24 มิถุนายน 2567 วันนี้หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2475 ถือว่า เป็นวันที่มีความสำคัญ กับหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย และประเทศไทย ที่ส่งผลต่อคนไทยทุกคนเป็นอย่างมาก
นั่นคือเป็นวันที่ประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และจากความสำคัญดังกล่าว!
ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการแสดงความคิดเห็นไว้ได้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า
การเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เดินทางมาถึงวาระครบรอบ 92 ปีอย่างเงียบ ๆ …
แน่นอนว่า ในวาระครบรอบ 92 ปี เช่นนี้ ไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น จนกลายเป็นประเด็นใหญ่ทางการเมือง อันจะถูกนำไปผูกโยงกับการเปลี่ยนแปลงในวันดังกล่าว
แม้จะดูเหมือนว่า จะเป็น 92 ปีที่เงียบ ๆ แต่เหตุการณ์การเมืองรอบ ๆ ตัว ดูจะไม่เงียบเท่าใดนัก โดยเฉพาะเรายังอยู่กับภาวะของ “การเมืองแห่งความไม่แน่นอน” ไม่ต่างกับในช่วงต้นของยุคหลัง 2475
อีกส่วนที่ดูจะไม่เงียบ ก็คงหนีไม่พ้นจากเสียงเล่าลือในเรื่องของ “รัฐประหาร” จนบางครั้งทำให้คนที่สนใจการเมืองไทย มักมีคำถามอยู่เสมอว่า “92 ปีแล้ว … ข่าวลือเรื่องรัฐประหารยังไม่จบอีกหรือ?” หรือว่า สังคมไทยจะตกอยู่ใน “วังวนรัฐประหาร” แบบไม่มีจุดสิ้นสุด
ภาวะเช่นนี้ ทำให้เส้นแบ่งเวลาในการเมืองไทยเป็นความน่าเศร้าใจ ในมิติของการสร้างประชาธิปไตย เพราะเส้นแบ่งนี้มี 3 แบบ คือ
1) การเมืองยุคก่อนรัฐประหาร
2) การเมืองยุครัฐประหาร
3) การเมืองยุคหลังรัฐประหาร
หลายครั้งที่ การเมืองไทยเดินมาถึงจุดเวลาที่ 3 แล้ว จนบางทีก็น่าหดหู่ ที่การเมืองถอยกลับไปที่จุดที่ 1 ใหม่อีก … ถ้าหลายท่านเคยเล่นเกมส์ตอนสมัยเด็กๆ จะเหมือนกับเราเล่น “เกมส์บันไดงู” ที่เดินไปข้างหน้าแล้ว ก็ยังตกบันไดงูกลับลงมาที่เดิม ไม่ไปไหน!
ภาวะเช่นนี้ จึงเป็นดังการเดินในวังวนเดิม จนทำให้รัฐประหารกลายเป็นปรากฎการณ์หลักของการเมืองไทย ดังที่กล่าวมาแล้วในฐานะของการเป็น “เส้นเวลา” ที่สำคัญทางการเมือง
และในอีกด้านก็เป็นภาพสะท้อนว่า การเมืองในระบอบประชาธิปไตย ดูจะมีอายุสั้น และดำรงอยู่ด้วยความเปราะบาง เช่นดูเหมือน เรากล่าวถึงน้อยมาก ในเรื่องของการเมืองยุคหลัง 14 ตุลาฯ 16 หรือการเมืองยุคหลังพฤษภาฯ 35 เป็นต้น และช่วงเวลาดังกล่าว ก็ดูจะไม่ยาวนัก แม้จะมีผลสะเทือนกับการเมืองไทยในหลายเรื่องก็ตาม
หากเปรียบเทียบแล้ว การเมืองยุครัฐประหาร และยุคหลังรัฐประหาร ดูจะยาวกว่ายุคประชาธิปไตยมาก เช่น ใครเลยจะคิดว่า ประเทศจะจมปลักอยู่กับการเมืองยุครัฐประหาร ที่ล้าหลังของ คสช. นานถึง 5 ปี และจมอยู่กับยุคหลังรัฐประหาร ที่ถูกควบคุมโดย คสช. ด้วยการสร้าง “ระบอบพันทาง” (hybrid regime) เพื่อให้ผู้นำรัฐประหารสืบทอดอำนาจต่อไปอีก 4 ปี ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ขณะเดียวกัน ก็มีการออกแบบโครงสร้างทางการเมือง เสมือนหนึ่งมีการขุดหลุมบ่อ ทำหลุมพราง และสร้างสิ่งกีดขวางบนถนนสายประชาธิปไตย เพื่อทำให้เกิดอุปสรรคทุกประการ ต่อทั้งการจัดตั้งรัฐบาล และการบริหารของรัฐบาลใหม่ เว้นแต่ต้องเป็นรัฐบาลของกลุ่มผู้นำรัฐประหารเดิมเท่านั้น ที่จะสามารถใช้เส้นทางนี้ได้อย่างปลอดภัย
