รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม เพื่อเป็นการระลึกถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรก อันเป็นฉบับถาวร ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.7) ทรงพระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย ทางราชการจึงกำหนดให้ วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญ เพื่อระลึกถึงวันสำคัญนี้ และเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญ
วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเรียกว่า "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว" คณะนั้นเป็นการล้มล้างระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยสาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ได้แก่ การที่กำหนดว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎร การใช้อำนาจสูงสุดก็ให้มีบุคคลคณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรดังนี้ คือ พระมหากษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล
กระทั่ง วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.7) ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร ซึ่งมีหลักการต่างกับฉบับแรกในวาระสำคัญหลายประการ อาทิ ได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นการปกครองแบบรัฐสภา ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองเป็นผู้ใช้อำนาจทางคณะรัฐมนตรี ซึ่งพระมหากษัตริย์ ทรงแต่งตั้งให้บริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทน รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติมิได้ใช้แต่เพียงอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่มีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรีในการบริหารแผ่นดินด้วย
อำนาจการจัดให้มีรัฐธรรมนูญ (Pouvoir constituent) หรืออำนาจสูงสุดในการก่อตั้งองค์กรทางการเมือง ซึ่งผู้ที่มีอำนาจในการจัดให้มีรัฐธรรมนูญมีดังนี้คือ
1.ประมุขของรัฐเป็นผู้จัดให้มี
เกิดขึ้นโดยเจตนาของพระมหากษัตริย์แต่ฝ่ายเดียว พระมหากษัตริย์ทรงยอมจำกัดพระราชอำนาจของพระองค์ลงโดยจัดให้มีสภานิติบัญญัติขึ้น รัฐธรรมนูญนี้ยังถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเหนือราษฎรอยู่และไม่ถือว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ เช่น รัฐธรรมนูญของประเทศญี่ปุ่น รัฐธรรมนูญของประเทศโมนาโก เป็นต้น
2.ผู้ก่อการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นผู้จัดให้มี
ในกรณีที่คณะบุคคลจะกระทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร หากกระทำการได้สำเร็จ ผู้ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารจะเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญขึ้น และในบางครั้งก็จะเป็นผู้จัดทำกฎเกณฑ์การปกครองประเทศเสียเองเป็นการชั่วคราวในรูปของประกาศคณะปฏิวัติ และในภายหลังก็อาจจัดให้มีกฎเกณฑ์การปกครองประเทศในรูปของรัฐธรรมนูญต่อไป
3.ราษฎรเป็นผู้จัดให้มี
ราษฎรในที่นี้ หมายถึง ราษฎรที่ร่วมกันก่อการปฏิวัติหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองในประเทศได้สำเร็จ ราษฎรทั้งปวงย่อมกลายเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยซึ่งตนช่วงชิงมาได้ แม้แต่หัวหน้าที่ก่อการปฏิวัติก็จะต้องกระทำการอยู่ภายใต้ความประสงค์ของประชาชน เช่น รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1787 รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ค.ศ. 1791 และรัฐธรรมนูญของรัสเซีย ค.ศ. 1918 เป็นต้น
4.ประมุขของรัฐและราษฎรหรือคณะบุคคลมีอำนาจร่วมกันจัดให้มี
รัฐธรรมนูญชนิดนี้คือข้อตกลงระหว่างกษัตริย์กับราษฎรหรือคณะบุคคลคณะหนึ่ง ซึ่งกระทำหรือถือกันว่ากระทำในนามของราษฎรจัดการร่วมกันให้มีขึ้น จึงมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยค่อนข้างมาก มักเกิดจากการปฏิวัติหรือรัฐประหารซึ่งเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขต่อไป เพื่อความเจริญและความสงบสุขของประเทศชาติ แต่จำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และพระมหากษัตริย์ทรงยอมรับรองรัฐธรรมนูญนั้น
