svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิด 2 แนวการเมืองหลัง "นายใหญ่ พบ ครูใหญ่"

ทิศทางการเมืองไทยภายหลังปรากฏการณ์ "นายใหญ่ พบ ครูใหญ่" ยังได้รับความสนใจจากทุกฝ่ายว่า ทั้งสองคุยอะไรกัน และจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอะไรหลังจากนี้ แนววิเคราะห์จากการให้ข่าวของ "กูรูการเมือง" หลายๆ คน มี 2 แนว คืออะไร? อ่านได้ที่นี่

13 ตุลาคม 2567 ยังคงได้รับความสนใจจากทุกฝ่าย สำหรับทิศทางการเมืองไทยหลังปรากฏการณ์ "นายใหญ่ พบ ครูใหญ่" ทั้ง 2 คุยอะไรกัน รวมถึง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอะไรหลังจากนี้

"เนชั่นทีวี" ชวนอ่านแนววิเคราะห์จากการให้ข่าวของ "กูรูการเมือง" หลายๆ คน ซึ่งมี 2 แนว คือ 

  • หนึ่ง นายกฯคนละครึ่ง กล่าวคือ แบ่งเวลาการเป็นนายกฯกันไปเลย เพื่อให้สมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย
  • สอง หลังจากนี้ความร่วมมือทางการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลจะดีขึ้น 


"จตุพร พรหมพันธุ์" วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน

ซึ่ง 2 แนวที่ว่านี้ หากไปถาม คุณจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน จะได้คำตอบว่า ไม่มีข้อตกลงเรื่อง "นายกฯ คนละครึ่ง" เพราะคุณอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ไม่ได้เป็นฝ่ายรอ เนื่องจากดูทิศทางการเมืองแล้ว ตำแหน่งนายกฯ ไม่หนีไปไหนแน่ เพียงแต่ต้องการเวลาที่เหมาะสม ซึ่งคงไม่ใช่ในอายุสภาสมัยนี้ จึงยังรอได้ และอายุก็ยังไม่มาก เรื่องประสบการณ์ก็ยังสะสมต่อได้


"อาจารย์จ๊ะ" ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย

ส่วน "อาจารย์จ๊ะ" ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย บอกว่า เรื่อง "นายกฯคนละครึ่ง" ไม่มีการตกลงกันแน่ และ "ครูใหญ่" ยังถือไพ่เหนือกว่า จึงไม่จำเป็นต้องตกลงอะไร และการโหวต "งดออกเสียง" ของ สส.ภูมิใจไทย ในร่างกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ก็ชัดอยู่แล้วว่า คุยกันจบก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เนื่องจาก "ครูใหญ่" ไม่มีทางยอม และถ้ายอม จะเสียโอกาสทางการเมืองมหาศาล 

เชื่อไม่มีข้อตกลง "นายกฯ คนละครึ่ง" 

จากความเห็นของนักสังเกตการณ์ทางการเมือง เราหันไปฟังความเห็นจาก "อดีตคนใน ของเพื่อไทย" อย่าง คุณศักดา นพสิทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทยบ้าง ว่ามองการพบปะระหว่าง "สองใหญ่" ครั้งนี้อย่างไร  

"ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี
"แพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี

คุณศักดา บอกว่า เนื้อหาการพูดคุยกันน่าจะมี 3 เรื่อง คือ 

  1. ประคับประคองนายกฯ แพทองธาร 
  2. ขอความร่วมมือให้ผลักดันนโยบายเรือธงพรรคเพื่อไทย รวมถึงกฎหมายประชามติ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ
  3. เรื่องบ่อนกาสิโน หรือ เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์

ส่วนเรื่อง "นายกฯคนละครึ่ง" นั้น คุณศักดา บอกว่า ไม่น่ามีการพูดคุยกันเรื่องนี้ เพราะไม่ใช่สถานการณ์จำเป็น เรื่องการเปลี่ยนตัวนายกฯ เป็นปัจจัยในสภา ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลเดิมน่าจะเอาอยู่ ถ้าภูมิใจไทยให้ความร่วมมือ และหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจริงๆ ทุกอย่างก็ต้องเดินไปตามขั้นตอน จึงไม่จำเป็นต้องตกลงกันก่อน 

ที่สำคัญ เงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนตัวนายกฯ หรือไม่ อยู่ที่องค์กรอิสระ และคำร้องที่ไปถึงองค์กรอิสระ จึงไม่มีความจำเป็นต้องคุยเรื่องตำแหน่งนายกฯกันระหว่างพรรคร่วมฯ และขณะนี้น้ำหนักยังอยู่ที่คุณแพทองธาร ชินวัตร 


เข้าใจเสียใหม่! ครูใหญ่ไม่ได้ถือไพ่เหนือนายใหญ่
"เนวิน ชิดชอบ" ครูใหญ่จากค่ายสีน้ำเงิน

"อนุทิน​ ชาญวีรกูล"​  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย​ / หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

