นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย สส.และ สก.ของพรรค ร่วมกันแถลง “วิกฤติ PM 2.5 คือ วิกฤติภาวะผู้นำ” และสะท้อนปัญหาฝุ่น PM2.5 บนดาดฟ้าของอาคารรัฐสภา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล แก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยเสนอให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกันผลักดันการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างจริงจัง อย่าให้มีช่องว่างการบริหารระหว่างผู้นำประเทศ และผู้นำท้องถิ่น โดยจะต้องมองถึงทางออกของปัญหาร่วมกัน เพราะฝุ่น PM2.5 ในปัจจุบันมีปริมาณเกินค่ามาตรฐาน และเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันในขณะนี้ กับปีที่แล้ว พบว่า มีปริมาณหนักหน่วงเพิ่มขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และในวันนี้ ปริมาณฝุ่นที่ได้รับตลอด 24 ชั่วโมง อาจเทียบเท่าการสูบบุหรี่ 1.7 มวล ซึ่งที่ผ่านมาพรรคประชาชน ได้พยายามผลักดันการแก้ปัญหาทั้งระดับประเทศ และท้องถิ่น ทั้งผ่านการเสนอร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด การตั้งกระทู้ถาม และกลไกกรรมาธิการ
ผู้นำฝ่ายค้านฯ ยังระบุว่า ในระดับท้องถิ่นนั้น สก.พรรคก้าวไกล เคยผลักดันข้อบัญญัติรถเมล์อนาคต และพื้นที่สีเขียว เพื่อเพิ่มพื้นที่ปอดให้กับชาวกรุงเทพฯ เพราะปัญหาฝุ่นนั้น ไม่ได้กระทบเพียงประชาชนคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่กระทบตั้งแต่ทารกในครรภ์มารดา ประชาชนกลุ่มเปราะบาง และผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงทุกคน ทุกบ้าน ทุกครัวเรือน พร้อมยังส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศราว ๆ 2,000,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งรัฐบาล และผู้บริหารท้องถิ่น จำเป็นจะต้องดำเนินมาตรการต่าง ๆ ร่วมกันอย่างจริงจัง อุดช่องว่างการบริหารระหว่างกัน และแก้ไขปัญหาเพื่อประชาชนโดยเร็ว
ผู้นำฝ่ายค้านฯ ยังได้สรุปว่า ขณะนี้ มีมาตรการต่าง ๆ ที่ทั้งนายกรัฐมนตรี และผู้ว่ากรุงเทพฯ ทำแล้วแต่อาจยังไม่เพียงพอ หรืออาจจะมีการสื่อสารมาแล้ว แต่ยังไม่เริ่มลงมือทำ และกลุ่มมาตรการที่ยังไม่ได้มีการเริ่มดำเนินการใด ๆ หรือสรุปเป็นนโยบาย “ยังไม่พอ ยังไม่ทำ ยังไม่เริ่ม”
นโยบายที่รัฐบาลยังทำไม่พอนั้น ผู้นำฝ่ายค้านฯ ได้ยกตัวอย่าง เช่น นโยบาย Low Emission Zone หรือ เขตควบคุมมลพิษ ซึ่งในหลายพื้นที่ยังไม่ครอบคลุม จำนวนบังคับใช้น้อยเกินไป และจำนวนรถที่เข้าร่วมโครงการยังไม่มากพอ ดังนั้น จะต้องผลักดันการบังคับใช้มาตรการนี้ให้ครอบคลุมและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น รวมถึงอำนาจที่ยังไม่มากพอของท้องถิ่น เพราะรัฐบาลส่วนกลางยังไม่มอบอำนาจให้ เนื่องจาก กรุงเทพมหานคร ได้สื่อสารว่า ยังไม่มีอำนาจตรวจจับปรับรถที่มีควันดำ ซึ่งจะต้องอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติขนส่งทางบก ที่จะต้องสอดประสานกับรัฐบาลส่วนกลาง ที่จะมอบอำนาจให้กับท้องถิ่น รวมถึงจะต้องตรวจโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล นอกเหนือจากการติดตั้งเครื่องตรวจจับฝุ่น PM2.5 แล้ว การตรวจจับสารพิษสารเคมีต่าง ๆ ที่เป็นบ่อเกิดฝุ่นทุติยภูมิก็ มีมีความสำคัญ โดยเฉพาะเตาเผาขยะของกรุงเทพฯ ที่ควรมีการติดตั้งเครื่องตรวจจับมลพิษด้วย รวมทั้งจะต้องเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยให้กับกลุ่มเปราะบาง เช่น ห้องปลอดฝุ่นในสถานที่ศึกษา หรือสถานสถานพยาบาลต่าง ๆ เพื่อดูแลประชากรกลุ่มเปราะบางทุกกลุ่มให้ได้รับการป้องกันอย่างทั่วถึง
