svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

คดี "อ.พิรงรอง" ไม่สะเทือนกฎ "Must Carry" ชี้เป็นคดีส่วนตัว

คดี "อ.พิรงรอง" ไม่สะเทือนกฎ "Must Carry" แม้จะขึ้นศาลอาญาคดีทุจริตฯ ชี้เป็นคดีส่วนตัว เรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ ซึ่งยังมีศาลสูงให้ต่อสู้ต่อไป

หลังจาก ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาจำคุก ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ม.157 กรณีทำเอกสารรายงานการประชุมอันเป็นเท็จ แจ้งไปยังผู้ให้บริการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เรื่อง โฆษณาแทรก ผ่าน Over The Top หรือ (โอทีที) ทำให้ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ได้รับความเสียหาย เมื่อวานนี้ (6 ก.พ.68)

7 กุมภาพันธ์ 2568 แหล่งข่าวจากวงวิชาการด้านสื่อสารโทรคมนาคม ยืนยันว่า คดีของ อาจารย์พิรงรอง แม้จะขึ้นศาลอาญาคดีทุจริตฯ แต่เป็นคดีส่วนตัว เรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ ซึ่งยังมีศาลสูงให้ต่อสู้ต่อไป 

แต่คดีนี้ ศาลไม่ได้พิจารณาลึกลงไปถึงมาตรการเกี่ยวกับกฎ Must Carry ว่าถูกนำไปใช้ในแพลตฟอร์มออนไลน์ แล้วมีโฆษณาได้หรือไม่ และไม่ได้ก้าวล่วงไปพิจารณาเกี่ยวกับมาตรการกำกับดูแล OTT หรือ โอเวอร์เดอะท็อป ด้วย

 

สำหรับกฎ Must Carry หมายถึง หลักเกณฑ์การเผยแพร่ภาพและเสียงโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป โดยกำหนดให้แพลตฟอร์มผู้ให้บริการโทรทัศน์ทุกรายที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. นำเนื้อหาคอนเทนต์ไปออกอากาศในทุกช่องทาง ทั้งทางเสาอากาศ จานดาวเทียม เคเบิลทีวี และช่องทางออนไลน์

 

โดยต้องออกอากาศต่อเนื่องตามผังรายการของแต่ละสถานี ไม่มีจอดำเกิดขึ้นในบางรายการ และกรณีที่เป็นการซื้อลิขสิทธิ์กีฬามาถ่ายทอด และเป็นกีฬาของมวลมนุษยชาติ อาจจะต้องไม่มีการไปหารายได้เพิ่มจากการโฆษณาด้วย 

 

กฎ Must Carry เคยมีข้อถกเถียงกันในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง ช่วงที่ไม่มีเอกชนรายใดซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกเมื่อครั้งก่อน เพราะไม่สามารถนำลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดไปหารายได้ได้อย่างเต็มที่ คุ้มค่ากับที่ลงทุน เนื่องจากติดกฎเหล็ก Must Carry ที่ทุกแพลตฟอร์ม สามารถนำคอนเทนต์ไปเสนอได้เช่นกัน