svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"พปชร." 2 ขั้วซัดกันนัว หลังเด็ก"ลุงป้อม" ทำหน้าที่ฝ่ายค้านครั้งแรก

"พลังประชารัฐ" สายลุงป้อม แซะระนาวถึงนายกหญิง-ครม.สืบสันดาน โอด โหวต 39 เสียง แต่กลับให้เป็นฝ่ายค้าน  ขณะ “อัครแสนคีรี” อภิปรายอวยรัฐบาล เชียร์นายกฯอุ๊งอิ๊ง แก้หนี้ครัวเรือน รื้อโครงสร้างพลังงาน หวัง 3 รัฐมนตรีใหม่กระทรวงเกษตรฯ สานต่องาน “ธรรมนัส”

12 กันยายน  2567  ที่อาคารรัฐสภา การประชุมรัฐสภาในวาระการแถลงนโยบายรัฐบาล ของ"น.ส.แพทองธาร ชินวัตร"  นายกรัฐมนตรี ที่มี "นายมงคล สุระสัจจะ" รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม "นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ"สส.ชัยภูมิ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายสนับสนุนรัฐบาล

 

 

โดยได้ยืนอภิปราย "ฝั่งพรรคเพื่อไทย" ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสังคมหนี้เยอะ แต่รายได้หด ปี 2563 ไทยมี GDP ติดลบ 6.1% ในช่วงโควิด-19 แต่หลังจากนั้น ปี 2565 – 2566 ที่เราผ่านสถานการณ์โควิด-19 มาแล้ว GDP กลับโตเพียงกว่า 3% ขณะที่เพื่อนบ้านโตกว่า 8-9% ตนได้อ่านนโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และเห็นด้วยในหลายเรื่องที่แถลงในสภาฯ ทั้ง การเร่งจัดเก็บภาษีจากเศรษฐกิจใต้ดิน การเปิดเอนเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ การปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ

"ประเทศไทยจำเป็นต้องมีเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ตัวใหม่ และจะทำให้เราก้าวไปข้างหน้า และเพิ่มสวัสดิการให้ประชาชน ทั้งเบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยผู้พิการ และหากสามารถขยายฐานภาษี เพิ่มรายได้ของประเทสผ่านนโยบายต่าง ๆ ของท่านนายกฯ เราจะสามารถนำไปลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบราง ถนน ชลประทาน ประปา แก้แล้งแก้ท่วม" นายอัครแสนคีรี  กล่าว

"นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ" สส.ชัยภูมิ พรรคพลังประชารัฐ (ฝั่งรัฐบาล)  

"นายอัครแสนคีรี"  ยังกล่าวว่าเรื่องค่าไฟฟ้าแพง และวิกฤตราคาพลังงาน ซึ่งไทยต้องใช้ก๊าซธรรมชาติ 57% ในการผลิตไฟฟ้า แต่เมื่อพิจารณาจากแผนจัดหาเชื้อเพลิง จะเห็นว่า ก๊าซในอ่าวไทย ใน 5 ปีข้างหน้า จะลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ดังนั้นเราจึงมีความจำเป็นจัดหาก๊าซในรูปแบบอื่น เพราะในภาวะสงคราม จะทำให้ค่าไฟพุ่งสูง จึงสนับสนุนนโยบายของนายกรัฐมนตรี และครม. ให้เร่งพิจารณา จัดหาแหล่งก๊าซให้ประเทสไทย เพื่อเสถียรภาพของพลังงาน เช่นการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน ระหว่างไทย - กัมพูชา ในการขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนต่ำลง

 

รวมถึงการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ที่หลายจังหวัดเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วม ที่ผ่านมา ท่วมเสร็จ ก็แล้งต่อ ตนในฐานะสส.ชัยภูม เคยเชิญร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ"นายอรรถกร ศิริลัทธยากร" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามสถานการณ์จากต้นตอ จึงมีความหวังว่า 3 รัฐมนตรีใหม่ของกระทรวงเกษตรฯ ทั้ง นางสาวนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรฯ นายอัครา พรหมเผ่า และนายอิทธิ ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรฯ จะเข้ามาสานต่อ ในสิ่งที่ร้อยเอกธรรมนัส ได้ทำก่อนหน้านี้ พี่น้องประชาชนได้ประโยชน์ หวังว่า ครม.ของนายกฯ จะจัดทำแผนจัดการน้ำทั้งระบบ ให้จบแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

