ย้อนไปเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคฯ ได้ยื่นร่างแก้ไขประมวลกฎหมาย มาตรา 112 เพื่อให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้วพิจารณา แต่ไม่ได้ถูกบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม และยังมีกรรมการบริหารพรรคฯ เข้าร่วมการชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไข หรือยกเลิก ม.112 รวมถึงยังมีกรรมการบริหารพรรคฯ เป็นนายประกันผู้ต้องหาในความผิดดังกล่าว จากนั้น ในการเลือกตั้ง 2566 พรรคก้าวไกล ก็ยังคงมีการใช้นโยบายนี้ หาเสียงเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง
ตอนนี้ผมในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล ติดสติ๊กเกอร์ตรงคำว่า ‘ยกเลิก’ แต่ผมต้องขอโทษน้องทั้งสองว่า ขอให้ผมแก้ไขก่อน ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ เพราะผมเชื่อว่า การแก้ไขจะทำให้โอกาสที่กฎหมายนี้ ได้รับการแก้ไขในสภามากกว่า และผมเชื่อว่าร่างฯ ของพรรคก้าวไกลไม่ว่าจะเป็นเรื่องการที่ไม่ใช่ว่าให้ใครเอาสถาบันมาทำร้ายกัน การตั้งคำวิจารณ์ไม่ต้องติดคุก การลดโทษออกมา การเอากฎหมายฉบับนี้ออกจากหมวดมั่นคง ไม่มีใครต้องติดคุกเพียงแค่ตั้งคำถามอีกต่อไป และถ้ากลุ่มคณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.112), พี่น้องประชาชน เสนอกฎหมายยกเลิก 112 เข้ามา พรรคก้าวไกล ก็จะสนับสนุน ครย.เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ต้องขอโทษน้องทั้งสองคน ที่พี่ต้องขอแก้ไข ม.112 ในสภาฯ ก่อน ถ้าสภาฯ ยังไม่ให้ได้รับการแก้ไข เหมือนรัฐสภาชุดที่ผ่านมา แล้วเราไปยกเลิกด้วยกันครับ
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล
กล่าวบนเวทีปราศรัยนำเปิดนโยบาย และว่าที่ผู้สมัครจังหวัดชลบุรี 24 มีนาคม 2567
จากเหตุการณ์ต่าง ๆ จึงเป็นมูลเหตุปฐมบทที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้พรรคก้าวไกล ยุติการกระทำดังกล่าว หลังมีผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยที่ศาลฯ เห็นว่า การกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำที่มีเจตนาพยายามแยกสถาบันฯ ออกจากความเป็นชาติ มุ่งลดสถานะสถาบันพระมหากษัตริย์ และใช้สถาบันฯ มาหวังผลการเลือกตั้ง จึงถือเป็นพฤติกรรม ที่เซาะกร่อน บ่อนทำลาย การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันนำไปสู่การยื่นยุบพรรคก้าวไกล โดย กกต. จากการกระทำที่ผ่านมา
กกต.ยังขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง 11 กรรมการบริหารพรรคการเมือง ที่อยู่ในช่วงเวลาการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว จนถึงห้วงเวลาก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งห้ามดำเนินกิจกรรมการแก้ไข ม. 112 โดยห้ามไปจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองอื่น หรือไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ตามระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย
ทั้งนี้ หากในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล พร้อมตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคฯ ก็จะส่งผลกระทบต่อตำแหน่ง “รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1” ที่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก พรรคเป็นธรรม ในฐานะอดีตกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ซึ่งอาจจะต้องมีการคัดเลือกกันใหม่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
รวมถึงตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร” ที่ยังจะต้องรอว่า หัวหน้าพรรคคนใหม่ ในนามพรรคสำรองของพรรคก้าวไกลจะเป็นใคร
ลิงก์ข่าว : https://youtu.be/yv5GUoD0EJg?si=Hwjk770YDUAvZp0z