svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

“ไพบูลย์” ยื่นตรงศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยยกเลิก "MOU 2544 ไทย-กัมพูชา"

“ไพบูลย์” ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยยกเลิก MOU 2544 ไทย-กัมพูชา เหตุปกป้องอธิปไตยทางทะเลเกาะกูด 16ล้านไร่ - ผลประโยชน์พลังงานธรรมชาติ มูลค่า 20 ล้านล้านบาท

13 มิถุนายน 2567 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค พปชร. ในฐานะนักกฏหมาย  ยื่นคำร้องและเอกสารประกอบพร้อมสำเนา จำนวน 9 ชุด รวม 10 ชุด เอกสารจำนวน 1,890 แผ่น ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า การกระทำของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ผู้ถูกร้องที่ 1 และกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ถูกร้องที่ 2

ในการนำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน หรือ "MOU 2544" ที่ทำขึ้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และนำมาใช้เป็นเครื่องมือมาดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทย และแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติในทะเลของไทยให้แก่กัมพูชา 

โดยให้เหตุผลว่า ต้องการปกป้องเขตอธิปไตยทางทะเล บริเวณเกาะกูดอ่าวไทยเนื้อที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร (16ล้านไร่) และผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติมูลค่า 20 ล้านล้านบาท ของไทยในทะเลอ่าวไทย ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 3 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 25 และ มาตรา 43 (2)   ซึ่งตนในฐานะผู้ร้องได้ถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญโดยตรง และอาจจะได้รับความเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องมาจากการถูกละเมิดสิทธิ
“ไพบูลย์” ยื่นตรงศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยยกเลิก \"MOU 2544 ไทย-กัมพูชา\"

 

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ก่อนยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยฉบับนี้ ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 67 เพื่อขอให้พิจารณายื่นคำร้องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฎว่าผู้ตรวจการแผ่นดินยังไม่ได้ดำเนินการยื่นคำร้องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ จึงใช้สิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่ง ดังนี้ 

1. พิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง ในการนำ "MOU 2544" ที่ทำขึ้นโดยขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทย และแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติทางทะเลของไทยให้แก่กัมพูชา เป็นการกระทำละเมิดสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยมาตรา 25 และมาตรา 43 (2) 

 

2. พิจารณาวินิจฉัยว่า บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544 ) หรือ "MOU 2544" เป็นหนังสือสัญญาที่กระทำการโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบของรัฐสภา จึงเป็นบทบัญญัติใดหรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรก ตามหลักการเรื่องความไม่สมบูรณ์แห่งสนธิสัญญา  ซึ่งบัญญัติไว้ในอนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยกฏหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969 

3.  มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง เลิกการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิ และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของผู้ร้อง โดยให้เลิกการนำ "MOU 2544" ที่ทำขึ้น โดยขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยและแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติทางทะเลของไทยให้แก่กัมพูชา
“ไพบูลย์” ยื่นตรงศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยยกเลิก \"MOU 2544 ไทย-กัมพูชา\"