"นายชัยมงคล ไชยรบ" สส.พรรคพลังประชารัฐ ในฝั่งฝ่ายค้าน

ด้าน "นายชัยมงคล ไชยรบ" สส.พรรคพลังประชารัฐ ในฝั่งของ"พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ" หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อภิปรายในฐานะฝ่ายค้านครั้งแรก โดยกล่าวเปิดว่าทันทีที่เห็นนายกแพทองธาร ชินวัตร ตนก็นึกถึงประโยคที่ว่าคนไทยมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี แต่ความหวังของคนไทยเริ่มเรืองรอง แต่พอปรากฎชื่อคณะรัฐมนตรีออกมาเริ่มลางเลือน เพราะประกอบไปด้วยคนเก่า 70-80% เปรียบเสมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่ ติดฉลากเพิ่มเติมมีบ้างที่พ่อมาแทนลูก มีบ้างที่ลูกมาแทนพ่อ และมีน้องแทนพี่ ซึ่งไม่ได้บอกว่าเขาไม่ใช่คนดี แต่เขาจะบริหารประเทศ ได้หรือไม่ เพราะ ครม. ชุดนี้ ประกอบไปด้วยหลายสัดส่วน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งชำรุด ทางประวัติศาสตร์ ที่เป็นผลพวงต่อจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่มีจุดยืนว่าอำนาจต้องมาจากปลายกระบอกปืน และยังมีรัฐมนตรีอาชีพที่เป็นมา 16 -17 สมัย และคนใหม่ที่เข้ามาก็ยังสืบทอดโดยสายเลือด จนสื่อมวลชนขนาดนาม ครม.ชุดนี้ว่า"สืบสันดาน" เพิ่งเห็นได้ชัดว่าครม.ชุดนี้ไม่สามารถหวังผลได้

 

"นายชัยมงคล" ยังกล่าวต่อว่า คำแถลงนโยบายของนายกฯ ถ้าปฏิบัติได้ตามนั้น ประเทศเจริญแน่นอนแต่หลายนโยบาย มองเหมือนไม่มีความหวัง เช่น “เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์” ตนเชื่อว่าจะมีการจ้างงาน แต่คนไทยก็คงจะได้ไปแจกไพ่ หรือเป็นพนักงานต้อนรับ แต่คนรวยก็ยังคงมีอยู่ 10 ตระกูลเหมือนเดิม ดังนั้นนโยบายแบบนี้ทำให้เห็นว่าเป็นนโยบายของคนชั้นนำ เพื่อชนชั้นนำและกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ตนจึงไร้ความหวังจากพฤติกรรมที่ท่านทำ ขณะที่นโยบายแจกเงินหมื่น อยากตั้งคำถามว่าวางแผนไว้ดีแล้วใช่หรือไม่ เพราะถ้าแจกเป็นเงินสดคงจบไปแล้ว

นายชัยมงคล ยังกล่าวอีกว่า เมื่อมองที่มาของรัฐบาล ภาพที่ประชาชนรับรู้คือตระบัดสัตย์ มีที่ไหนครับพรรคที่ยกมือให้ 39 เสียง บอกให้เขาไปเป็นฝ่ายค้าน แต่พรรคที่งดออกเสียงกับเชิญมาเป็นรัฐบาล 

"นายอรรถกร  ศิริลัทธยากร"  อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ และสส.พปชร.ฝั่งรัฐบาล

ระหว่างที่"นายชัยมงคล" อภิปรายนั้น "นายอรรถกร  ศิริลัทธยากร" ซึ่ง เป็นสส.ในฝั่งของร้อยเอกธรรมนัสพรหมเผ่า ลุกขึ้นประท้วงผู้ที่อภิปรายผิดข้อบังคับพูดจาเสียดสีซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งตนเห็นว่า หากย้อนไปเมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้อภิปราย คงเห็นด้วยกับการแถลงนโยบายครั้งนี้ แต่วันนี้ไม่รู้เป็นอะไรเปลี่ยนใจ จึงขอฝากประธานให้กำชับผู้อภิปรายอยู่ในข้อบังคับการประชุมด้วย

 

จากนั้น "นายชัยมงคล" ได้อภิปรายต่อว่า "วันนี้ก็ตอบท่านผู้ประท้วงเลยก็ได้ว่า ผมทำหน้าที่ฝ่ายค้าน เมื่อเป็นฝ่ายค้านก็ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล  แล้ววันนี้ตนมองว่าไม่อยากให้รัฐบาลชุดนี้เข้ามาเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ อาศัยมือประชาชน อ้างประชาธิปไตย แต่มากอบโกยผลประโยชน์แบบตะกละตะกลาม มูมมาม"