11 สิงหาคม 2567 เหตุผลสำคัญที่ทำให้ "พรรคก้าวไกล" ต้องถูก"ศาลรัฐธรรมนูญ" วินิจฉัยให้ "ยุบพรรค" และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นผลพวงจาก การเคลื่อนไหวรณรงค์หาเสียงให้มีการยกเลิก"ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112"
แม้คนในพรรคจะพยายามอ้างมาโดยตลอด เป็นการแก้ไขไม่ได้ยกเลิก แต่ผลของพฤติการณ์ในอดีตส่งผลให้ "ก้าวไกล"ต้องประสบชะตากรรมยุบพรรคและวันนี้ 143 สส. ย้ายเข้าสังกัด"พรรคประชาชน" ท่ามกลางคำถามว่า จุดยืนของคนในพรรค กับการแก้ไขหรือยกเลิก ม.112 หรืออะไรก็ตาม จะทำอย่างไร
ขณะที่สื่อมวลชนได้สอบถามจุดยืน หัวหน้าพรรคประชาชน คนใหม่ "ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ" สส.บัญชีรายชื่อ แถลงยืนยันจะมีการแก้ไขกม.มาตรา 112 ต่อไป ( บทสัมภาษณ์สื่อเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 )
ม.112 แก้ได้ แต่ต้องตกผลึกทางความคิด
ทีมข่าวการเมืองเนชั่นทีวี ได้ตรวจสอบมุมมองจากหลายฝ่าย โดยเริ่มจาก "ปิยบุตร แสงกนกกุล" เลขาธิการคณะก้าวหน้า อีกสถานะ ท่านเป็นผู้นำจิตวิญญาณของคนในพรรคอนาคตใหม่ - พรรคก้าวไกล ที่ถูกยุบพรรคไปแล้วด้วย
"ปิยบุตร" บอกว่า โดยส่วนตัว มาตรา 112 มีปัญหา เนื่องจากคำวินิจฉัยที่ 3/ 2567 ศาลรัฐธรรมนูญจะตีกรอบเข้มข้น ขึ้นถึงการแก้ไขมาตรา 112 ยืนยันชัดเจนว่า ศาลรธน.ไม่ได้พูดว่า ห้ามแก้เลย เพียงแต่ศาลรธน. ตีกรอบการแก้ไขไว้ว่า จะแก้แบบใดบ้าง แสดงว่า กม.มาตรานี้ยังแก้ไขได้อยู่
"แต่ในทางการเมืองจะทำหรือไม่ อยู่ที่"พรรคประชาชน" ประเมินว่า สถานการณ์ไหนเหมาะสมหรือไม่ อยู่ที่ว่าสังคม หรือสภาอยู่ในความพร้อมที่จะพูดคุยกันได้แล้วหรือยัง ถ้ายังยืนยันว่าเป็นปัญหา การแก้ 112 เพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อป้องกันไม่ให้มีใครนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาแอบอ้างใช้ประโยชน์ทางการเมือง หรือยืนยันตามพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยมีไว้ว่าการใช้ 112 กระทบถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย ถ้าเห็นตรงกันแบบนี้ ผมว่าโอกาสแก้ไข 112 ก็สามารถแก้ไขได้ เพียงแต่จะทำอย่างไรให้สอดคล้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 3/2567 "
กังขา สภาฯภายใต้รธน.แต่แตะกม.บางฉบับไม่ได้
ขณะที่ "ศ.ดร. ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์" นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวกับ เนชั่นทีวีว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งตามที่เราเข้าใจ ในพรป.พรรคการเมืองกำหนดข้อต้องห้ามกับพรรคการเมืองเอาไว้ ขณะเดียวกัน คำวินิจฉัยของศาลรธน.เป็นเอกฉันท์
แต่ทีนี้มุมมองที่ตนคิด ทุกคนหันไปมองว่า ไม่ได้เกิดอะไรขึ้นเลย หมายความว่าการเสนอแก้ไขมาตรา 112 เป็นกระบวนการของรัฐสภา ถึงแม้เสนอร่างกม.อาจไม่ผ่านก็ได้ แล้วก็ยังไม่ทำอะไรเลย หรือแม้แต่ช่วงรณรงค์หาเสียง ยังไม่ได้เป็นนโยบาย ยังไม่ได้เป็นร่างอะไรเลย
ทีนี้มีคำวินิจฉัยศาลรธน. ว่าแม้กระทั่งการหาเสียงจะเสนอแก้ไขไม่ได้ พอเป็นแบบนี้ ก็เกิดคำถามว่า ทำไมถึงไม่ได้ ถ้ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และพรรคการเมืองเป็นตัวแทนของประชาชน ที่เลือกเข้ามา น่าจะแก้ไขกฎหมายอะไรได้ ถ้าแก้ไม่ได้แสดงว่าไม่อยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ
