svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ศาลปกครองไฟเขียวผู้สมัคร สว. ติดประกาศแนะนำตัวออกสื่อสาธารณะได้

ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งเพิกถอนระเบียบ กกต. เรื่องการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 3 ข้อ โดยให้เหตุผลหลักว่าขัดต่อหลักการจำกัดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่เสมอภาค แต่ยังห้ามผู้สมัครทุกคนสัมภาษณ์สื่อมวลชน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกกลุ่มอาชีพ

24 พฤษภาคม 2567 ที่สำนักงานศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลางนัดฟังคำสั่งคดีที่ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับพวก ยื่นฟ้อง กกต. เพื่อขอเพิกถอนระเบียบแนะนำตัวเลือก สว.

โดยศาลปกครองพิจารณาแล้วมีคำสั่ง ให้เพิกถอนระเบียบ ระเบียบ กกต. ข้อ 3 เรื่องนิยามการเเนะนำตัว  เพิกถอนระเบียบ ระเบียบ กกต.ข้อ 7 ผู้สมัครสามารถแนะนำตัว โดยใช้เอกสารมีข้อมูลยาวไม่เกินสองหน้ากระดาษเอสี่ และแนะนำตัวได้ คือข้อมูลส่วนตัว, รูปถ่าย, กลุ่มที่ลงสมัคร, หมายเลขของผู้สมัคร, ประวัติการศึกษา, ประวัติการทำงาน หรือประสบการณ์ในการทำงาน

เพิกถอนระเบียบ ระเบียบ กกต. ข้อ 8  ฉบับเเรก กำหนดว่า การแนะนำตัวผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้สมัครสามารถทำได้ “ด้วยตนเอง” ซึ่งหมายความว่า หากจะแนะนำตัวผ่านโซเขียลมีเดียต่างๆ การส่ง การเผยแพร่ข้อความ จะต้องทำผ่านบัญชีส่วนตัวของผู้สมัครรายนั้น โดยการแนะนำตัวผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้สมัครต้องใช้ข้อความเหมือนในเอกสารแนะนำตัว ที่เป็นกระดาษตามกรณีแรก และเผยแพร่แก่ “ผู้สมัครอื่น” ในการเลือกเท่านั้น 

หากผู้สมัครจะแนะนำตัวผ่านทางช่องทางออนไลน์ เช่น การส่งข้อความทางไลน์ เฟซบุ๊ก หรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ ก็ต้องจำกัดส่งให้เฉพาะ “ผู้สมัครอื่น” หรือตั้งค่าให้เฉพาะผู้ที่สมัคร สว. เท่านั้นที่จะเห็นข้อความการแนะนำตัว ขณะที่สาธารณชน จะไม่สามารถเห็นได้เลยว่าผู้สมัคร สว. แต่ละคน แนะนำตัวกันอย่างไร หรือพูดอีกอย่างคือ ระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ เดิมถูกออกแบบมาให้เฉพาะ “ผู้สมัคร สว.” พูดคุยกันเอง แนะนำตัวเองเท่านั้น
ศาลปกครองไฟเขียวผู้สมัคร สว. ติดประกาศแนะนำตัวออกสื่อสาธารณะได้

เพิกถอนระเบียบ ระเบียบ กกต. ข้อ 11 ห้ามผู้สมัครหรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร แนะนำตัวในกรณีดังต่อไปนี้ (2)ผู้ที่ประกอบอาชีพสื่อ-สายบันเทิง ห้ามใช้ความสามารถหรืออาชีพตัวเองเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว และ (3) ห้ามแจกเอกสารแนะนำตัวด้วยการวาง โปรย หรือติดประกาศในที่สาธารณะ โดยศาลเห็นว่า ขัดต่อหลักการจำกัดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่เสมอภาค และการเผยเเพร่เเนะนำตัวโดยไม่ผิดกฎหมาย ส่วน (5) ที่ห้ามแนะนำตัวทางวิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ ศาลเห็นว่าชอบเเล้วเพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน
ศาลปกครองไฟเขียวผู้สมัคร สว. ติดประกาศแนะนำตัวออกสื่อสาธารณะได้
 

