svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สมณะโพธิรักษ์" ผู้ก่อตั้ง "สันติอโศก - พรรคพลังธรรม" มรณภาพในวัย 90 ปี

"สมณะโพธิรักษ์" ผู้ก่อตั้งสำนัก "สันติอโศก" และ "พรรคพลังธรรม" หนึ่งในแกนนำสำคัญต้านระบอบทักษิณ มรณภาพในวัย 90 ปี Nation STORY พาย้อนไปทำความรู้จักว่า "สมณะโพธิรักษ์" เป็นใคร และมีบทบาทต่อหน้าการเมืองไทย อย่างไรบ้าง

ย้อนกลับช่วงที่การเมืองของบ้านเรา ยังมีความวุ่นวายเกิดขึ้น จากการชุมนุมประท้วง โดยเฉพาะจากฝั่งของ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ช่วงปี พ.ศ. 2556 - 2557 หรือย้อนไปกว่านั้นคือ ช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ในปี พ.ศ. 2549 - 2551

สิ่งที่คนทั่วไปมักพบเห็นในกลุ่มผู้ชุมนุมคือ กลุ่มคนที่แต่งกายคล้ายสงฆ์จำนวนมาก ร่วมอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยเสมอ  

กลุ่มดังกล่าวคือ "กลุ่มสันติอโศก" เป็นขบวนการศาสนาพุทธที่ "สมณะโพธิรักษ์" ก่อตั้งขึ้น และมีบทบาทอย่างมากในการร่วมชุมุนุมดังกล่าว ในฐานะ "มวลชนหลัก" ที่ปักหลักชุมนุม ก่อนที่จะค่อย ๆ เงียบหาย ไปหลังเหตุการณ์การชุมนุมสงบลง และสถานการณ์ทางการเมืองเข้าสู่สภาวะปกติ 

ล่าสุดวันนี้ (11 เม.ย.) มีรายงานจาก เฟซบุ๊กเพจ บุญนิยมทีวี โพสต์ข้อความแจ้งข่าวระบุว่า 

"สมณะโพธิรักษ์" ที่เป็นนักบวชผู้ก่อตั้งและผู้นำทางจิตวิญญาณของสำนักสันติอโศก ได้มรณภาพอย่างสงบด้วยโรคชรา ณ เวลา 06.40.10 น. ของวันนี้ (11 เม.ย. 2567) ด้วยอายุ 90 ปี


Nation STORY จะพาไปทำความรู้จัก "สมณะโพธิรักษ์" ว่า เขาคือใคร และมีบทบาทสำคัญต่อหน้าการเมืองไทยอย่างไรบ้าง.....
"สมณะโพธิรักษ์"
 

ปูมหลังของ "สมณะโพธิรักษ์"

"สมณะโพธิรักษ์" หรือชื่อเดิม มงคล รักพงษ์ เกิดที่ จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ในวัยเด็ก บิดาของ มงคล เสียชีวิต ตั้งแต่ยังเล็ก ส่วนมารดาได้มาประกอบอาชีพที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นรกรากเดิมของบรรพบุรุษ และได้แต่งงาน อีกครั้งหนึ่ง

โดยมารดาของ มงคล ค้าขายเก่ง มีฐานะดี แต่ต่อมาถูกโกงและป่วย ทำให้ฐานะทางการเงินทรุดลง แต่ก็ได้รับ ความช่วยเหลือเลี้ยงดู จากลุง ซึ่งเป็นนายแพทย์ ส่วน มงคล นั้น เป็นผู้มีความขยัน หมั่นเพียร อดทน ช่วยมารดาค้าขาย หารายได้ตลอดมา

เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมปลายในกรุงเทพฯ มงคล ได้เข้าศึกษาต่อ ที่โรงเรียนเพาะช่าง แผนกวิจิตรศิลป์ และ ได้เปลี่ยน ชื่อเป็น "รัก รักพงษ์" หลังเรียนจบเพาะช่าง ได้เข้าทำงาน ที่ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (พ.ศ. 2501) โดยเป็นผู้จัดรายการเด็ก, รายการการศึกษา และรายการ วิชาการต่าง ๆ จนมี ชื่อเสียง รวมถึงยังเป็น ครูพิเศษ สอนศิลปะตามโรงเรียนต่าง ๆ จนมีรายได้ เดือนละ 20,000 บาท (ขณะที่ นายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้น มีเงินเดือน 12,000) 

