9 ตุลาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันนี้ (9 ต.ค.) มีมติเอกฉันท์ 348 เสียงไม่ให้ความเห็นชอบ"ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ" ตามที่วุฒิสภา เสนอปรับแก้ประเด็นเกณฑ์การผ่านออกเสียงประชามติ 2 ชั้น หรือ Double Majority ในการออกเสียงประชามติที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ กำหนดว่า ในกรณีวุฒิสภา ได้เสนอแก้ไขร่างกฎหมาย ที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบแล้ว แต่สภาผู้แทนราษฎร ไม่เห็นชอบตามที่วุฒิสภาแก้ไข จะต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วม 2 สภา ขึ้นมาชุดหนึ่งจำนวน 28 คน แบ่งเป็นสภาผู้แทนราษฎร 14 คน และวุฒิสภา 14 คน ซึ่งวุฒิสภาฯ จะต้องรอการประชุมในสัปดาห์หน้า ระหว่าง 14-15 ตุลาคมนี้อีกครั้ง เพื่อให้ที่ประชุมวุฒิสภา ได้เสนอรายชื่อกรรมาธิการฯ ในสัดส่วนวุฒิสภาต่อไป
ขณะที่ ในการอภิปรายของ สส.นั้น "นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช" สส.ลพบุรี พรรคภูมิใจไทย เห็นว่า เกณฑ์การผ่านการออกเสียงประชามติ ที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และเรื่องอื่น ๆ จะใช้เกณฑ์เดียวกันหรือไม่ก็ได้ ซึ่งไม่ได้ติดใจ แต่รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุด การดำเนินการต่าง ๆ ต้องละเอียดอ่อน มีความเชื่อถือ และมั่นใจได้ พร้อมยกตัวเลขผู้มีสิทธิเลือกตั้งไทย จำนวน 52 ล้านคน และในปี 2567 อาจมีถึง 53 ล้านคน
ดังนั้น ในชั้นแรก จะต้องมีผู้ออกไปใช้สิทธิ 26.5 ล้านคน และชั้นที่ 2 จะต้องได้รับเสียงเห็นชอบมากกว่า 13.25 ล้านคน หากสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบกับวุฒิสภา ก็จะต้องไม่ต้องตั้งกรรมาธิการร่วม ซึ่งหากมีการตั้งกรรมาธิการฯ เชื่อว่า จะต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก
จึงเสนอว่า หากไปพิจารณาผลการออกเสียงประชามติปี 2550 และ 2559 แล้ว มีอัตราผู้ใช้สิทธิมากกว่า 50% อยู่แล้ว และกฎหมายได้กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำได้กำหนดเกณฑ์ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไป จะต้องไม่น้อยกว่า 20% และเลือกตั้งท้องถิ่น 10% ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสำคัญ หากไม่มาตรฐานขั้นต่ำ ก็อาจมีผลต่อความเชื่อถือได้ และการกำหนดเสียงข้างมาก 2 ชั้น ก็สะท้อนความสำคัญของความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นด้วย
ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับการใช้ "Double Majority" เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด จะมีความน่าเชื่อถือ ก็ต่อเมื่อมีการใช้เสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตย
เช่นเดียวกับ "นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย" สส.อุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่า พรรคภูมิใจไทยเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเว้น การแก้ไขในหมวด 1 และ 2 แต่จะต้องมีการออกเสียงประชามติ ที่มีเสียงมากพอที่จะกล่าวอ้างได้ว่า ถึงเวลาแล้ว ถูกต้องแล้วในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มีผู้ออกเสียงประชามติ 29 ล้านคน จาก 50 ล้านคน หากการแก้ไขในครั้งนี้ ไม่มีมาตรฐานผู้ออกมาใช้สิทธิจะอ้างสิทธิใดได้ว่า ถึงเวลาแล้วในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว
ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีความสง่างาม และไม่ต้องกังวลว่า จะไม่มีผู้ออกมาใช้สิทธิ เพราะเรื่องดังกล่าว ถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ ที่ต้องมีการตั้งมาตรฐานเสียงส่วนใหญ่ พร้อมเปิดเผยว่า หากต้องการให้สง่างามที่สุด และสวยที่สุด จึงต้องกำหนดเสียงขั้นต่ำ แต่หลังจากนี้ หากจะมีการตั้งกรรมาธิการร่วม 2 สภา หากกังวลว่า จะมีประชาชนมาใช้สิทธิไม่ถึงกึ่งหนึ่ง อาจกำหนดเป็น 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 เป็นอย่างน้อย เพื่อมีมาตรฐานได้
ด้าน "นายพริษฐ์ วัชรสินธุ" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน หวังว่า วุฒิสภาจะใช้เหตุผลในเชิงหลักการมารองรับการกลับไปใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อพิสูจน์ให้สังคมได้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดเพราะผลประโยชน์ทางการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง พร้อมยืนยันจุดยืนส่วนตัวว่า การทำประชามตินั้น ควรมีความเป็นธรรมมากขึ้น ไม่ใช่ต้องการให้การทำประชามติผ่านง่ายขึ้น แต่การไปกำหนดเกณฑ์ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ จะกลายเป็นการส่งผลให้ฝ่ายที่ไม่อยากให้ประชามติผ่านนั้น มีความได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรมในการแข่งขันผ่านจูงใจไม่ออกมาลงคะแนนอย่างตรงไปตรงมา แต่เลือกนอนอยู่บ้าน เพื่อกดจำนวนผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ เพื่อคว่ำประชามติได้
เช่นเดียวกับ "นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้แสดงความกังวลต่อท่าทีของวุฒิสภา ที่จะกระทบเสียหายต่อการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย และสนับสนุนว่า การทำประชามติ ควรยึดหลักเดิมคือ ใช้เสียงข้างมากปกติชั้นเดียว หรือ "Simple Majority" ที่เป็นหลักการที่เหมาะสมถูกต้อง และจะทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความเป็นไปได้