายปริญญา โพธิสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว พร้อมทหาร หน่วยงานความมั่นคง และโอเปอเรเตอร์ค่ายโทรศัพท์ ประชุมติดตามสถานการณ์ชายแดน จ.สระแก้ว เพื่อเร่งปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการข้ามชายแดนผิดกฎหมาย
โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ได้รายงานสถานการณ์ชายแดน ว่า พื้นที่สระแก้ว 9 อำเภอ จุดผ่านแดน 3 จุด มูลค่าการค้าชายแดน 1 แสนล้านบาท ไม่มีการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนการข้ามแดน มีทั้งแบบพาสปอร์ต กับ Border Pass จะต้องมีที่อยู่อาศัยไม่น้อยกว่า 6 เดือน ถ้าไม่มีทั้ง 2 แบบ ก็มักจะใช้ช่องทางธรรมชาติในการข้ามแดน
ทั้งนี้การข้ามแดนผิดกฎหมาย ทาง จ.สระแก้ว ได้ดำเนินการป้องกันการเข้าออกอย่างผิดกฎหมาย คนไทยที่ข้ามแดนมีจำนวนมาก และพบว่าคนไทยยังอยู่ปอยเปตจำนวน มากกว่า 30,000 คน
ส่วนปัญหายาเสพติด ด้วยภูมิประเทศและบริบทฝั่งปอยเปยที่มีความเจริญ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ถูกส่งออกมากกว่านำเข้า ดังนั้นทาง จ.สระแก้ว จึงมีข้อเสนอของจังหวัด 3เรื่อง คือ 1.เนื่องจากแนวชายแดน จ.สระแก้ว มีเสาส่งสัญญาน และมีการรื้อสายส่งสัญญาณ ในการรื้อ อยากให้ กสทช.หรือ สภาความมั่นคงแห่งชาติ แจ้งให้ จ.สระแก้ว ทราบถึงระยะห่างจากแนวชายแดนว่า ให้เสาสูงเท่าไร เพื่อให้จังหวัดแจ้งท้องถิ่นในการอนุญาตก่อสร้าง ให้ไม่เกินที่ กสทช.กำหนด
2. เสนอให้รัฐบาลจัดทำรั้วตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ที่มีความยาว165 กิโลเมตร แต่หักพื้นที่อ้างสิทธิ และพื้นที่ทุ่นระเบิด 55 กิโลเมตร ทั้งนี้เพื่อเป็นการลักลอบข้ามแดนแบบผิดกฎหมาย รวมถึงจ.สระแก้ว
และ 3.อยากขอความอนุเคราะห์ ให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศ ให้กงสุลใหญ่เข้ามาดูแลคนไทยที่อยู่กัมพูชา โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเหยื่อค้ามนุษย์เพื่อช่วยเหลือให้กลับมาอยู่ในกระบวนการการช่วยเหลือ หลังจากก่อนหน้านี้ อดีตนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้มีการตั้งสถานกงสุลขึ้น เพื่อดูแลช่วยเหลือคนไทยทางทิศตะวันตกของกัมพูชา
นอกจากนี้ในที่ประชุม ยังได้รายงานข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า แนวชายแดนที่เป็นลำคลองยาว มีระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร หากเป็นหน้าแล้งสามารถเดินข้ามได้
มาตรการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย สร้างรั้วรอบขอบชิดตามแนวดังกล่าว และตั้งจุดตรวจเสริมแนวลำคลองด้วย
ขณะที่ นายไตรรัตน์ รักษาการเลขาธิการ กสทช. กล่าวในที่ประชุมถึงผลการตัดสัญญาณโทรศัพท์และตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ ว่า สัญญาณที่ติดชายแดนระยะ 50-100 เมตร ได้ให้รื้อสายส่งสัญญานลงมาหมด คือ ที่บ้านโคกสะแบง 3 เสา แต่ไม่ได้ล้มเสาเพราะค่อนข้างทำได้ยาก และถ้าห่างชายแดน 1 กิโลเมตร ให้ปรับลดระดับ เหลือความสูงของการส่งสัญญาน 10-15 เมตร คือ ที่ตลาดเบญจวรรณ 2 เสา ผลการดำเนินการ ทำให้สัญญาณที่จะไปยังฝั่งกัมพูชา ลดลงไปแน่นอน
ส่วนการตัดสายสื่อสารที่ได้ดำเนินการตามยุทธการอรัญ 68 พบว่ามีสายสื่อสาร 1 เส้นที่ ไม่ปรากฎเจ้าของ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังอยู่ระหว่างการไล่สาย เพื่อหาต้นตอว่า มีการปล่อยสัญญาณอินเตอร์เน็ตมาจากจุดใดในประเทศไทย เบื้องต้นพบว่า สายเส้นดังกล่าวมีการใช้สายเชื่อมต่อกันเป็นช่วงๆ ไม่ได้เป็นสายยาว 17 กิโลเมตร ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการไล่ตรวจสอบ
ทั้งนี้ทาง กสทช. ได้เสนอในที่ประชุม 5 เรื่องด้วย คือ เรื่องมาตรการระงับใช้ wifi calling บริเวณชายแดน , มาตรการการจัดการบริการส่งข้อความสั้น หรือ sms แบบ A2P และ P2P , มาตรการลงทะเบียนซิมบ็อก , มาตรการห้ามตู้รับลงทะเบียนเปิดใช้งานซิมการ์ด , มาตรการการกำกับการใช้งาน e-sim
หลังจากนี้ ทาง กสทช.มีมาตรการเพิ่มเติม หากผู้ที่มาติดอินเตอร์เน็ตตามบ้านจะให้โอเปอร์เรเตอร์ มาแจ้ง ท้องถิ่นก่อน เพื่อลงทะเบียน และเก็บข้อมูลเอาไว้ใช้ในการตรวจสอบการใช้งานด้วย
นายภูมิธรรม กล่าวช่วงท้ายว่า อยากให้เข้มงวด และเต็มที่ อย่าให้มีการร้องเรียนหรือมีหลักฐานส่งมาให้รัฐบาล ส่วนสิ่งที่เสนอที่จังหวัดเและหน่วยงานเสนอมา โดยเฉพาะเรื่องของการทำรั้วแนวชายแดน ระยะทาง 55 กิโลเมตร และการซ่อมกล้องวงจรปิด ตนจะกลับไปพิจารณา เพราะงบประมาณทำรั้ว 286 ล้านบาท และซ่อมซีซีทีวี รวมถึงงบติดตั้งกล่องซีซีทีวีแบบใส่ซิมการ์ด และแผงโซลาร์เซลล์ ของทางตำรวจ เพื่อเป็นการลดช่องว่างในการกระทำความผิดด้วย