svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"นิกร" เผยเตรียมชงร่างกฎหมายประชามติเข้า ครม.สัปดาห์หน้า

"นิกร จำนง" เผยร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติรัฐบาลเสร็จแล้ว จ่อชงเข้า ครม. สัปดาห์หน้า มั่นใจเสนอสภาทัน 18 มิ.ย.นี้ มองเว้นหมวด 1-2 ไปก่อน ชี้หากอยากแก้เฉพาะเรื่อง ค่อยทำประชามติอีกครั้งได้

23 พฤษภาคม 2567 "นายนิกร จำนง" ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะโฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 แถลงกรณีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณายกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ในประเด็นตามรายงานของคณะกรรมการฯ 

โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณา และหากมีร่าง พ.ร.บ.ที่มีลักษณะในทำนองเดียวกันของ สส.ที่อยู่ระหว่างการบรรจุวาระการประชุม หรือได้บรรจุวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ก็ให้นำร่าง พ.ร.บ. ของ สส.ดังกล่าว มาประกอบการพิจารณาด้วย แล้วเสนอต่อ ครม.ต่อไป

ขณะนี้ สปน.ได้ดำเนินการจัดประชุมหารือกับพรรคการเมืองที่เสนอบรรจุวาระร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสภาฯ ทั้ง กกต. และสำนักงานกฤษฎีกาแล้ว เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา จากนั้นได้ทำการยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวขึ้นมา แล้วนำไปเสนอรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 3-18 พ.ค. รวมครบ 15 วันแล้ว ซึ่งประชาชนทั่วไปที่เข้ามาส่วนใหญ่เห็นด้วยและสนับสนุนการดำเนินการแก้ไข

ขณะที่ สำนักงานกฤษฎีกามีความเห็นว่า ไม่ควรกำหนดการออกเสียงประชามติ ส่วนที่เพื่อเป็นการให้คำปรึกษาแก่ ครม. แต่รัฐบาลไม่ผูกพันผลของการออกเสียงประชามติ ว่าอาจเป็นการสิ้นเปลือง ส่วนความเห็นของ กกต. ที่มีความเห็นแย้ง ในกรณีให้รวมการออกเสียงประชามติกับการเลือกตั้งอื่น และการจัดซื้อเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่มีราคาแพง แต่ในอนาคตจะต้องมีการปรับปรุงเรื่องนี้ ซึ่งก็ได้รับฟังไว้เรียบร้อยแล้ว 

จากนั้น สปน. ก็ได้ปรับปรุงร่างตามผลการรับฟังความเห็นและปรับปรุงตามความเห็นของกฤษฎีกาเสร็จเรียบร้อย พร้อมจัดเตรียมเอกสารอื่นๆ ตามกรอบ และขั้นตอนการออกกฎหมายเรียบร้อยแล้ว เช่นกัน โดย "นายภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ผู้รับผิดชอบในภารกิจนี้ ก็พร้อมนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ตามขั้นตอน เพื่อให้ทันเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ต่อไป 

นายนิกร กล่าวด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติของรัฐบาล ได้ดำเนินการตามกรอบและขั้นตอนเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว รอเสนอเข้าสู่ขบวนการพิจารณาของ ครม.สัปดาห์หน้า และเชื่อว่าจะเสนอทันเข้าร่วมในการพิจารณาของสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ 

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติของรัฐบาล มีดังนี้

  1. หากมีการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป หรือมีการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระแล้วแต่กรณี ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการออกเสียง อาจกำหนดให้วันออกเสียงเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้ง
  2. กำหนดให้การออกเสียงกระทำโดยใช้บัตรออกเสียง หรือออกเสียงทางไปรษณีย์ หรือออกเสียงโดยเครื่องลงคะแนนเสียงอิเล็กทรอนิกส์ หรือทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธีอื่น และอาจใช้วิธีลงคะแนนวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธี และใช้ในเขตออกเสียงหนึ่ง หรือหลายเขตออกเสียง
  3. กำหนดให้การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติ ในเรื่องที่จัดทำประชามติ ให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง และต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น
  4. กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเผยแพร่กระบวนการและขั้นตอนให้ผู้มีสิทธิออกเสียงได้รับอย่างทั่วถึง และจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกัน ทั้งผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ
  5. กำหนดให้การออกเสียงจะใช้เขตประเทศ เขตจังหวัด เขตอำเภอ เขตเทศบาล เขตตำบล เขตหมู่บ้าน หรือเขตอื่นเป็นเขตออกเสียงก็ได้
  6. กำหนดหน่วยออกเสียงและที่ออกเสียง หากพื้นที่ใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป หรือมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระในวันเดียวกับการออกเสียง ให้ถือว่าหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้งของการเลือกตั้งนั้น เป็นหน่วยออกเสียงและที่ออกเสียงในพื้นที่ดังกล่าว