นายชล คีรีกูณฑ์ ทนายนายพนัสผู้ฟ้อง กล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาว่า ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในส่วนที่เราขอให้เพิกถอนไปประมาณ 80% แต่เมื่อวาน (23 พ.ค.) ศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องที่เราขอทุเลาฯ การบังคับคดี  แต่คำพิพากษาในวันนี้ ก็จะมีผลบังคับภายหลังอ่านคำพิพากษาไปแล้ว 30 วัน ซึ่งระหว่างนี้ก็จะเปิดโอกาสให้คู่ความทั้งสอง สามารถยื่นอุทธรณ์คดีได้

เเต่ผลคดีจะบังคับได้ก็ต่อเมื่อเป็นคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ทำให้แม้วันนี้ศาลปกครองกลางจะพิพากษาระเบียบของ กกต. หลายข้อ  ประกอบด้วย ข้อ 3 ,7, 8  ฉบับเเรก เเละข้อ 11(2)(3) เเต่ว่า ผู้สมัครก็ยังไม่สามารถแนะนำตัวได้ ต้องปฏิบัติตามระเบียบของ กกต. ก่อน ศาลปกครองมองว่า ในเรื่องของการแนะนำตัว การใช้อำนาจออกระเบียบของ กกต. มากกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรา 36  

วันนี้ศาลปกครองยืนยันชัดว่า สมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ไม่ว่าจะบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญก็ตาม เพราะว่า สว. มีอำนาจในการพิจารณากฏหมายต่าง ๆ รวมถึงเลือกผู้แทนขององค์กรอิสระ หน้าที่จึงกระทบกับประชาชนทุกคน ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลของ สว. จึงเป็นเรื่องของการเพิกถอนข้อกำหนดข้อ 3 ที่เป็นเรื่องของการเเนะนำตัวจะเกิดขึ้นได้กับ สว.ด้วยกันเท่านั้นเป็นเรื่องไม่ชอบด้วกฎหมาย

รวมถึงข้อกำหนดข้อ 7 ทั้งฉบับเก่าเเละใหม่ ซึ่งเป็นการจำกัดเสรีภาพเเสดงความคิดเห็น การเขียนโฆษณาในรูปเเบบต่าง ๆ ในส่วนข้อ 8 ศาลเพิกถอนเฉพาะฉบับเก่า เพราะฉบับใหม่อนุญาตให้เผยเเพร่ข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เเล้วจึงชอบด้วยกฎหมาย

ในส่วนข้อ 11 ซึ่งเป็นเรื่องของการเพิกถอนเกี่ยวกับการประกอบอาชีพของสื่อมวลชน ที่อาจจะให้ประโยชน์ เเก่ตนเอง เนื่องจากศาลมองว่า ในโลกความเป็นจริงไม่เฉพาะกลุ่มอาชีพสื่อมวลชนเท่านั้น กลุ่มอาชีพอื่น ๆ ก็มีอิทธิพลเเละเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ได้ ส่วนเรื่องการโปรยใบปลิวศาลก็มองว่า บางคนเข้าถึงสื่อโซเชียลไม่ได้ ก็สามารถใช้โปรยใบปลิวเเทนได้ เป็นเรื่องความเท่าเทียม เเต่ในเรื่องการสัมภาษณ์สื่อมวลชน ศาลยังมองมาตรการที่จำเป็น เพราะผู้สมัครบางคนอาจจะมีอิทธิพล สามารถเข้าถึงสื่อได้มากกว่าผู้สมัครอื่น
 

มีความเป็นไปได้ว่า ถ้าหากเราชนะคดี คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ก็จะมีการเพิกถอนย้อนหลัง แต่มันก็มีปัญหาข้อกฎหมายในเรื่องการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น จะทำอย่างไร เมื่อถามว่า เป็นความรับผิดชอบของ กกต.ทางกฎหมายหรือไม่ อาจจะไม่ใช่แต่ถ้าเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม กกต. ต้องรับผิดชอบเต็ม ๆ เราไม่ได้ต้องการล้มการเลือกตั้ง เราต้องการเเค่เรื่องระเบียบกระบวนการ ในการเเนะนำตัว 


นายชล คีรีกูณฑ์ ทนายนายพนัสผู้ฟ้อง