svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จับกระแสการเมืองไทย เบื่อ “เพื่อไทย” เสียดาย “ลุงตู่”

จับตากระแสการเมืองไทย ยุครัฐบาลเพื่อไทย ในปี 2567 สังคมไทยเริ่มพูดและมีการถกเถียงถึง 2 กระแสมากขึ้นเรื่อยๆ ประเด็นแรก "เบื่อเพื่อไทย" ส่วนประเด็นที่สอง "เสียดายลุงตู่"

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่ามีกระแสทางการเมือง 2 กระแส ที่ไม่ส่งผลดีกับพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลเลย ก็คือ 

  • กระแสที่ 1 ผู้คนบางส่วนในสังคม และเป็นจำนวนไม่น้อย เริ่มบ่น “คิดถึงลุงตู่” 
  • กระแสที่ 2 เริ่มมีเสียงเตือนเรื่อง “ความเสี่ยงของการเกิดรัฐประหาร” 

ทั้งสองกระแสนี้ เดิมหลายคนไม่เชื่อว่าเกิดขึ้นจริง บ้างก็มองว่าเป็นไอโอ (ปฏิบัติการข่าวสาร หรือ information Operation) จากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล 

บ้างก็ว่าเป็นกระแสที่เกิดขึ้นจาก “คนกลุ่มเล็กแต่เสียงดัง” คือกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการรัฐประหาร และอยู่ในอำนาจมายาวนานตั้งแต่ปี 2557 แล้วเกิดอารมณ์ค้าง เนื่องจากฝ่าย “นั่งร้านรัฐบาลทหาร” แพ้เลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว จึงพยายามสร้างกระแสขึ้น 

ทว่าล่าสุด เกือบทุกฝ่ายในสังคมยอมรับแทบจะตรงกันแล้วว่า กระแสทั้ง 2 เกิดขึ้นจริง และมีเสียงพูดคุย วิพากษ์วิจารณ์ 2 เรื่องนี้ หนาหูขึ้นเรื่อยๆ 

รายการของเนชั่นทีวีบางรายการ เช่น “ขอเวลานอก” ซึ่งมีการลงพื้นที่สอบถามความเห็นพี่น้องประชาชน ก็มีหลายเสียงที่พูดถึง 2 กระแสนี้โดยไม่ได้นัดหมาย 
เศรษฐา ทวีสิน

ทำไมคนคิดถึง “ลุงตู่”
สาเหตุที่คนยังคิดถึง “ลุงตู่” ก็เพราะ
1. พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯที่มีสไตล์โดดเด่นเฉพาะตัว ไม่เหมือนใคร และมีคนไทยบางส่วนชอบผู้นำสไตล์นี้

  • มีภาพความเด็ดขาด กล้าใช้อำนาจ
  • ให้สัมภาษณ์ไม่เก่ง ไม่ใช่นักพูด
  • อารมณ์ไม่ดีบ่อยๆ และไม่ค่อยให้เกียรติสื่อมวลชน ดุสื่อ ต่อว่านักข่าวเป็นประจำ (ประชาชนบางส่วนสะใจ) 

2. พลเอกประยุทธ์ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านชัดเจน คือด้านการทหารและความมั่นคง ซึ่งก็มุ่งแสดงบทบาทในด้านนี้ ขณะเดียวกันก็ยอมรับกับสังคมตรงๆ ว่า ไม่เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี 

3. ไม่พยายามพูดในสิ่งที่ยังทำไม่สำเร็จ หรือตัวเองไม่ถนัด 

จับกระแสการเมืองไทย เบื่อ “เพื่อไทย” เสียดาย “ลุงตู่”

4. บทบาทความเป็นผู้นำของนายกฯเศรษฐา ตรงข้ามกับ”ลุงตู่” แทบทุกอย่าง ทำให้คนที่ชอบลุงตู่ อาจจะไม่ค่อยชอบนายกฯเศรษฐา 

5. รัฐบาลเพื่อไทย และนายกฯเศรษฐา สร้างภาพความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ แต่เข้ามาทำงานเกือบ 1 ปี ยังทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นไม่ได้ในสายตาประชาชน ทั้งๆ ที่โควิดก็จบไปนานแล้ว ทำให้คนจำนวนไม่น้อยผิดหวัง 

6. รัฐบาลเพื่อไทยให้ความหวังกับสังคมเรื่อง “แจกเงิน 10,000 บาท” แต่กลับทำไม่สำเร็จ ทั้งๆ ที่มีอำนาจเต็มมาเกือบ 1 ปีแล้ว โดยที่ไม่มีมาตรการอื่นใดมาบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของประชาชน ทั้งๆ ที่รัฐบาลเองก็พูดอยู่บ่อยๆ ว่าเศรษฐกิจมีวิกฤต

ประชาชนบางส่วนจึงนำไปเทียบกับ “รัฐบาลลุงตู่” ซึ่งมีนโยบายประชานิยมประเภทแจกเงินบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าออกมาเป็นระยะ และมีนวัตกรรมนโยบายที่ผู้คนชื่นชอบมากๆ คือ “คนละครึ่ง” ทำให้หลายคนนึกถึง และเปรียบเทียบกับรัฐบาลนายกฯเศรษฐา 

7. “ลุงตู่” ยังมีผลงานเป็นรูปธรรม อย่างน้อยที่สุดคือการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะมอเตอร์เวย์ และระบบราง แต่รัฐบาลนายกฯเศรษฐา ยังมองไม่เห็นผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันบ้างเลย 

8.การมีบทบาททางการเมืองของ “อดีตนายกฯทักษิณ” และ “คุณอุ๊งอิ๊งค์” ในฐานะสองพ่อลูกชินวัตร กลับไม่ได้ช่วยเสริมสร้างความ “ดัง ปัง เปรี้ยง!” ให้กับรัฐบาลเพื่อไทย แต่กลับนำมาซึ่งเสียงวิจารณ์ เช่น การขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของหัวหน้าพรรคเพื่อไทย การเคลื่อนเกมการเมืองและนโยบายของอดีตนายกฯทักษิณ 

9.พรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นรัฐบาลในลักษณะ “ชิงจากพรรคอันดับ 1 มา” ทำให้ความชอบธรรมมีน้อย เพื่อได้ทำงานจริงแล้วทำได้ไม่ดีจนเป็นที่น่าพอใจ จึงยิ่งทำให้โดนกระแสตีกลับ 

ภาพรวมสถานการณ์ของรัฐบาลเพื่อไทยที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ คือ ทำสุดทุกอย่างแล้ว แต่ผลที่ออกมายังไม่เป็นที่น่าพอใจเลย ทั้งกับความรู้สึกของพี่น้องประชาชนเอง และความรู้สึกของ “คนเพื่อไทย” เป็นรัฐบาลมายังไม่ถึงปี แต่เหมือนอยู่มาหลายปีแล้ว...

โดยเฉพาะประชาชนคนไทย ต้องยอมรับว่า ก่อนเลือกตั้งปี 66 มีอาการ “เบื่อลุงสุดๆ” และหวังว่า “รัฐบาลเลือกตั้งชุดใหม่” จะเข้ามาสร้างสิ่งดีๆ ได้ อย่างน้อยก็ดีกว่า “ยุคลุงตู่” แต่ผลกลับออกมาตรงกันข้าม หรือไม่บรรลุเป้า ทำให้คนส่วนใหญ่ผิดหวังเป็นทวีคูณ 

เป็นแรงเสริมความผิดหวัง เพราะตั้งความหวังเอาไว้มาก!!