13 กันยายน 2567 ดร.เกษม ศุภสิทธิ์ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพัทยา แสดงความเห็นกรณี ที่ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายรัฐบาลเร่งด่วน 10 นโยบาย ว่า ส่วนตัวเห็นด้วยทั้ง 10 ดังกล่าว และในฐานะที่เป็นอดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย จึงอยากขอเสนอแนะเพิ่มเติมอีก 3 ข้อคือ
ข้อ.11 เสนอปรับปรุง แก้ไข ยกเลิกกฎหมายเก่าที่ล้าหลัง และกฎหมายที่เป็นอุปสรรคกับการพัฒนาประเทศ รวมถึงกฎหมายที่อาจสร้างความขัดแย้งของประชาชนในสังคม กับเจ้าหน้าที่รัฐ
ข้อ 12. ออกกฎหมายคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน และสร้างสวัสดิการ ให้แก่ ผู้มีอาชีพทำงานกลางคืน รวมถึงจัดระบบใบอนุญาตให้แก่ สถานบันเทิงต่าง ๆ ให้ถูกต้อง ครบถ้วน และมีระบบประกันสังคมเพื่อเป็นหลักประกันของอาชีพ
ข้อ 13. สร้างความเข้มแข็งและสร้างความสุขของครอบครัว เหตุผลเพราะเมื่อคนในครอบครัวมีความสุข พลังแห่งความสุข จะสร้างทุกสิ่ง ทุกอย่าง และเมื่อครอบครัวเข้มแข็ง สังคมและประเทศชาติ ก็จะเข้มแข็ง เพราะครอบครัวเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม
ดร.เกษม กล่าวว่า สำหรับฝ่ายค้านซึ่งมีพรรคประชาชนเป็นผู้นำ และเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ ที่มีความห่วงใยและรักประเทศชาติเช่นกัน ตนซึ่งมีฐานะอดีตสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ก็หวังว่า พรรคประชาชนจะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล อย่างตรงไปตรงมา และปราศจากอคติ และเสนอแนะข้อบกพร่องในการบริหารประเทศ ในทางบวกช่วยกัน 1.ค้นหาปัญหา 2.เสนอทางแก้ปัญหา และ 3.มีข้อเสนอแนะอย่างไร เช่นนี้ ประเทศชาติก็จะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว
นอกจากนี้ ตนยังเห็นว่า การทำงานทางการเมืองในเมืองไทย มีอีกส่วนหนึ่งคือ “ผู้ร้อง หรือ ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลในภาคประชาชน“ ซึ่งสังคมยกย่องยอมรับว่า นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ซึ่งเป็นนักการเมือง และ เป็นผู้ตรวจสอบมือทองอันดับหนึ่งของประเทศไทย สำหรับตนนั้น ไม่เคยรู้จักกับนายเรืองไกรมาก่อน และเคยพบเพียงครั้งเดียว ที่ศาลอาญาเมื่อครั้งนายเรืองไกร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนักการเมืองคนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ร้องนั้นในบรรดาข้อร้องเรียนทั้งหลายนั้น มีทั้งเรื่องส่วนตัวของนักการเมือง และเรื่องงานของรัฐบาล ซึ่งหากมีการตรวจสอบด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ เพื่อให้งานของรัฐบาลดีขึ้น ตนก็เห็นชอบด้วย แต่หากมีการยื่นตรวจสอบที่มีข้อมูลอันเป็นเท็จ และปราศจากความจริง อาจจะมีความผิดได้ เพราะสิทธิส่วนบุคคล สิทธิในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียงหรือความเป็นอยู่ส่วนตัว ย่อมได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมาย (ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2541) เช่นนี้ ผู้ร้องเหล่านั้น อาจมีความผิดฐานหมิ่นประมาท และหากมีการเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ต่างๆ อาจความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีทั้งโทษจำและปรับ
ดร.เกษม ย้ำว่า การที่ตนออกมาสะท้อนมุมมองความคิดครั้งนี้ อาจเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติอยู่บ้าง และหวังที่ต้องการให้ประเทศชาติพัฒนา ก้าวเดินไปเหมือนอารยประเทศ เพราะนักการเมือง คือ ผู้นำ ที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายแห่งรัฐ ดังนั้น เหล่านักการเมือง คือ ผู้นำที่กำหนดชะตากรรมความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ และอนาคตของลูกหลาน