โดย "รัก รักพงษ์" ถือเป็นผู้มีความสามารถในศิลปการประพันธ์ ทั้งเรื่องสั้น สารคดี บทกวี บทเพลง โดยเฉพาะ เพลง "ผู้แพ้" ซึ่งประพันธ์ สมัยที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนเพาะช่าง และทำงาน เป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ไปด้วย ได้รับความนิยมสูงสุด ในสมัยนั้น (พ.ศ. 2497 - พ.ศ. 2498) และทั้งยังมีเพลงที่ประกอบภาพยนต์ เรื่องโทน เช่น เพลงฟ้าต่ำแผ่นดินสูง เพลงชื่นรัก เพลงกระต่ายเพ้อ เป็นต้น
"สมณะโพธิรักษ์"

เส้นทางทางศาสนา

"รัก รักพงษ์" เริ่มมีความสนใจทางด้านศาสนา หลังเคยสนใจเรื่องไสยศาสตร์ อยู่ระยะหนึ่ง มีคนนิยมมาก จนกระทั่ง ได้หันมาศึกษา พุทธศาสนา อย่างจริงจัง จนเกิดความซาบซึ้ง จึงได้ปฏิบัติ อย่างเคร่งครัดและเข้าอุปสมบทที่ วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ ในคณะ ธรรมยุติกนิกาย เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 ได้รับฉายาว่า "พระโพธิรักขิโต" มี พระราชวรคุณ เป็นอุปัชฌาย์

เมื่อได้บวชในพุทธศาสนาแล้ว "พระโพธิรักขิโต" ก็ยังปฏิบัติ เคร่งครัด สงบสำรวม เป็นที่ศรัทธา เลื่อมใส จนมีผู้มาขอศึกษา ปฏิบัติตาม ทั้งฆราวาส และนักบวช จากคณะธรรมยุต และมหานิกาย

ต่อมาพระราชวรคุณ ซึ่งเป็นอุปัชฌาย์ ไม่ต้องการ ให้พระ ฝ่ายมหานิกาย มาศึกษาอยู่ร่วมด้วย พระโพธิรักษ์ จึงเข้ารับการสวดญัตติฯ เป็นพระของ คณะมหานิกาย อีกคณะหนึ่ง โดยมิได้สึกจาก คณะธรรมยุต ที่วัดหนองกระทุ่ม จ.นครปฐม โดยมีพระครู สถิตวุฒิคุณ เป็นอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2516 

ทำให้ พระอุปัชฌาย์ ทางฝ่ายธรรมยุต ไม่พอใจ ท่านจึงคืนใบสุทธิ ให้ฝ่ายธรรมยุตไป เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2516 คงถือแต่ใบสุทธิ ฝ่ายมหานิกาย เพียงอย่างเดียว แต่ก็มีพระ จากทั้ง 2 นิกาย อยู่ร่วมศึกษา ปฏิบัติด้วย 

การปฏิบัติที่เคร่งครัดของ "พระโพธิรักขิโต" และคณะ เช่น การฉันอาหาร มังสวิรัติ วันละ 1 มื้อ, ไม่ใช้เงินทอง, นุ่งห่มผ้าย้อมสีกรัก, มีชีวิตอย่างเรียบง่าย, ไม่มีการเรี่ยไร, ไม่รดน้ำมนต์-พรมน้ำมนต์, ไม่ใช้การบูชา ด้วยธูปเทียน, ไม่มีไสยศาสตร์ฯ เหล่านี้ ซึ่งแตกต่าง จากพระสงฆ์ ในมหาเถรสมาคม ที่มีความเป็นอยู่ อย่างสุขสบาย ทำให้บางครั้ง ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า "นอกรีต"
\"สมณะโพธิรักษ์\" ผู้ก่อตั้ง \"สันติอโศก - พรรคพลังธรรม\" มรณภาพในวัย 90 ปี

กระทั่งวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2518 พระโพธิรักษ์และคณะ ได้ประกาศ นานาสังวาส กับมหาเถรสมาคม (ประกาศลาออกจากมหาเถรสมาคม) และได้รับความคุ้มครอง ตามมาตรา 15 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย 

ที่มาของการแต่งกายคล้ายสงฆ์ 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทางมหาเถรสมาคมเห็นว่า พระโพธิรัก ประพฤติผิดพระธรรมวินัยหลายประการ  คณะสงฆ์จึงเสนอเรื่องต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 มหาเถรสมาคมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นสามคณะ คือ คณะทำงานด้านธรรมวินัย คณะทำงานด้านกฎหมาย คณะทำงานด้านมวลชน เพื่อสืบหาข้อเท็จจริง

คณะทำงานด้านพระธรรมวินัยมีความเห็นว่า พระโพธิรักล่วงละเมิดพระธรรมวินัย ส่วนคณะทำงานด้านกฎหมายมีความเห็นว่า "พระโพธิรัก" ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 

ต่อมา ที่ประชุมมหาเถรสมาคมได้ตั้งคณะการกสงฆ์ เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอต่อมหาเถรสมาคม คณะการกสงฆ์ได้ประชุมกันโดยมีสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร เป็นประธาน คณะการกสงฆ์ได้มีมติสี่ประการ คือ 