​​​​​​​ส่วนที่มองกันว่า พรรคภูมิใจไทยถือไพ่เหนือกว่าพรรคเพื่อไทยนั้น คุณศักดา บอกว่า จริงๆ แล้วไม่ได้ถือไพ่เหนือกว่า เพราะภูมิใจไทยมี 70 เสียง ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่เอาด้วย ภูมิใจไทยก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากจับมือกับสภาสูง ขัดการทำงานของสภาล่างไม่ให้เดินได้สะดวกเท่านั้น ส่วนพรรคเพื่อไทย มี 141 เสียง ไม่ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และยังสูญเสียการนำในสภาสูง จึงต้องอาศัยภูมิใจไทย ฉะนั้นสองพรรคนี้ต้องอยู่แบบรอมชอมกัน จึงจะไปต่อได้ 

"แพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี
เรื่องตำแหน่งนายกฯ ต้องเข้าใจการเมืองที่แท้จริงว่า ระยะเวลาของรัฐบาลเหลือแค่ 2 ปี 7 เดือน ไม่ใช่ 3 ปี เพราะอายุสภานับถึง 4 ปีจากวันเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา หาก "นายกฯ แพทองธาร" อยู่อีก 1 ปีครึ่ง หรือ 2 ปี จะเหลือเวลาให้คุณอนุทินอีกเพียง 1 ปี หรือไม่ถึงปี และช่วง 3-6 เดือนสุดท้ายของปีที่ 4 รัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้มากแล้ว เพราะต้องเตรียมสู้ศึกเลือกตั้ง ฉะนั้นสูตรนายกฯคนละครึ่งจึงเป็นไปได้ไม่ได้ 

ด้วยเหตุนี้การเปลี่ยนแปลงตัวนายกฯ จากการตกลงกัน จึงไม่น่าจะเกิดขึ้น เว้นแต่มีอุบัติเหตุ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องตกลงกันล่วงหน้าอยู่ดี เพราะเป็นไปตามหน้างานและสถานการณ์ ณ เวลานั้นอยู่แล้ว การประคับประคองให้รัฐบาลอยู่ได้ต่อไป จึงสำคัญและน่าจะต้องคุยกันมากกว่า 

สำหรับวลี "มันจบแล้วครับนาย" ที่ทำให้หลายคนเชื่อว่า เป็นความแค้นที่ไม่เลือนหาย และรอวันสะสางนั้น คุณศักดา บอกว่า วลีนี้อาจจะเกิดขึ้นจริง แต่ก็เป็นไปตามสถานการณ์การเมืองในช่วงนั้น จึงไม่น่าจะถึงขั้นโกรธแค้นกันจน "ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ" และเมื่อวันนี้สถานการณ์ทางการเมืองบีบให้ต้องจับมือกัน ก็อาจจะมีวลีใหม่เกิดขึ้น คือ "เริ่มกันใหม่มั้ยครับนาย" เพราะคนการเมืองเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษ 


คำร้อง "ธีรยุทธ" ไร้ผลเปลี่ยนนายกฯ - เพื่อไทยยังไปต่อ

นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ
เช่นเดียวกับเรื่อง "คำร้อง" ของคุณธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ เรื่องล้มล้างการปกครอง ต้องบอกว่า คุณไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ โหมกระแสแรงเกินไป ทั้งที่การยื่นศาลรัฐธรรมนูญของคุณธีรยุทธ เป็นขั้นตอนปกติ กล่าวคือ ไปยื่นอัยการสูงสุดมาครบ 15 วันแล้ว อัยการสูงสุดไม่ได้ดำเนินการใดๆ จึงมายื่นศาลรัฐธรรมนูญต่อ  

นอกจากนั้น ประเด็นที่ยื่นต่อศาล เป็นคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ผลคือศาลสั่งให้หยุดการกระทำ หากศาลสั่งให้หยุดการกระทำจริง จึงจะนำคำวินิจฉัยนั้นไปเป็นสารตั้งต้นยื่นคำร้องยุบพรรคต่อไป แต่ถ้าไม่มีมูล เช่น ไม่มีประเด็นของการล้มล้างการปกครอง ก็ถือว่าจบ 

คุณศักดา บอกด้วยว่า มาตรา 49 เป็นเรื่องการล้มล้างรัฐธรรมนูญและการปกครอง จึงเปิดโอกาสให้พลเมืองแค่คนเดียว ยื่นเรื่องได้โดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่จุดเริ่มต้นของความล่มสลายของรัฐบาลตามที่คุณไพบูลย์พูด ศาลต้องมีคำวินิจฉัยก่อนให้หยุดการกระทำ จึงจะนำคำวินิจฉัยนั้นไปยื่นยุบพรรคอีกที ซึ่งยังอีกนานมาก แต่รัฐบาลใกล้หมดวาระแล้ว เหลืออีกแค่ 2 ปี 7 เดือน 

ฉะนั้น จึงเชื่อว่าหลังจากนี้ความราบรื่นของการบริหารแผ่นดินจะดีขึ้นกว่าเดิม และผลักดันเรื่องต่างๆ ไปได้ ทั้งกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องมาเริ่มคุยกันใหม่ เพราะที่ผ่านมาภูมิใจไทยมองว่าไม่ได้คุยกับตนก่อน ส่วนการนิรโทษกรรม ต้องหารือกันว่ามีประเด็นอ่อนไหวอย่างไร และคาดว่าจะไม่เข้าสู่สภาในสมัยประชุมนี้ จึงมีเวลาพูดคุยกันอีกหลายเดือน