ผลจากปัจจัยเช่นนี้ ทำให้ระบอบการเมืองหลังการเลือกตั้ง 2566 มีปัญหาและอุปสรรคในตัวเอง และถ้ารัฐบาลไม่มีขีดความสามารถในการบริหารประเทศเพียงพอแล้ว รัฐบาลเลือกตั้งจะถูกรุมเร้า จากปัญหาของ “กับดักเดิม” และปัญหาของ “พายุลูกใหม่” ที่เข้ามาพร้อมกัน จึงทำให้รัฐบาลเป็นดัง “รัฐนาวาที่ถูกคลื่นลูกใหญ่ถาโถมไม่หยุด”
ในภาวะเช่นนี้ จึงเสียงถามเสมอว่า “กัปตันเศรษฐา” ที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ หลังจากกัปตันคนเก่า ที่ไม่ได้รับความนิยม และถูกปลดออกจากผลของการลงคะแนนของคนในเรือแล้ว กัปตันใหม่จะสามารถนำพา “รัฐนาวาสยาม” ไปรอดในท่ามกลางพายุและคลื่นลูกใหญ่ได้เพียงไร
หากเราลองสำรวจพายุและคลื่นลมแรง ที่เข้ามากระแทกรัฐนาวานี้ เราจะเห็นพายุใหญ่ 5 ลูก ดังนี้
1) พายุการเมืองโลก ที่เป็นผลของสงครามเย็น หรือผลจากการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ ในเวทีการเมืองโลก และปัญหานี้มีแนวโน้มที่ทวีความรุนแรงขึ้น ไทยจะยืนอย่างไรในพายุนี้
2) พายุการเมืองไทย อันเป็นผลจากความขัดแย้ง ในตัวระบบการเมืองไทยเอง ทั้งปัญหาระหว่างรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้าน ปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาล และปัญหาภายในของตัวพรรคเอง รวมถึงปัญหาการยุบพรรค การตัดสินคดีนายกฯ และข่าวลือรัฐประหาร ที่หวังว่าจะไม่เป็นจริง (แม้จะมีบางคนจะยังฝันหา!)
3) พายุเศรษฐกิจ เป็นผลพวงจากความพอกพูน ของปัญหาเศรษฐกิจภายใต้ระบอบทหาร และสำทับด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ ที่เป็นผลจากโรคระบาด และตามมาด้วยสงคราม ทั้งในยูเครนและกาซา ตลอดรวมถึงปัญหาความขัดแย้ง ในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทย ระหว่างรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งคงต้องเรียกภาวะนี้ว่า ปัญหา “กบฏบางขุนพรหม” (ไม่ใช่เรื่องของวังบางขุนพรหมในยุคหลัง 2475 แบบเดิม)
4) พายุสังคม อันเป็นผลของความยากจน หนี้ครัวเรือนที่สูงมากขึ้น และยังโถมด้วยปัญหาคือ ค่าครองชีพและราคาสินค้าในชีวิตประจำวันที่สูงมากขึ้น รวมทั้งปัญหาอากาศที่ผันผวน และมีผลกระทบทางสังคม
5) พายุความมั่นคง ที่เห็นทั้งจากปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดท่าทีต่อปัญหาสงครามกลางเมืองเมียนมา อันเป็นความท้าทายที่รอคำตอบในทางยุทธศาสตร์
หากพิจารณาจากเรื่องราวเหล่านี้แล้ว “92 ปี 2475” จึงไม่เงียบอย่างที่คิดเลย แต่อาจกลายเป็นการก่อตัวของ “พายุใหญ่” ที่กำลังเกิดขึ้น และท้าทายต่อ “กัปตันเศรษฐา” อย่างมากด้วย!