svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"แสวง" ยันสื่อรายงานเลือก สว. ได้ปกติเตือน "ก้าวหน้า-ไอลอว์" อย่าผิดกฎหมาย

"แสวง" ยืนยันสื่อทำหน้าที่ได้ตามปกติในการรายงานเลือก สว. เตือนผู้สมัครโดยเฉพาะอย่าหลงไปแนะนำตัว ขู่ "ก้าวหน้า-ไอลอว์" ขอให้ระวังตัว เหตุคำว่า "สื่อ-ผู้อื่น" คือคนเดียวกัน หากไม่สุจริต-เที่ยงธรรม ก็ต้องรับโทษ

14 พฤษภาคม 2567 "นายแสวง บุญมี" เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการปฏิบัติตัวของสื่อเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา โดยยืนยันว่า ไม่มีระเบียบไหนที่กระทบกับการทำงานของสื่อ โดยยังคงสัมภาษณ์เรื่องทั่วไปได้ แต่ตัวผู้สมัครห้ามแนะนำตัวเอง ว่าลงสมัครเบอร์นั้น เบอร์นี้ ขณะที่สื่อที่ไปลงสมัคร ก็ยังคงทำหน้าที่ได้ตามปกติ แต่ต้องไม่ไปแนะนำตัวหรือบอกคุณสมบัติของตัวเอง จึงไม่ได้ริดรอนการทำงานของสื่อแต่อย่างใด

นายแสวง กล่าวด้วยว่า ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลผู้สมัคร สว. ได้ 2 ช่องทาง ภายหลังปิดรับสมัคร กกต. จะเปิดเผยทุกรายชื่อ ทุกกลุ่ม ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ว่าใครลงสมัครอย่างไรมีประวัติและมีประสบการณ์ในการทำงานอย่างไรทาง Application Smart vote และ เว็บไซต์ของ กกต. ซึ่งหากประชาชนเห็นว่าคนไหนมีลักษณะต้องห้าม ก็สามารถ ให้ข้อมูลกับ กกต.ได้ 

ส่วนกรณีที่คณะหรือองค์กร อย่างคณะก้าวหน้าและไอลอว์สามารถแนะนำผู้สมัคร ได้เหมือนกับสื่อเลยหรือไม่นั้น นายแสวง กล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ขอให้ระวังตัวเองก็แล้วกัน เพราะคำว่าสื่อหรือผู้อื่น คือคนเดียวกัน หากรู้เห็นเป็นใจในการทำให้การเลือกไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ก็จะต้องได้รับโทษตรงนั้น

 

"ซึ่งต้องดูข้อเท็จจริงในการวินิจฉัย ถ้าผู้สมัครไมสบายใจ ต้องบอกว่าอย่ามาทำให้ตน แต่หากรับประโยชน์ตลอด ก็ต้องพิสูจน์ว่ารู้เห็นเป็นใจหรือไม่ ยืนยันการรณรงค์และเชิญชวนไม่ได้ผิดอะไร ไม่ได้บอกว่าใคร มีอาชีพอะไร ทำได้ทั้งนั้น แต่อย่าไปช่วยเหลือหรือแนะนำตัวในสิ่งที่ผิด เพราะระเบียบแนะนำตัวให้ผู้สมัครดูแลตัวเอง ก็ต้องดูว่าใครช่วยเขาได้บ้าง ดังนั้น สื่อทำหน้าที่ตามปกติ แต่ผู้สมัครก็จะต้องดูแลตัวเอง โดยทั้งหมดต้องอยู่ที่ข้อเท็จจริงจะวินิจฉัยอะไรตอนนี้ไม่ได้" นายแสวง กล่าว

ส่วนจะได้วุฒิสภาหน้าตาอย่างไรนั้น คงตอบแทนทุกคนไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนในชาติ เพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญออกแบบเอาไว้ โดย กกต.จะมีมาตรการเกี่ยวกับการเลือกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ความสุจริต เที่ยงธรรม โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา มาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญมีประสบการณ์ มีอาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม

อย่างไรก็ตาม ซึ่งหมายความว่า ไม่ได้เลือกจากคะแนนนิยม ไม่เหมือน สส. ที่เลือกจากคะแนนนิยมในการเสียง แต่เนื่องจากคนที่มีลักษณะอย่างนี้ ซึ่งอยู่ในใบแนะนำตัว โดยเลือกจากอดีต ซึ่งกกต. ทำในสิ่งที่คนอื่นคิด และทำไว้ตามรัฐธรรมนูญ และการเลือกครั้งนี้คงทำอะไรไม่ได้แล้ว  

 

"หากเห็นว่าเลือกแล้วไม่ได้ผลอย่างที่อยากจะได้ ก็ต้องแก้ไข ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจ และเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องไปพิจารณาเรื่องนี้ ว่า สว.ที่ออกแบบไว้ ต้องการคนดี คนเด่น คนดัง นั้น โดยเป้าหมายใช่ แต่วิธีการไม่ได้ ก็อาจจะต้องไปแก้วิธีการ ถ้าตั้งเป้าหมายและวิธีการไม่ได้ ก็ต้องไปแก้ไขที่รัฐธรรมนูญ" เลขาธิการ กกต. ระบุ

 

ส่วนจะมีอะไรรองรับกรณีที่ไอลอว์ ร้องศาลปกครองว่าระเบียบการเลือก สว. คลุมเครือนั้น รอดูวันที่ศาลมีคำวินิจฉัย ไม่ได้มีความเห็นในเรื่องนี้ แต่ตนได้ย้ำตั้งแต่ตอนแรกว่า ให้กลับไปดูที่กฎหมายก่อน ว่าให้ทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน เพราะกฎหมายให้ทำอะไรได้แค่นี้ กกต.ไม่ได้เป็นคนคิดกฎหมาย

ทั้งนี้ การแก้ไขระเบียบในครั้งนี้ เป็นเพราะได้รับฟังความเห็นจากประชาชน จึงมีการแก้ไขเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม ขณะเดียวกันในการเลือกทุกระดับ ประชาชนสามารถติดตามได้ โดย กกต.มีกล้องวงจรปิดถ่ายทอดบรรยากาศการเลือก และย้ำว่า กกต. ทำให้การเลือกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุจริต และเที่ยงธรรม

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าประชาชนสามารถสมัครเข้าไปเพื่อโหวตโดยไม่เลือกตนเองได้นั้น สามารถทำได้ เพราะในกฎหมายระบุไว้ว่า ผู้สมัครมี 2 คะแนน สามารถเลือกตนเองก็ได้ หรือเลือกบุคคลอื่นก็ได้ 

สำหรับการตรวจสอบหุ้นของผู้สมัคร ที่อาจทำให้การตรวจสอบคุณสมบัติล่าช้านั้น ซึ่งเรื่องการถือหุ้นไม่ได้ซับซ้อน ถ้าอยู่ในหน่วยงานที่ดูแล แต่จะช้าหากมีความซับซ้อน เช่น เป็นมรดก เป็นต้น 

 

"ไม่ได้หวังให้ใครชนะใครแพ้ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่มีความซับซ้อน จึงยังไม่ชินกับสิ่งที่เกิดขึ้น" นายแสวง กล่าว