ที่อาคารรัฐสภา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชนในฐานะผู้นำฝ่ายในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึง 7 แพ็คเกจแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชนว่าเรื่องนี้จะแก้ไขจะต้องได้รับความเห็นตรงกันของทุกฝ่ายไม่ว่าจะสมาชิกวุฒิสภา รัฐบาล หรือฝ่ายค้าน สิ่งที่พรรคประชาชนยืนยันในตอนนี้คือเรื่องมาตรฐานจริยธรรมมีปัญหาที่จะต้องแก้ไข เพียงแต่สาเหตุพักไว้ก่อน เพราะหากรัฐบาลไม่เห็นด้วย อาจจะทำให้การเดินหน้าการแก้ไขทั้ง 7 ชุดถูกตีตก ซึ่งยังเหลืออีก 6 ชุดที่เหลือ ทั้งเรื่องการบังคับการเกณฑ์ทหาร เรื่องสิทธิการศึกษาและสิทธิของประชาชนต่างๆ ยังอยู่ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราอีก 6 ชุดที่เหลือ ตนเชื่อว่ารัฐบาลก็จะเห็นตรงกัน ไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่เห็นด้วยกับแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ชุดดังกล่าว
ในขณะเดียวกัน เราขอยืนยันอีกครั้งว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถดำเนินฐานได้โดย 2 ช่องทางคือแก้ไขทั้งฉบับและแก้ไขรายมาตรา ขณะนี้พรรคประชาชนและฝ่ายค้านจะหารือกันผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ชุดที่เหลือ
“เรายังยืนยันว่าการแก้ไขมาตรฐานจริยธรรมเป็นการแก้ไขเชิงระบบ ไม่ใช่แก้ไขของนักการเมืองอย่างเดียว ผมยืนยันว่านักการเมืองจะต้องมีมาตรฐานจริยธรรม เพียงแต่กลไกนั้นจะต้องเป็นกลไกที่ตรวจสอบภายในองค์กรเอง ไม่ควรถูกคุกคามจากองค์กรและองค์กรหนึ่ง เช่น ศาลรัฐธรรมนูญที่เข้ามากำหนดกติกาและบังคับใช้เอง” นายณัฐพงษ์ กล่าว
ส่วนจะต้องแสวงหาแนวร่วมเพิ่มอย่างเช่น พรรคภูมิใจไทยหรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ไม่ว่าพรรคใดก็ตาม เห็นประโยชน์ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนเชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุน อีก 6 แพ็คเกจที่เหลือของพรรคประชาชน ที่ผ่านมาก็มีการพูดคุยกันทั้งหน้าบ้าน หลังบ้านอยู่แล้ว ก็คิดว่าเป็นกระบวนการปกติ ยืนยันว่ายังไม่เห็นสัญญาณว่าไม่เห็น แต่อย่างที่ทุกคนเห็นตามหน้าสื่อ เหมือนเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ก่อนหน้าทุกพรรคการเมืองเห็นด้วยมาโดยตลอด แต่ท้ายสุดก็มีการเปลี่ยนข้อคิดเห็นบ้าง จึงอยากให้ติดตามการประชุม ที่ผ่านมาก็พูดคุยมาตลอดอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถพูดแทนพรรคอื่นได้ ตอนนี้ตอบได้ว่ายังไม่เห็นสัญญาณในเชิงไม่เห็นด้วย โดย 6 แพ็คเกจนี้ คาดว่าน่าจะดำเนินการได้ในช่วง ต.ค.
สำหรับเรื่องร่าง พ.ร.บ.การจัดทำประชามติ ล่าสุด วุฒิสภา (สว.) ยืนยันแก้ไขแบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น ต้องถูกตีตกกลับมา สส. พรรคประชาชนมีจุดยืนอย่างไร นายณัฐพงษ์ ยอมรับว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลว่าการแก้ไขจะทำได้ไม่ทันการเลือกตั้งในปี 2570 เพราะถ้า พ.ร.บ.ประชามติเสร็จไม่ทัน สว.ไม่เห็นด้วย อาจจะต้องตั้งกรรมาธิการร่วม ทำให้กระบวนการพิจารณายืดเยื้อออกไป ต้องล่าช้าออกไป
ทั้งนี้ ตนคิดว่ายังพอมีหนทางในการที่จะทำให้การแก้ไขทั้งฉบับทันปี 2570 หากจัดทำประชามติเพียงแค่ 2 ครั้ง พรรคร่วมรัฐบาลก็ออกมาให้ความเห็นว่าทันสอดคล้องกับความเห็นของพรรคประชาชน เรื่องนี้ต้องหารือกับฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล อาจต้องทำภายในรัฐสภา หารือกับประธานรัฐสภาว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยอย่างไรที่จะบรรจุร่างแก้ไข
ส่วนในเรื่องรายงานกรรมาธิการนิรโทษกรรมที่รัฐบาลขอถอนจากวาระสภาไปก่อน เพื่อทำการพูดคุยกับหัวหน้าพรรคทุกพรรค เรื่องจุดยืนของผู้ต้องหาคดี ม.112 พรรคประชาชนมีจุดยืนอย่างไร นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะถอนร่างรายงานไปก่อน เพราะรายงานเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น เเสดงตัวเลือกหลายๆตัวเลือก และเราสามารถเดินหน้าร่วมกันได้ เพราะฉะนั้นยังคิดว่าไม่น่ามีเหตุผลอะไรที่จะต้องถอนร่าง เนื่องจากไม่มีผลผูกพันใดๆ
ประการที่สอง พรรคประชาชนมองว่าเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมามีผู้ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมืองมากมาย ตนคิดว่าคนที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ควรจะต้องได้รับการเยียวยาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและได้รับความยุติธรรม เรื่องนี้ไม่ว่าจะถูกดำเนินคดีด้วยวิธีใดก็ตาม มาตราใดก็ตาม ควรจะต้องได้รับความเป็นธรรมและได้รับการเยียวยา