svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดใจนักร้อง จ้องล้มกระดาน..เพื่อใคร ผลประโยชน์-นิติสงคราม-ความสะใจ ? 

เปิดใจนักร้อง จ้องล้มกระดาน..เพื่อใคร "ผลประโยชน์-นิติสงคราม-ความสะใจ" ? และสุดท้ายบ้านเมืองจะไปทางไหนต่อ

จากการจัดกลุ่มนักร้อง(เรียน)จะเห็นได้ว่า นักร้องอิสระ หรือนักร้องพเนจร กับนักร้องที่มีค่าย เป็นเครือข่ายของฝ่ายการเมือง ย่อมมีเป้าหมายชัดเจนว่าทำไปเพื่ออะไร 

  • เพื่อผลประโยชน์แห่งตน สินจ้าง รางวัล 
  • เพื่อผลทางการเมือง ถ้าสำเร็จ ก็วนมาสู่ผลประโยชน์แห่งตน สินจ้าง รางวัล เก้าอี้ อยู่ดี

นักร้อง(เรียน)กลุ่มนี้ เป้าหมายชัด ไม่ต้องตีความ 

แต่สิ่งที่น่าค้นหา คือ นักร้องอิสระ หรือ “มือปืนที่หวังผลได้” และน่าจะมีอุดมการณ์อยู่บ้างไม่มากก็น้อย คนกลุ่มนี้คิดอะไร ในสถานการณ์ที่ “นักร้อง และคำร้อง” เต็มบ้านเต็มเมือง จนบ้านเมืองจะเดินไปข้างหน้าไม่ได้อยู่แล้ว 

คำถามแรก : สถานการณ์ร้องรายวัน ร้องไม่เลือกหน้า ไม่เลือกประเด็น ผิดปกติหรือไม่ 

คำตอบ : ไม่ผิดปกติ ทุกคนมีเสรีภาพที่จะใช้สิทธิ์ของตนตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ 

คำถามที่ 2 : แต่สังคมบางส่วนเห็นว่าทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย การเมืองไม่มีเสถียรภาพ ขาดความเชื่อมั่น 

คำตอบ : ต้นเหตุมาจากอะไร มาจากฝ่ายการเมืองทำในสิ่งไม่ควรทำใช่หรือไม่ 

เช่น ให้สัมภาษณ์ว่า “ครอบครอง ไม่ใช่ครอบงำ” พูดแบบนี้แปลว่าอะไร ต้องการอะไร อ้างว่าพูดเล่น พลั้งปากได้หรือไม่ เพราะมีแนวฎีกาอยู่ว่า ด้วยอายุ สถานะ จังหวะเวลาที่พูด ไม่สามารถอ้างว่าพูดเล่นได้ เหมือนกรณี “หยุมหัวนักข่าว” อ้างว่า หยอกเล่น มีคนเชื่อหรือเปล่า 

คำถามที่ 3 : นายกฯ และรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ทำไมไม่ให้โอกาสทำงาน แล้วให้ประชาชนตัดสินในการเลือกตั้งครั้งต่อไป 

คำตอบ : ต้องตัดไฟแต่ต้นลม เหมือนเราเห็นกองไฟลุกอยู่ ต้องดับไฟกองนี้ก่อน เพื่อไม่ให้ลุกลาม มิฉะนั้นมีความเสียหายมากมายตามมา ใครรับผิดชอบ 

ยกตัวอย่าง โครงการจำนำข้าว เสียหายหลายแสนล้าน ต้องตั้งงบใช้หนี้ทุกปี ทำให้ตอนที่ประเทศไทยมีโควิดระบาด เรามีงบมาช่วยเหลือคนไทยด้วยกันน้อยลง เพราะต้องชำระหนี้จำนำข้าว 

คำถามที่ 4 : แบบนี้เรียกว่า “นิติสงคราม” หรือไม่ เพราะรัฐบาล หรือพรรคการเมืองมีประชาชนเลือกมาเป็นสิบล้านคน แต่คนคนเดียว บัตรประชาชนใบเดียว หรือตุลาการแค่ 9 คน ไปยุบพวกเขาได้ ถอดจากตำแหน่งได้  

คำตอบ : ไม่ใช่นิติสงคราม แต่เป็นการใช้สิทธิของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญให้สิทธิเอาไว้กว้างขวาง เพื่อให้คนคนเดียว สามารถใข้สิทธิอย่างสงบ คัดค้านสิ่งที่ตนเห็นว่าไม่ถูกต้องได้ แม้ฝ่ายที่กระทำจะมีอำนาจมาก เป็นรัฐบาล หรือองค์กรขนาดใหญ่ก็ตาม 

คำถามที่ 5 : ร้องให้ล้มทุกรัฐบาล นักร้องต้องการรัฐบาลแบบไหน รัฐบาลในฝันของนักร้องคืออะไร หรือว่าต้องการการปฏิวัติรัฐประหาร 

คำตอบ : ผมไม่ต้องการการปฏิวัติ แต่นี่คือการใช้สิทธิของคนเล็กๆ เพื่อต่อสู้ในสิ่งที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง ยอมรับว่า เครือข่ายนักร้องทำเพื่อการเมืองก็มี แต่คนที่ทำในสิ่งที่เห็นว่าถูกต้องก็มีเหมือนกัน 

สำหรับผม ไม่ได้ต้องการรัฐบาลในฝัน เราต้องการรัฐบาลที่ทำสิ่งดีๆ ให้ประชาชน สิ่งที่ไม่ควรทำ ก็ไม่ต้องทำ เช่น การตั้งคนไม่ดีมาเป็นรัฐมนตรี บางคนเขารู้กันทั้งบ้านทั้งเมือง ก็ยังตั้ง สื่อมวลชนทักท้วงก็ไม่เชื่อ แบบนี้ควรให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปหรือไม่ 

ยืนยันว่าไม่ใช่นิติสงคราม อย่างการยุบพรรคการเมืองบางพรรค ยุบแล้วบ้านเมืองสงบ ท้องฟ้าแจ่มใส การแสดงความคิดเห็นแบบเดิมที่กระทบสถาบันหลักของชาติไม่มีอีกแล้ว บรรยากาศไม่อึมครึมแบบเดิม พรรคการเมืองนี้ไปเลือกตั้งอีกหลายสนามก็แพ้ ความนิยมน้อยลง ไม่มากเหมือนเก่า 

“เมื่อมวลความคิดแปลกๆ หายไป สิ่งดีๆ จะเกิดขึ้น” 

ยืนยันว่า “ไม่ใช่นักร้องไปหาเรื่อง แต่รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจนั่นแหละ ไปเปิดช่องให้เป็นเรื่องเอง” 

แม้ “นักร้อง” รายนี้ จะยืนยันว่า สิ่งที่ตนและพวกเขาทำ ไม่ได้ต้องการการปฏิวัติรัฐประหาร

ความเห็นจากนักรัฐศาสตร์ชื่อดังอย่าง รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย แสดงความกังวลว่า บรรยากาศที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่จงใจ มันกำลังเป็นเหมือนกับดักนำไปสู่ทางตันทางการเมือง จากการใช้นิติสงครามแบบฟุ่มเฟื่อยเกินไป สุดท้ายจะเข้าทางคนที่คิดและอยากให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร หรือใช้อำนาจพิเศษบางอย่างและกลุ่มหนุนเหล่านี้ ก็มีตำแหน่งแห่งที่บางอย่างรออยู่