svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เทียบหมัดต่อหมัด "พิชิต" VS " 40 สว." ปมขาดคุณสมบัติศึกนี้ใครร่วง

จากกรณีที่กลุ่ม 40 สว. ได้มีการยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตรวจสอบวินิจฉัยต่อการที่ นายกฯ ได้แต่งตั้ง "พิชิต ชื่นบาน" ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

สำหรับประเด็นที่กลุ่ม 40 สว. มอง คือ การที่ "พิชิต" เคยถูกลบชื่อออกจากสารบบทนายความ น่าจะเป็นเหตุให้ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี เพราะเป็นเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องกับคดีถุงขนม 2 ล้านบาท สะท้อนความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์นั้น

ซึ่งจากการสอบถามนักกฎหมาย ที่มีความเกี่ยวข้องกับสภาทนายความ ได้ให้ข้อมูลว่า เหตุแห่งการลบชื่อพิชิต จากทะเบียนทนายความ อาจไม่สามารถนำมาอ้าง เป็นเหตุเชื่อมโยงกับคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีได้

โดยปัจจุบันพิชิต มีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะยื่นจดประกอบวิชาชีพทนายความได้ และกรรมการสภาทนายความ ก็สามารถมีมติอนุมัติให้กลับมาประกอบวิชาชีพทนายความได้แล้ว เพียงแต่ตัวพิชิต ยังไม่เคยยื่นขอจดทะเบียนทนายความใหม่เท่านั้นเอง 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าพิชิต ได้ยื่นเรื่องขอจดทะเบียนเพื่อประกอบวิชาชีพทนายความอีกครั้งหนึ่งหรือไม่ แต่สิทธิ์ในการยื่นนั้นมีแน่ และสภาทนายความก็สามารถใช้ดุลยพินิจในเรื่องนี้ได้ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบข้อกฎหมาย โดยเฉพาะประเด็นการต่อสู้ระหว่าง "พิชิต" กับ "กลุ่ม 40 สว."

โดยเมื่อมาดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 ซึ่งมีทั้งหมด 8 ข้อ 8 วงเล็บ แต่ที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับตัว "พิชิต" มีด้วยกัน 4 วงเล็บ หรือ 4 อนุมาตรา คือ 

(6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 

  • เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 10 ปี นับถึงวันเลือกตั้ัง 
  • ประเด็นนี้ "กฤษฎีกา" ตีความแล้วว่าไม่ขัด เพราะพ้นโทษมาเกิน 10 ปีแล้ว


(7) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ

  • มีข่าวว่า "กฤษฎีกา" ตีความแล้วว่าไม่ขัด เพราะโดนจำคุกตาม "คำสั่ง" ไม่ใช่ "คำพิพากษา" 


(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ 

(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง


โดยทั้ง 2 ข้อนี้ "กฤษฎีกา" ยังไม่ได้ตีความ เพราะรัฐบาลไม่ได้ถามไป

และเมื่อมาดูทางฟากฝั่ง "พิชิต" 

  1. คำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เป็นดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ต้องสั่งหยุดโดยอัตโนมัติ
  2. คุณสมบัติ "ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์" ไม่มีประเด็น เพราะคดีหลักของกรณีถุงขนม 2 ล้านบาท คือ คดีติดสินบนเจ้าพนักงาน อัยการมีความเห็นเด็ดขาด "สั่งไม่ฟ้อง" 
  3. คุณสมบัติ "มาตรฐานจริยธรรม" เริ่มนับตั้งแต่วันรับตำแหน่งทางการเมือง ส่วนนักการเมืองบางคนที่เคยโดนเพราะการกระทำในอดีต เป็นเพราะปัจจุบันยังไม่แก้ไข หรือบรรเทาความผิดนั้น
  4. คุณสมบัติข้ออื่นๆ เป็นไปตามที่ "กฤษฎีกา" ตีความ 
  5. กรณี "มาตรฐานจริยธรรม" กฎหมายกำหนดให้ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวน และยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา ไม่ใช่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง 


ขณะที่ทางฟากฝั่งกลุ่ม 40 สว. หยิบยกขึ้นมาใช้เป็นเหตุผลต่อประเด็นนี้

  1. อ้างอิงรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรค 2 ประเด็นสมาชิกภาพ หากศาลมองว่าคำร้องมีมูล "ต้องสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่"
  2. ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็นบรรทัดฐานว่า "คำสั่ง" กับ "คำพิพากษา" ให้จำคุก แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญจริงหรือ 
  3. "ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์" อ้างอิงเหตุผลของศาลในคดีละเมิดอำนาจศาล (ถุงขนม 2 ล้าน) มีบรรยายพฤติการณ์ในเรื่องนี้เอาไว้ 
  4. หลังเกิดกรณีถุุงขนม 2 ล้าน "พิชิต" เคยถูกสภาทนายความลบชื่อจากทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ ถือเป็นหลักฐานสำคัญว่าอาจขาดคุณสมบัติหรือไม่ (เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์) 
  5. รัฐธรรนมูญ มาตรา 160 ไม่มีอายุความ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องที่กลุ่ม 40 สว. ยื่นมา เข้าบรรจุสู่วาระการพิจารณาในวันที่ 23 พ.ค.นี้ จึงต้องมาลุ้นวันนั้นผลที่ออกมาจะมีบทสรุปเป็นเช่นไร