5.ผู้มีอำนาจจากองค์กรภายนอกในฐานะผู้มีอำนาจจัดให้มี
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ได้มีประเทศเกิดใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่เพิ่งได้รับเอกราชและต้องการที่จะมีรัฐธรรมนูญเพื่อแสดงฐานะในทางระหว่างประเทศของตน โดยรัฐเจ้าอาณานิคมที่จะให้เอกราชคืนแก่รัฐใต้อาณานิคมนั้นมักจะตกลงเป็นเงื่อนไขประการหนึ่งกับรัฐใต้อาณานิคมก่อนคืนเอกราชให้เสมอว่า รัฐใต้อาณานิคมจะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญซึ่งรัฐเจ้าอาณานิคมให้การรับรองแล้วด้วยเพื่อบังคับใช้ภายในรัฐใต้อาณานิคมภายหลังที่ได้รับเอกราชแล้ว
สำหรับประเทศไทย การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อใช้บังคับนั้นจะต้องถือว่าเป็นความตกลงร่วมกันระหว่างประมุขของรัฐกับคณะผู้ก่อการปฏิวัติหรือรัฐประหารเสมอ
วันรัฐธรรมนูญของไทยมีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างยิ่งยวด เพราะเป็นวันแห่งการเริ่มต้นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถือเป็นระบอบการปกครองที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพและมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ
ความสำคัญของวันรัฐธรรมนูญ 5 ข้อ
1.สถาปนาอำนาจของรัฐ
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แสดงถึงการดำรงอยู่ของรัฐ เป็นเอกราชไม่ขึ้นต่อใคร รัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสถาปนาอำนาจของรัฐ เปรียบเป็นเสาหลักที่คอยยึดโยงให้ประเทศชาติมีความเป็นเอกภาพและมั่นคง
2.สถาปนาเป้าหมายของสังคมที่เป็นเอกภาพ
รัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรของเจตจำนงของประชาชน แสดงถึงเป้าหมายของสังคมรัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญต่อเป้าหมายของสังคม เปรียบเสมือนแผนที่นำทางที่ชี้แนะทิศทางการพัฒนาประเทศ
3.เพื่อให้เกิดรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ
รัฐธรรมนูญกำหนดหน้าที่ของผู้ปกครอง กำหนดบทบาทและกลไกการทำงานของสถาบันการเมือง สร้างความสมดุลและลดความขัดแย้งระหว่างอำนาจต่างๆ จึงมีความสำคัญในการสร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ รักษาสมดุลของสังคมเอาไว้
4.เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ ไม่ถูกละเมิดโดยอำนาจรัฐ มีความสำคัญในการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชน และคอยปกป้องประชาชนจากอำนาจเผด็จการ
5.เพื่อให้เกิดความชอบธรรมของระบอบการเมือง
รัฐที่มีรัฐธรรมนูญจะได้รับความชอบธรรมจากประชาคมนานาชาติ เมื่อเข้าร่วมกับภาคีความร่วมมือต่างๆ รัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญในการรับรองความชอบธรรมให้ระบอบการเมือง เปรียบเสมือนบัตรผ่านที่ช่วยให้ประเทศชาติสามารถก้าวสู่เวทีโลกได้อย่างสง่างาม
กิจกรรมในวันรัฐธรรมนูญ จะมีการจัดนิทรรศการ ตามสถานศึกษา หรือหน่วยงานราชการ จะจัดบอร์ด หรือนิทรรศการวิชาการเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจและเผยแพร่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และพิธีการวางพวงมาลาถวายสักการะโดยพร้อมเพรียงกัน ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลายๆ จุด มีการประดับธงชาติ โดยปกติจะเป็นการประดับธงชาติ ต่อจากวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคมของทุกปี
วันรัฐธรรมนูญจึงไม่ได้เป็นเพียงการระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต แต่ยังเป็น พื้นที่สำหรับการตระหนักรู้ในหน้าที่และสิทธิของพลเมือง รวมถึงเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและประชาชนในการพัฒนาสังคมให้มีความเท่าเทียม เสรีภาพ และความยุติธรรมที่ยั่งยืน การเข้าใจและเคารพในรัฐธรรมนูญไม่เพียงส่งเสริมความเป็นพลเมืองที่ดี แต่ยังสร้างรากฐานให้ระบอบประชาธิปไตยไทยเติบโตและเข้มแข็งอย่างแท้จริง เพื่ออนาคตที่ทุกคนมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการพัฒนาประเทศอย่างเท่าเทียม