30 กรกฎาคมท 2567 พลตำรวจเอก สุรเชชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังได้นำเอกสารและเข้าชี้แจงด้วยวาจา ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร) กรณีอุทธรณ์คำร้องคำสั่งให้ออกจากราชการโดยมิชอบ โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงว่า ในวันนี้ได้ชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ ต่อคณะกรรมการเรียบร้อยแล้วทั้งหมดครบถ้วนทุกประเด็น ถือว่าเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย และพระราชบัญญัติตำรวจฉบับใหม่ พ.ศ.2565 ที่กำหนดหลังจากนี้รอทางคณะกรรมการได้มีคำวินิจฉัย และจะไม่ติดใจหากผลออกมาเป็นทิศทางใด
พร้อมกับยืนยันว่า หลังจากนี้หากผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการเป็นไปในทิศทางลบหรือบวกก็พร้อมน้อมรับ แต่หากผลเป็นลบหลังจากนี้ ก็จะใช้สิทธิ์ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองสถานะการเป็นตำรวจ และพิจารณาเพิกถอนคำสั่งให้ออกจากข้าราชการไว้ก่อน โดยจะฟ้องร้องในทุกประเด็นตามที่กฎหมายให้สิทธิ์ แต่ยังไม่สามารถยื่นต่อศาลปกครองได้ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมา ย้ำว่าหากผลออกมาในทิศทางบวกตนเองก็จะสามารถกลับไปรับราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ และจะไม่ฟ้องร้องดำเนินคดีกับใครทั้งสิ้นตามที่ได้เคยกล่าววาจาไว้ก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบกรอบระยะเวลาการวินิจฉัยของคณะกรรมการ แต่ทางคณะกรรมการจะส่งผลการวินิจฉัยไปยังภูมิลำเนา และจะเป็นผู้รับด้วยตนเอง ส่วนผลการพิจารณาจะแล้วเสร็จก่อนการพิจารณาเสนอชื่อ เพื่อคัดเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ในเดือนกันยายนนี้หรือไม่นั้นไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับ ก.พ.ค.ตร.
สำหรับบรรยากาศในการชี้แจงด้วยวาจากับคณะกรรมการตลอด 2 ชั่วโมงในวันนี้ พลตำรวจเอก สุรเชชษฐ์ ยอมรับว่าได้พบ พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คู่กรณี แต่ไม่ได้มีการไหว้ทักทาย พูดคุยหรือสบตากัน เนื่องจากต่างคนต่างชี้แจง ส่วนทางคณะกรรมการไม่มีข้อซักถามเพิ่มเติม เนื่องจากมีหน้าที่รับฟังเพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ พลตำรวจเอกสุรเชชษฐ์ยอมรับว่า ตลอด 4-5 เดือนที่ผ่านมา รู้สึกคิดถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ส่วนตัวยังไม่มั่นใจว่า จะได้กลับหรือไม่ ตอนนี้ ให้ความสำคัญกับเรื่องจะได้กลับหรือไม่เท่านั้น ส่วนเรื่องอื่นยังไม่คิดถึง โดยเฉพาะเรื่องที่มีโหรทำนายว่า ในช่วงเดือนสิงหาคมจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำ และมีกระแสข่าวว่า ตนจะได้เป็นรัฐมนตรีคุมสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น ก็ยังไม่ทราบข่าว
เช่นเดียวกับกรณีการเปลี่ยนชื่อ โดยการเพิ่ม ช.ช้างเข้าไปอีกตัว ก็เพื่อความเป็นสิริมงคล เนื่องจากอาจารย์ท่านนี้เคยทักตนเองไว้นานแล้ว ตั้งแต่ตอนที่ไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี เพียงแต่ตอนนั้นตนเองไม่มีโอกาส ส่วนชื่อและความหมายยังคงเหมือนเดิม