ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเสียงข้างมาก 127 เสียง ต่อ 48 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง ไม่เห็นชอบญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติจากวิกฤติอุทกภัยอย่างเร่งด่วนและเป็นระบบ ที่นายเศรณี อนิลบล และนายแพทย์เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้เสนอ
นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา
โดยนายแพทย์เปรมศักดิ์ ระบุว่า จากสถานการณ์อุทกภัยรุนแรงในหลายจังหวัดภาคเหนือ เป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นซ้ำซาก สร้างความเสียหายแก่ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งเกิดจากการบริหารจัดการน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขาดการบูรณาการในการป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง จึงมองว่าวุฒิสภา สมควรที่จะตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาอย่างเร่งด่วน และเป็นระบบมากขึ้น
เศรณี อนิลบล สมาชิกวุฒิสภา
ขณะที่ นายเศรณี อนิลบล ได้กล่าวทั้งน้ำตาว่า ในฐานะที่ตนเองมาจากกลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่น ๆ เข้าใจความลำบากของประชาชน ที่ประสบปัญหาอุทกภัย และผลผลิตทางการเกษตรเสียหายดี หากใครที่ไม่เคยถูกน้ำท่วม ไม่เคยสิ้นเนื้อประดาตัวก็จะไม่รู้สึก พร้อมเห็นว่า ทุกรัฐบาลมุ่งเน้นแก้ปัญหานี้ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงมองว่า หากตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษา จะสามารถร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาได้ โดยเฉพาะมาตรการในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว
จากนั้น ที่ประชุมฯ ได้เปิดโอกาสให้ สว.ได้อภิปราย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการธิการฯ เนื่องจาก เห็นว่า หากมีการตั้งกรรมาธิการฯ สมาชิกวุฒิสภา ก็ไม่สามารถระดมความเห็นได้ หากจะแก้ไขปัญหา ควรใช้กรรมาธิการฯ เต็มสภา และส่งความเห็นไปยังรัฐบาล อาทิ นายอลงกต วรกี สมาชิกวุฒิสภา ที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาเรื่องน้ำท่วม เพราะกว่าจะแก้ปัญหาได้ ต้องใช้เวลานาน และสุดท้ายจะกลายเป็นกระดาษบนหิ้ง จึงขอให้สรุปความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาทุกคนว่าใครมีความเห็นใดบ้าง ก่อนที่จะทำเสียงแสร้งร้องไห้ พร้อมอภิปรายล้อเลียนสมาชิกวุฒิสภาว่า ฟังแล้วก็อยากจะร้องไห้เหมือนกัน เพราะแก้กันมานาน แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหากันได้ อึดอัดใจเหลือเกิน อยากให้มีการแก้เร็วๆ และแก้ปัญหาชาวบ้านเร็วๆ ก่อนจะขอกระดาษทิชชู่
อลงกต วรกี สมาชิกวุฒิสภา
ขณะที่ นายนิรุตติ สุทธินนท์ สมาชิกวุฒิสภา ก็ไม่เห็นด้วยกับการเสนอญัตติดังกล่าว เพราะสมาชิกวุฒิสภา สามารถเสนอแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง เพื่อให้ส่งไปยังรัฐบาลได้ อีกทั้งแนวทางการบริหารจัดการน้ำอยู่ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาที่จะแถลง วันที่ 12-13 กันยายนี้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ที่ประชุมวุฒิสภา จะพิจารณาญัตติดังกล่าว นายแพทย์เปรมศักดิ์ ได้เปิดเผยว่า เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ ก่อนมีการประชุมวุฒิสภา มีพลเอกคนหนึ่ง โทรศัพท์หาตน ซึ่งไม่ใช่พลเอกเกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา บอกให้ตนล้มเลิกการเสนอญัตติ เพราะสัปดาห์ก่อน มีการคุยกันเพื่อขอกรรมาธิการ 30 คน โดยเป็น สว. 20 คน ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ 15 คน และกลุ่มเล็ก 5 คน เป็นคนนอก 10 คนพร้อมตำหนิว่า การขอลักษณะนี้ เหมือนเป็นขอทาน และพลเอกคนดังกล่าว ยังบอกอีกว่า หากอภิปรายแล้ว ขอให้จบไม่ต้องตั้งกรรมาธิการ
โดย พลเอกสวัสดิ์ ทัศนา สมาชิกวุฒิสภา ได้ลุกขึ้นยอมรับว่า ตนเองเป็นคนที่โทรหานายแพทย์เปรมศักดิ์ เพื่ออธิบายว่า เมื่อตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาแล้ว ต่อไปอยู่ในอำนาจหน้าที่ จะขัดแย้งกัน หรือเป็นภาระหรือไม่ ซึ่งในวันที่ 12 - 13 กันยายนนี้ รัฐบาลจะแถลงนโยบายขอให้คุยในสภา เพื่อให้ข้อยุติ ได้สาระแล้วนำเสนอในการแถลงนโยบายรัฐบาล เนื่องจาก สว.หลายคนเห็นว่า จะได้ผลไวกว่าจะศึกษาในกรอบเวลากรรมาธิการฯ 30 - 120 วัน เพราะศึกษามานานแต่แก้ปัญหาไม่ได้