นักวิชาการท่านนี้ กล่าวว่า จึงเป็นข้อกังขาว่า ผลที่ออกมา เป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 แต่ว่า จะมีข้อกังว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว แสดงว่า ต่อไปนี้เราไม่สามารถแก้ไขกฎหมายบางกฎหมายได้เลย ถ้าเป็นเช่นนั้นก็มีข้อกังขาว่าเป็นแบบนี้แล้ว รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดหรือไม่
มือพิทักษ์รธน.เกาะติด จุดยืน พรรคประชาชน
อีกด้านหนึ่ง "ธีรยุทธ สุวรรณเกษร" ทนายความอิสระ หรืออีกสถานะ ท่านเปรียบหมือนคนต้นเรื่องที่ยื่นเรื่องให้ศาลรธน. วินิจฉัย ตั้งแต่กรณี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล รณรงค์หาเสียงแก้ไขมาตรา 112 จนศาลรธน.วินิจฉัยออกมาให้หยุดการกระทำ ก่อนที่ กกต.จะยื่นคำร้องโดยยึดคำวินิจฉัยที่ 3/ 2567 จนศาลรธน.ยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งมือพิทักษ์รธน.รายนี้ ได้มาขยายความกับเนชั่นทีวี อีกครั้งว่า ความจริงการแก้กม.มาตรา 112 แก้ไขได้ และเคยมีการแก้ไขมาแล้วถึง 7 ครั้ง แต่วัตถุประสงค์สำคัญ ที่ต้องยื่นศาลรธน.วินิจฉัย พิธา และพรรคก้าวไกล เพราะ การเข้าชื่อของ สส. ก้าวไกลขณะนั้น เป็นการแก้ไข ให้ยกเลิก มาตรา 112 ซึ่งอยากให้เข้าไปดูเนื้อหาร่างกม. ของ 44 สส.นี้ให้ครบถ้วน คือ ต้องการยกเลิก มาตรา 112
ผมยังคงยืนยัน แม้ พรรคก้าวไกล จะแปลงร่างเป็น พรรคประชาชน แต่มีเจตนาที่จะแก้ไข กม.มาตรา 112 ในการกัดเซาะบ่อนทำลายระบอบการปกครอง หรือแม้คำวินิจฉัยที่ 3/2567 วางบรรทัดฐานไว้แล้วและพรรคประชาชนยังคงเดินหน้าแก้ไขให้ยกเลิก ผมยื่นคำร้องอยู่ดี หรือ แม้อ้างว่าได้รับเลือกตั้งมาเป็นจำนวนเสียงข้างมากที่จะทำการแก้ไขกม.ฉบับดังกล่าวได้
"ในความเห็นของผม เขาทำเช่นนั้นไม่ได้ หากท่านมองตัวท่านเองว่ามีเสียงข้างมาก ก็เป็นแต่เฉพาะเสียงข้างมาก แต่กว่าจะเป็นเสียงข้างมาก ท่านต้องเดินตามครรลองกฎหมาย ตามครรลองรธน. ตามครรลองแห่งโบราณราชประเพณี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เป็นสิ่งที่หลอมรวม ขึ้นเป็นชาติไทย หากท่านจะอ้างแต่เป็นเสียงข้างมาก แล้วทำลายเสียซึ่งระบอบการปกครอง ทำลายเสียซึ่งโบราณราชประเพณี ท่านจะทำลายเสียซึ่งหลักการรัฐธรรมนูญ หลักการแห่งกฎหมายทั้งหมดทั้งปวง ที่เราได้หล่อหลอมขึ้นเป็นชาติไทย"
ธีรยุทธ ยืนยัน ตรงนี้ ผมไม่เห็นด้วย และผมต้องทำหน้าที่ต่อ และทำหน้าที่เช่นเดียวกับเช่นนี้อีก เพื่อสะท้อนให้กับผู้ที่มีความเห็นเช่นเดียวกับผมได้มีโอกาสแสดงออกในลักษณะเช่นเดียวกับผม อย่างที่เราได้เห็นมา ผมดำเนินการ เป็นกระบอกเสียง จนกระทั่งศาสลรธน.มีคำวินิจฉัย เป็นบรรทัดฐาน วางครรลองแห่งการปกครองไทยเกิดขึ้น ผมได้เห็นปรากฎการณ์ ผู้จงรักภักดีสถาบัน ได้แสดงตนมากขึ้น ยินดีและปลื้มปิติต่อตนเองตลอดเวลา
ทั้งหมดนี้ก็เป็นมุมมองจากแวดวงนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว ต่อความพยายามของพรรคการเมือง ที่ต้องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเฉพาะพรรคประชาชนที่รองรับสส.ก้าวไกล จากการถูกยุบพรรค จะกำหนดจังหวะตัวเองในการแก้ไขมาตรา 112 ในรูปแบบใด เป็นเรื่องที่ต้องจับตามองกันต่อไป
ชมคลิปรายการ จับจังหวะแก้ม.112 พรรคประชาชนมีโอกาสกี่เปอร์เซนต์