(1) ให้มหาเถรสมาคมใช้อำนาจตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 โดยสั่งให้พระโพธิรักสละสมณเพศ 

(2) บริวารของพระโพธิรักซึ่งเข้าบวชโดยไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ถ้าต้องการจะบวชให้ถูกต้อง ก็ให้มารายงานตัวต่อสังฆาธิการระดับเจ้าคณะจังหวัดผู้เป็นการกสงฆ์ขึ้นไป 

(3) ให้ประกาศนียกรรมแก่พุทธบริษัทให้ทราบข้อเท็จจริงโดยทั่วกัน และ 

(4) ให้กรมการศาสนาแจ้งแก่ภิกษุสามเณรทั่วราชอาณาจักรให้ทราบข้อเท็จจริงและมิให้คบหาสมาคมรักษ์และบริวาร

มติของการกสงฆ์ดังกล่าว มหาเถรสมาคมพิจารณาแล้วเห็นชอบ แต่สำหรับมติประการแรกได้หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบกลับมาว่า มหาเถรสมาคมใช้อำนาจตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ได้

ต่อมาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) ในฐานะประธานมหาเถรสมาคม ได้มีคำสั่งให้รักษ์สละสมณเพศภายในเจ็ดวัน

ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2532 นายเสนาะ พ่วงภิญโญ รองอธิบดีกรมการศาสนาได้นำคำสั่งไปให้พระโพธิรักทราบ ที่ชุมชนสันติอโศก พระโพธิรัก ไม่ยอมลงชื่อรับทราบคำสั่ง รองอธิบดีกรมการศาสนาจึงร้องทุกข์ไว้ที่ สน.ลาดพร้าว กรมตำรวจแต่งตั้ง พล.ต.ต.วิโรจน์ เปาอินทร์ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน และนายพิศาล มูลศาสตร์สาทร ปลัดกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น ได้สั่งให้จับกุมพระโพธิรักและพวกทั้งหมด รวม 105 คน ในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2532

โดยพนักงานสอบสวนจับกุม แจ้งข้อหา และสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการได้ฟ้องเป็นจำเลยจำนวน 80 คดี ศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาว่า จำเลยที่ 1-79 มีความผิดเกี่ยวกับศาสนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 (ไม่ใช่ภิกษุสงฆ์ บังอาจแต่งกายอย่างภิกษุสงฆ์ เพื่อล่อลวงให้คนอื่นเชื่อว่า เป็นภิกษุสงฆ์) และให้จำคุกคนละ 3 เดือน ส่วนจำเลยที่ 80 คือ "พระโพธิรักขิโต" สนับสนุนให้จำเลยที่คนอื่น ๆ กระทำผิดดังกล่าวจำนวน 33 กระทง พิพากษาลงโทษจำคุกเรียงกระทง กระทงละ 2 เดือน รวมเป็นจำคุก 66 เดือน

ต่อมาศาลอุทธรณ์ยกฟ้องจำเลยบางคน โทษจำเลยที่ 80 จึงลดลงเป็นจำคุก 54 เดือน และศาลฎีกาพิพากษายืน ทำให้ในภายหลัง พระโพธิรักษ์ และคณะ ได้รับการพิพากษาว่าเป็น ผู้แพ้ ไม่สามารถ เรียกขานตนเองว่า "พระ" ได้ จึงเรียกตนเองว่า "สมณะ" แทน และยังคงปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเหมือนเดิม
\"สมณะโพธิรักษ์\" ผู้ก่อตั้ง \"สันติอโศก - พรรคพลังธรรม\" มรณภาพในวัย 90 ปี

ส่วนเส้นทางสายการเมือง "สมณะโพธิรักษ์" เป็นผู้ก่อตั้ง "พรรคพลังธรรม" ที่มี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหน้าพรรค ทั้งยังได้มีบทบาททางการเมือง โดยนำพาผู้ปฏิบัติธรรม สันติอโศก เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535

รวมถึงการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ต่อต้านรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลนายสมัคร ในปี พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2551 รวมถึงการชุมนุมของ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ในปี พ.ศ. 2556 และ พ.ศ. 2557 ช่วงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์อีกด้วย
สมณะโพธิรักษ์บนเวทีกลุ่มพันธมิตรฯ

โดยในการชุมนุมของ กปปส.นั้น สมณะโพธิรักษ์และผู้ปฏิบัติธรรมสันติอโศก ได้ปักหลักชุมนุมที่สวนลุมพินี ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ร่วมกับกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) โดยก่อนหน้านั้น ในปี พ.ศ.2555 ก็ได้เคยเข้าร่วมการชุมนุมกับองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.)
สมณะโพธิรักษ์ เดินทางมาศาลพร้อมแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