นโยบายที่รัฐบาลยังไม่ทำนั้น ผู้นำฝ่ายค้านฯ ได้ยกตัวอย่างการผลักดันพระราชบัญญัติรถเมล์อนาคต ที่กฤษฎีกาตีความว่า กรุงเทพมหานคร ไม่มีอำนาจในการทำเอง แต่รัฐบาลมีอำนาจเต็มในการออกกฎหมายลำดับรอง หรือประกาศต่าง ๆ เพื่อให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร บังคับให้รถโดยสารสาธารณะทุกสาย จะต้องใช้พลังงานสะอาด หรือต้องใช้รถเมล์ไฟฟ้าอย่างเดียวเท่านั้น รวมถึงการปรับมาตรฐานปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ ให้สอดคล้องกับอายุของรถ สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานสะอาด และการควบคุมมลพิษเรือโดยสารทางน้ำ ที่ผู้ว่ากรุงเทพฯ ออกมาระบุว่า ยังไม่มีอำนาจดำเนินการได้
นโยบายที่รัฐบาลยังไม่เริ่ม ผู้นำฝ่ายค้านฯ ระบุว่า การประกาศเขตควบคุมมลพิษ ที่กรุงเทพมหานคร ยังขาดอำนาจการจัดการมลพิษที่มากเพียงพอ ยังรอประกาศให้กรุงเทพมหานครเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อให้สามารถควบคุมมลพิษที่เกิดจากการปล่อยจากภาคขนส่ง จากโรงงานอุตสาหกรรม การเผาในพื้นที่ภาคการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงจะต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างจังหวัดใกล้เคียงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดปริมณฑล
ผู้นำฝ่ายค้านฯ ย้ำว่า ทั้งหมดนี้ คือข้อเสนอมาตรการทั้ง 3 กลุ่ม ที่พรรคประชาชนเชื่อว่า หากมีการดำเนินการทำอย่างจริงจังมากเพียงพอ ระหว่างผู้บริหารระดับประเทศและระดับท้องถิ่น จะสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมยังได้โชว์หนังสือ ที่ระบุว่า เป็นสิ่งที่พรรคประชาชน เชิญชวนส่วนราชการทุกส่วน และผู้บริหารประเทศ และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาหาทางออกร่วมกัน รวมถึงกำหนดแนวมาตรการนโยบายการดำเนินการทำทันที เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน โดยในวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้ คณะกรรมาธิการที่ดิน และสิ่งแวดล้อมฯ ได้เชิญหน่วยงานราชการหารือร่วมกัน โดยตนเอง ได้หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้งนายกรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะมาร่วมประชุมเอง หรือส่งตัวแทนมา เพราะต้องการมีวิธีหาทางออกร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เป็นวิกฤตร้ายแรงให้กับประชาชนได้ในทันที ซึ่งหากสามารถแก้ไขปัญหาในกรุงเทพมหานครได้ ก็มั่นใจว่า จะเป็นโมเดลแก้ปัญหาในจังหวัดอื่น ๆ ของประเทศได้เพราะในไม่อีกกี่เดือนข้างหน้า พื้นที่ภาคเหนือจะเข้าสู่ฤดูฝุ่น และประชาชนในภาคส่วนต่าง ๆ ก็รอการแก้ไขปัญหาเช่นเดียวกัน