สำหรับคำถามแรกในการทำประชามติ ที่ระบุว่า "ท่านเห็นชอบหรือไม่ ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยเว้นหมวดหนึ่ง และหมวดสอง" โดยนายนิกร กล่าวว่า คำถามดังกล่าวเป็นมติเห็นชอบไปแล้ว และเมื่อทำกฎหมายประชามติเสร็จ ก็คาดว่าจะเป็นวุฒิสภาชุดใหม่เข้ามาพิจารณา หลังจากนั้นจะมีมติ ครม. เชิญ กกต. และสำนักงบประมาณ มากำหนดวันออกเสียงประชามติ 

ส่วนข้อกังวลว่า คนอาจจะออกมาใช้สิทธิไม่ถึงครึ่งขอบผู้มีสิทธินั้น หากมีการรณรงค์ให้ดี ทั้งตนและนายภูมิธรรม ก็เชื่อว่า จะมีคนมาใช้สิทธิเกินครึ่งหนึ่ง แต่ไม่ควรระบุให้เป็นการผูกมัดในกฎหมาย เพราะจะดูเป็นการบังคับ และหากมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้ววกับการทำประชามติ อาจจะไปรณรงค์ให้คนไม่ออกมาใช้สิทธิได้ 

สำหรับข้อกังวลว่า หากมีการล็อกไม่ให้แก้ไขในหมวดหนึ่ง และหมวดสอง จะทำให้ประชาชนสับสนจะตอบอย่างไรนั้น นายนิกร ระบุว่า ถึงจุดนั้นแล้วค่อยแถลงอีกที และจากการรับฟังความเห็นประชาชนส่วนใหญ่ของนิด้าโพล ก็พบว่า เห็นด้วยที่จะให้ยกเว้นหมวดหนึ่ง และหมวดสองไว้ ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ ก็สามารถแก้ได้เช่นเดียวกัน แต่ต้องไปทำประชามติโดยเฉพาะตามมาตรา 256 ซึ่งเบื้องต้นเห็นว่าควรทำประชามติ เพื่อแก้ไขเป็นเรื่องๆ ไป

 

"ไม่ใช่ว่าทั้งชาติจะแก้ไม่ได้เลย ถ้าเขามีเหตุผลพอ ก็ทำประชามติกับประชาชนอีกครั้งเป็นการเฉพาะได้ เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติเห็นชอบ แต่ไม่ให้เอามารวมในการรื้อทำใหม่ทั้งฉบับ เดี๋ยวมีปัญหาขึ้นมาการทำประชามติอาจจะไม่ผ่าน และเกิดปัญหาขัดแย้งขึ้นมา ดังนั้น การเว้นหมวดหนึ่งและหมวดสองเอาไว้ อาจจะมีปัญหาบ้าง แต่การไม่เว้นมีปัญหามากกว่าแน่นอน" นายนิกร กล่าว

 

ขณะเดียวกัน เชื่อว่ากระบวนการแก้ไขกฎหมายนี้ จะแล้วเสร็จภายใน 45 วัน เพราะความเห็นแย้งของทุกฝ่าย ได้รับการพูดคุยและรวมหลักการกันแล้ว จึงไม่น่ามีประเด็นขัดแย้งใดๆ ในการประชุม และคาดว่าในช่วงปลายเดือน ก.ค. จะพร้อมนำเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาชุดใหม่ จะมีก็เพียงให้ กกต. ออกประกาศกฎหมายที่นำมาใช้ประกอบ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งได้มีการหารือกันแล้วและจะทำคู่ขนานกันไป