18 มิถุนายน 2567 เป็นอีกวันที่คดีของอดีตนายกฯ นายทักษิณ ชินวัตร จะมีความชัดเจนมากขึ้น กรณีที่ต้องเป็นผู้ต้องหา ที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องในความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีให้สัมภาษณ์กับเดอะโชซอนมีเดีย (The ChosunMedia) ของเกาหลีใต้เมื่อปี2558 มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน ซึ่งวันนี้พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญานัดเวลา 09.00 น.
และก่อนที่จะถึงเวลาดังกล่าว ประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ นอกเหนือจากอดีตนายกฯ จะเฉียดคุกบ้างหรือไม่ ก็คือ แนวทางการต่อสู้คดีของนายทักษิณ จะเป็นอย่างไร เหตุใดจึงมั่นใจเดินไปศาล เพื่อต่อสู้คดี
ข่าวจาก “เนชั่นทีวี - รายการ 3 บก." และ "เนชั่นอินไซต์” เปิดเเนวการต่อสู้คดี 4 ประเด็นสำคัญของอดีตนายกฯ
1.ไม่มีเจตนาหลบหนี และพร้อมสู้คดี
2.คำว่า “Palace Circle” ที่ให้สัมภาษณ์สื่อเกาหลี ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด มาตรา 112
3.กระบวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนในยุค คสช. มีการแทรกแซงจากทหารและผู้มีอำนาจ ทำให้พนักงานสอบสวนไม่เป็นอิสระ
4.ราชกิจจานุเบกษา เรื่องพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้อดีตนายกฯทักษิณ จาก 8 ปี เหลือ 1 ปี มีเหตุผลข้อหนึ่งระบุว่า “มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์”
***ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไปให้สัมภาษณ์หมิ่นสถาบัน จนเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
จากการสอบถามผู้รู้ในแวดวงกฎหมาย ทั้งอัยการและศาล ประเมินน้ำหนักการต่อสู้ทีละข้อเอาไว้แบบนี้
หนึ่ง แนวทางการต่อสู้บางข้อใน 4 ข้อ สามารถใช้ต่อสู้ในชั้นศาลได้ และเป็นประโยชน์ต่อตัวอดีตนายกฯ
โดยเฉพาะคำว่า “Palace Circle” ที่ต้องสู้ให้เเปลว่า ผู้เเวดล้อมสถาบัน ไม่ใช่ตัวสถาบันเบื้องสูง
ต้องมีหลักฐานประกอบเป็นบริบทคำพูด เพื่อพิสูจน์เจตนาของการพูด
มีข่าวอีกด้านหนึ่งว่า พนักงานสอบสวนเองก็ไม่มีคลิปฉบับเต็ม ที่จะพิสูจน์บริบทการสัมภาษณ์ทั้งหมดที่ว่านี้เช่นกัน จึงน่าจะเป็นประโยชน์กับอดีตนายกฯ
-ย้อนดูองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
1.พฤติการณ์ที่เข้าข่ายมี 3 อย่างเท่านั้น คือ
ดูหมิ่น / หมิ่นประมาท / หรืออาฆาตมาดร้าย อย่างใดอย่างหนึ่ง
2.บุคคลที่ถูกกระทำและได้รับความเสียหาย มี 4 คนเท่านั้น
พระมหากษัตริย์ / พระราชินี / รัชทายาท / และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
หากพิสูจน์ได้ว่า palace circle ที่พูดถึง ไม่ใช่บุคคลตามที่กฎหมายระบุ ก็จะไม่เข้าองค์ประกอบความผิด
สอง ที่อ้างกระบวนการสอบสวนในยุค คสช. มีการแทรกแซงจากทหารและผู้มีอำนาจ ทำให้พนักงานสอบสวนไม่เป็นอิสระ
ประเด็นนี้ กูรูกฎหมายมองว่า “นำสืบยาก” เว้นแต่จะมีการนำพยานที่เป็นพนักงานสอบสวนในคดีขณะนั้น มาสืบเป็นพยานยืนยันว่า ถูกข่มขู่จริง เเละจะต้องไม่ใช่คนเดียว จะต้องเป็นพนักงานสอบสวนส่วนใหญ่ เพราะการสอบสวนคดีลักษณะนี้ กระทำในรูปองค์คณะ
**ประเด็นนี้หากพิสูจน์ได้ไม่ชัดเจน ศาลจะมองว่า เป็นการคาดคะเนเอาเองหรือไม่ ถือว่าไม่มีน้ำหนักพอในการหักล้าง
สาม ประเด็นเคยได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ / โดยมีเหตุว่า “มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์”
ประเด็นนี้ “กูรูกฎหมาย” มองว่า เป็นคนละบริบทกับข้อกล่าวหาในคดี
เพราะในคดีอาญา การพิสูจน์ความผิดจะดูข้อเท็จจริงเฉพาะคดีนั้น ไม่สามารถนำพฤติการณ์ในช่วงเวลาอื่นมายืนยันเพื่อต่อสู้ให้พ้นผิดได้
เรื่องนี้เรียกว่าเป็นการอ้าง “เรื่องต่างกรรมต่างวาระกัน”
**เหตุดังกล่าวน่าจะเหมาะในการขอลดโทษหรือรอการลงโทษมากกว่าต่อสู้คดี
“กูรูกฎหมาย” สรุปว่า ประเด็นสำคัญที่สุดใน 4 ข้อที่อ้างเป็นข้อต่อสู้ มองว่า Palace Circle มีน้ำหนักมากที่สุด หากพิสูจน์ได้ว่า ความหมายไม่ใช่บุคคลตามที่บัญญัติในมาตรา 112 ก็จะไม่เข้าองค์ประกอบความผิดทันที
งานนี้อาจจะต้องนำพยานคนกลาง นักวิชาการ หรือนักภาษาศาสตร์มาสืบเป็นพยานกันเลยทีเดียว
ส่วนความเป็นไปได้ที่อดีตนายกฯ จะเลิกวิธี “ตัดจบ” ด้วยการยอมรับสารภาพไปเลย โดยหวังให้ศาลรอลงอาญา แล้วอ้างเหตุต่างๆ ที่อ้างมา 4 ข้อ เป็นเหตุบรรเทาโทษแทนนั้น
“กูรูกฎหมาย” อธิบายว่า หากจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แล้วศาลสามารถพิพากษาได้ทันที โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐาน ต้องเป็นคดีที่มีอัตราโทษต่ำกว่า 5 ปีเท่านั้น
แต่หากคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ กฎหมายกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำไว้ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือโทษสถานหนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่า จำเลยกระทำผิดจริง คือต้องสืบประกอบคำรับสารภาพ (ป้องกันการถูกบีบให้รับสารภาพจากนอกศาล)
สำหรับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีอัตราโทษจำคุกตั้งเเต่ 3-15 ปี เท่ากับว่าคดีนี้ เเม้จะรับสารภาพเเล้ว ยังต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ หรืออาจจะมีการสั่งสืบเสาะพฤติการณ์ของจำเลย
ฉะนั้นในวันที่ 18 มิ.ย. จึงยังไม่สามารถมีคำพิพากษาได้ เเม้รับสารภาพ จึงไม่มีทางจบในนัดเดียว และเมื่อดูจากการตั้งประเด็นต่อสู้ของอดีตนายกฯ คาดว่าน่าจะสู้คดีมากกว่าสารภาพ